บทความที่ได้รับความนิยม

วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555

ปฏิบัติการเปลี่ยนขยะเป็นอาหาร


                                                                                                                           รุ่งทิพย์  สุขกำเนิด
ทุกครั้งที่ไปเที่ยวต่างจังหวัด ฉันมักจะแวะซื้อของพื้นเมืองเสมอโดยเฉพาะอาหาร และครั้งนี้ก็ไม่พลาด ฉันกลับจาก จ.เลย พร้อมกล้วยและมะละกอสุกที่ขนซื้อมาในราคาแสนถูกจากคุณยายคุณย่าที่มานั่งขายแทนการอยู่ว่างๆ และแข่งกันลดแลกแจกแถมหลังจากเล็งแล้วว่า ฉันมีทีท่าจะเหมาไปแจกมากกว่าซื้อไปกินเอง
พอถึงบ้าน ผลไม้กองโตก็เริ่มสุกงอม ครั้นจะแจกก็เกรงจะได้รับคำนินทามากกว่าการชื่นชม แมลงหวี่ฝูงใหญ่โบกมือทักทายพร้อมส่งยิ้มให้กันเป็นเต็มไปหมด ทำไงดีหล่ะทีนี้ ???
คิดไปคิดมา ปฏิบัติการเปลี่ยนขยะเป็นอาหารจึงเกิดขึ้น เริ่มจากคว้ามีดมาสับๆแล้วก็สับผลไม้ที่เหลือเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นก็ลงทุนซื้อน้ำตาลมา 3 กก.ใส่น้ำแล้วกวนๆให้น้ำตาลละลาย แล้วก็เทรวมกันในกระป๋อง  พร้อมกับเลือกจุลินทรีย์แห้งหรือ พด. ซึ่งขอจากเกษตรตำบลหรือพัฒนาที่ดินก็ได้  1  ซอง โดยเลือกชนิดที่ดูแล้วว่ามันน่าจะชอบกินของที่เรามี ฉีกซองละลายน้ำตามข้อแนะนำ เทลงกระป๋องเดียวกัน จากนั้นกวนให้เข้ากัน ปิดฝาทิ้งไว้ในร่ม พร้อมกับภาวนาในใจว่า ขอให้สำเร็จทีเถอะ
4-5 วันต่อมาฉันลองเปิดกระป๋องดู กลิ่นที่ลอยออกมาไม่ใช่กลิ่นบูดเน่า แต่เป็นกลิ่นเปรี้ยวๆปนกลิ่นหอมของผลไม้ที่ใช้  ลงมือกวนของในกระป๋องเพื่อพลิกด้านล่างขึ้นมาอีกที เวลาผ่านไปจนการหมักได้ที่  จึงกรองเอาน้ำหมักซึ่งมีสีส้มอ่อนคล้ายน้ำพันช์ใส่ขวดเรียงไว้
ขั้นต่อไปเป็นการพิสูจน์ความสำเร็จ ลืมบอกไปว่า พื้นที่ทดสอบ เป็นพื้นที่ถมใหม่ความสูงเกือบ 2 เมตร ลักษณะดิน เหนียวหนึบมากเมื่อฝนตก และแตกเป็นร่องลึกตอนดินแห้งลองนึกภาพตามนะคะ ขนาดไม้ใหญ่ที่เหลืออยู่ยังทยอยตายไปเกือบสิบต้น  แต่เพราะต้องการรักษาต้นไม้เล็กที่เพิ่งจะลงมือปลูกได้ไม่นาน ฉันจึงลองเอาน้ำหมักมือใหม่ไปใส่ต้นไม้ตามคำแนะนำสัปดาห์ละครั้ง โดยผสมน้ำให้เจือจางก่อน พร้อมๆกับยอมลงทุนเพิ่มดินคุณภาพดีให้กับต้นไม้นิดนึง และหาใบหญ้ามาคลุมโคนต้นเพื่อลดการคายน้ำของดิน
ผ่านไป 2 สัปดาห์ เห็นผลทันตา เหล่าต้นไม้ที่อยู่ในสภาพแคระแกรน เริ่มผลิตใบ หลังจากนั้นไม่นาน หลายต้นเริ่มออกดอก  และติดผลชุดแรก มีทั้งมะม่วง มะนาว ส้ม และมะเฟือง เหลือเชื่อจริงๆ !!!
แม้ผลชุดแรกจะร่วงเกือบหมด เพราะต้นไม้ส่วนใหญ่ยังเล็กอยู่ แต่ความมั่นอกมั่นใจมีขึ้นเป็นกอง การทำน้ำหมักชุดที่สอง สามจึงเริ่มขึ้น คราวนี้ลองใส่เศษอาหารในครัว เศษผักผลไม้ ก้างปลา ได้ผลไม่ต่างกันค่ะ หากหากากน้ำตาลได้จะยิ่งประหยัด หรือจะใช้น้ำผึ้งแทนน้ำตาลก็ได้ไม่ว่ากัน
ฉันลองค้นข้อมูลจากแหล่งต่างๆพบว่า น้ำหมักชีวภาพนั้นมีสารอาหารเพียบ อีกทั้งมีหลายสูตร และไม่เพียงแต่จะนำมาเป็นปุ๋ยน้ำได้เท่านั้น ยังสามารถนำมาเป็นน้ำยาซักผ้า สารไล่แมลง ฮอร์โมนพืช และน้ำยาล้างห้องน้ำ แต่ทั้งนี้การทำน้ำหมักเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษเหล่านี้จะต้องเลือกวัตถุดิบตามสูตรที่ได้มีการทดสอบมาแล้ว ทำเสร็จใส่ขวดสวยๆจะทำให้ดูน่าใช้  อยากให้ลองเอาทำใช้ดู ประหยัดดีนะคะ แถมยังช่วยลดขยะอีกด้วย





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น