บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

แดนกับด้วง



รุ่งทิพย์ สุขกำเนิด
          การทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราเข้าถึงธรรมชาตินี่เป็นเรื่องยากจริงๆ หากไม่ได้รับการฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก  มีน้องที่ทำงานคนหนึ่งกว่าจะเห็นว่าที่ออฟฟิตปลูกต้นมะละกอก็ผ่านไปเกือบ 2 เดือนแล้ว  ทั้งๆที่ลงมานั่งทานข้าวริมสวนกันเกือบทุกเที่ยง
          อันที่จริงวัยเด็กเป็นวัยที่รักการเรียนรู้มาก โดยเฉพาะการเรียนรู้ธรรมชาติ จำได้ว่าตอนที่ครอบครัวเราอยู่ที่เดนมาร์ก ตอนนั้นลูกชายคนเล็กอายุเพียงขวบครึ่ง แม้เขาจะยังพูดได้ไม่กี่คำ  แต่ถ้าบอกว่าทานนมเสร็จแล้วให้ไปหยิบเสื้อผ้าและรองเท้าเพื่อแต่งตัวไปดูเป็ด เท่านั้นแหละค่ะ ทุกอย่างจะเสร็จอย่างรวดเร็วโดยคุณแม่ไม่ต้องออกแรงเพราะเจ้าตัวเล็กจะให้ความร่วมมืออย่างดีเยี่ยม
          เช่นเดียวกับตอนที่ลูกสาวคนโตอายุ 3 ขวบ (ช่วงนั้นยังไม่มีเจ้าตัวเล็ก) เขาจะชอบเก็บธรรมชาติมาก  ทั้งดอกไม้ ใบไม้ แมลง ก้อนหิน ฯลฯ ลองนึกภาพตามดูนะคะ เด็กน้อยวัย 3 ขวบเดินแบกไม้สวิงจับแมลงไปช้อนก้อนหินในสระน้ำหน้าธนาคาร ว่าจะน่ารักขนาดไหน
          ความสนใจของเด็กๆ มักจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อาจจะตามกระแสของเพื่อน  ความสนใจ และการรับรู้ในเรื่องที่โดนใจ และบางเรื่องก็อาจเป็นเรื่องที่ถึงวัยค่ะ
          ตอน 2 ขวบกว่าเราไปงานแต่งงานที่โรงแรมแห่งหนึ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา โรงแรมก็หรู วิวก็สวย เจ้าบ่าวเจ้าสาวและญาติๆเยอะแยะทักทายหยอกล้อ แต่น้องแดนไม่สนใจว่าใครจะทำอะไร เอาแต่เก็บก้อนหินที่เขาประดับสวน ตรงโน้นตรงนี้ สนุกอยู่คนเดียวเลยค่ะ
ตอนอยู่ชั้น อ.3 ก็สนใจเบนเทนมาก ขนาดน้องแดนไม่เคยดูการ์ตูนเรื่องนี้มาก่อน แต่น้องแดนกลับรู้จักชื่อตัวเอกเรื่องนี้ทุกตัว ไม่ว่าจะแปลงร่างเป็นตัวอะไร ปล่อยอาวุธอะไรได้ รู้หมด  ตอนนี้พอใครถามถึงเบนเทน น้องแดนจะบอกว่า “ไม่ชอบแล้ว  น่าเบื่อมาก”  
พอขึ้น ป.1 คราวนี้หันมาสนใจการเลี้ยง “ด้วง” ค่ะ  เรื่องของเรื่องก็เริ่มจากปีนี้มีวิชาที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง”วันเวลาที่เปลี่ยนแปลง” เด็กๆจึงได้รับคำสั่งให้เลี้ยงอะไรก็ได้ที่สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงในเวลา 3 สัปดาห์  สองคนแม่ลูกก็ช่วยกันคิดใหญ่เลยค่ะ มองไปรอบๆบ้าน อะไรดีๆ จิ้งจก (หาไข่ไม่เจอ)  หอยทาก(ถูกน้ำท่วม จนน่าจะสูญพันธุ์ไปจากบ้านนี้แล้ว)  ผีเสื้อ (บอบบาง)  แมงมุม (กึ๋ย)  ไส้เดือน (ยังไม่กลับมาจากการหนีน้ำท่วม)  หนอน (น่าสนใจ แต่เพื่อนๆคงเลี้ยงกันเยอะ)  ลูกนก(อย่าจับมันเลยลูก สงสารมัน) ปลา(ที่บ้านมีแต่ปลาทับทิมนะ เลี้ยงได้อ๊ะเปล่า?)  ลูกไก่ (ต้องไปหาซื้อนะลูก ไม่รู้ไม่ซื้อที่ไหนด้วย) โอ๊ย...เอาตัวอะไรดี  ต้องส่งชื่อพรุ่งนี้แล้ว
และแล้วเสียงสวรรค์ก็ดังขึ้นจากพี่หน่อยที่กำลังขุดดินปลูกต้นไม้  “เลี้ยงเจ้าหนอนในดินนี่ก็แล้วกัน แปลกดี”  น้องแดนรีบไปรับทันที  จากนั้นกระบวนการเรียนรู้ก็เริ่มขึ้น จากการสังเกตและช่วยกันจินตนาการ เช่นว่า เราต้องเลี้ยงในกล่องใสจะได้เห็นตัวมันได้บ้าง   ต้องเอาดินแถวนี้ใส่ไปด้วยมันจะได้มีอาหารกิน   เจาะรูให้ที่ฝากล่องด้วยไม่งั้นมันจะหายใจไม่ออก   น่าจะต้องพรมน้ำให้มันด้วยไม่งั้นผิวมันจะแห้ง ฯลฯ
จากนั้นน้องแดนก็ขอให้แม่ช่วยเปิดกูเกิลดู  ให้ลองคีย์คำต่างๆ ในที่สุด เราพบว่าเจ้าหนอนที่ได้คือ “ด้วง” อะไรสักอย่างหนึ่ง  ไม่รอช้า วันถัดมา น้องแดนก็ชวนแม่ไปหาหนังสือเล่มเก่าๆที่มี  เพราะเขาจำได้ว่าที่บ้านเรามีเรื่องด้วงอยู่หลายเล่ม ก็เลยได้เวลาฝึกอ่าน และช่วยกันอ่าน สนุกสนานกันใหญ่ ได้ความรู้เยอะเลยค่ะ จากแต่ก่อนที่อ่านแบบไม่มีจุดหมาย  พวกเราช่วยกันทำการบ้านสรุปความรู้เรื่อง “ด้วง” ส่งคุณครู  โดยค้นจากหนังสือตั้ง 8 เล่มที่มีอยู่โดยน้องแดนไม่บ่นสักคำ แถมยังเขียนและวาดรูปเองถึง  2 ชั่วโมงติดกัน
แต่ก็มาถึงเงื่อนไขสำคัญที่ว่า “ต้องสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงในเวลา 3 สัปดาห์ “ แต่จากการค้นข้อมูลพบว่า ด้วงส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพวกตัวใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงแต่ละช่วงนานหลายเดือน บางทีเป็นปีทีเดียว  ดังนั้น เราก็ต้องหาวิธีที่จะพิสูจน์ว่า ด้วงของเราต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
คิดไปคิดมา ก็ได้ไอเดียว่าควรต้องจับด้วงมาวางบนไม้บรรทัดเพื่อวัดความยาวตั้งแต่ตอนเริ่มเลี้ยง และวัดอีกทีตอนก่อนส่งงาน และที่สำคัญควรถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐานด้วย แม่จึงได้โอกาสสอนเรื่อง “การวัด” และ “หน่วยการวัด” ไปในตัว

เห็นน้องแดนสนใจเลี้ยงด้วงมาตั้งสามเดือนแล้ว และยังมีทีท่าว่าจะเลี้ยงต่อไปอีก แม่ผู้ใจดีเลยกัดฟันซื้อหนังสือ “การเลี้ยงด้วง” เล่มใหญ่ให้เลยค่ะ  และซื้อเรื่อง “แมลงศัตรูพืช” เป็นของขวัญให้ตัวเอง  น้องแดนดีใจมากเลยค่ะ ปัจจุบันยึดทั้งสองเล่มไปครอง เปิดแล้วเปิดอีก เกือบทุกวัน (จุ๊ๆๆๆ แม่ยังไม่มีโอกาสได้เปิดเลยค่ะ) พอเห็นแมลงในสวน เขาก็จะบอกชื่อแมลงออกมาเสมอ หรือไม่ก็ชวนกันไปเปิดหนังสือเพื่อดูชื่อแมลง ไม่ใช่มีแต่น้องแดนเท่านั้นนะคะที่สนใจเรื่องด้วง  เพื่อนๆอีกหลายคนก็สนใจไม่แพ้กัน เมื่อคนที่สนใจมาเจอกัน ความรู้ก็ได้ถูกแลกเปลี่ยน สังเกตได้จากความรู้ที่เพิ่มขึ้น เช่น น้องแดนสามารถบอกเพศของหนอนและตัวด้วงได้  บอกได้ว่าเป็นหนอนระยะที่เท่าไร  บอกได้ว่าหนอนตัวนี้เป็นหนอนของด้วงอะไร หนอนด้วงบางชนิดกัดมดขาดสองท่อน(น้องแดนค้นพบโดยบังเอิญระหว่างนำหนอนด้วงมาเล่นด้วยตอนเย็นๆ  เพื่อนๆบอกว่าด้วงของน้องแดน “เทพมาก”  ขอให้ช่วยหามาฝากด้วย)  เป็นต้น  ความรู้เรื่องด้วงของน้องแดนนี่เทพจริงๆค่ะ ไม่น่าเชื่อว่า เด็ก ป.1 จะรู้มากมายขนาดนี้ในเวลาไม่นาน จะเป็นความรู้ที่ถูกต้องหรือเปล่า แม่ไม่สนใจค่ะ  แค่เขาได้ฝึกฝนนิสัยรักการอ่านและได้เรียนรู้มากขึ้นด้วยตัวเขาเอง ก็น่าปลื้มใจมากแล้ว จริงไหมคะ
สัปดาห์ก่อน มีมดมาขึ้นกล่องด้วงซึ่งน่าจะเป็นเพราะหนอนด้วงในกล่องนั้นตายซะแล้ว  พอน้องแดนเห็นก็จัดการปีนตู้เพื่อไปหาถ้วยพลาสติกเล็กๆมาทำเครื่องป้องกันมดที่ขาโต๊ะ  พอหันมาอีกทีน้องแดนเทแป้งซะเกือบหมดกระป๋อง ที่แท้ก็เลียนแบบวิธีป้องกันมดจากแม่นี่เอง เฮ้ย แม่แอบปาดเหงื่อเล็กน้อย แต่คราวหน้าใช้น้อยๆก็เอาอยู่นะลูก
ตอนนี้ แม้จะได้ส่งการบ้านไปแล้ว แต่น้องแดนยังคงเลี้ยงด้วงต่อไป และยังพลอยทำให้ปู่ย่ามีกิจกรรมยามว่างคือคอยหาหนอนและตัวด้วงมาให้หลานเลี้ยง  เพราะน้องแดนจะขอร้องกึ่งชักชวนให้ปู่ย่าช่วยไปขุดหาด้วงตามดินตามต้นไม้มาให้ 
การเลี้ยงด้วงของน้องแดนยังไม่จบแค่นี้นะคะ  ตอนนี้มีจินตนาการใหม่อะไรซ่อนอยู่ในหัวน้อยๆของเขา ซึ่งแม่ก็ยังไม่อาจทราบได้  แต่ที่เห็นจะเป็นการ “ถอดประกอบชิ้นส่วนตัวด้วง”  ซึ่งเป็นของเล่นเก่าเมื่อสองสามปีก่อนนี้ ที่น้องแดนไม่สามารถประกอบได้เอง ซึ่งแม่ก็ลืมไปแล้ว ตอนนี้มันถูกค้นขึ้นเล่นอีกครั้ง อย่างคล่องแคล่ว  และเจ้าตัวด้วงนี้จะถูกวางไว้ที่โต๊ะเลี้ยงหนอนด้วงเสมอ  อาจจะเป็นกลยุทธ์ให้หนอนด้วงไม่เหงา เพราะคิดว่ามันมีแม่ด้วงอยู่ใกล้ๆ ก็เป็นได้ ใครจะรู้
เห็นไม๊คะ แค่กิจกรรมโดนๆ  “เลี้ยงด้วง” ก็ช่วยให้เด็กมีความสนุก ได้แสดงความอ่อนโยน  ฝึกความช่างสังเกต  ฝึกการค้นคว้าหาข้อมูล ฝึกกล้ามเนื้อมือที่ประสานกับสายตา  เรียนรู้การขอร้อง การให้ และปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน กับญาติผู้ใหญ่ และอื่นๆอีกมาก  สรุปว่ากิจกรรมนี้สนุกได้ก็เพราะตรงกับความสนใจ  มีเพื่อน  และถึงวัย  และหากจะให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เราพ่อแม่ทั้งหลายก็อย่าลืมสนับสนุนความรู้เพิ่มเติมให้ด้วยนะคะ  วันเวลาไม่เคยคอยใคร หากสนับสนุนช้าไปอาจไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ลงทุน  สำหรับงานนี้เราลงทุนแค่ค่าหนังสือและเวลา แต่ได้มาเกินคุ้ม ไม่ลองไม่รู้นะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น