บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ออกกำลังกายแบบใด ลดไขมันได้และสร้างมันสมองเพิ่ม



รุ่งทิพย์  สุขกำเนิด

เคยไหมที่ทำอะไรก็เพื่อคนอื่น  ตั้งใจเรียนก็เพื่อแม่  ขยันทำงานก็เพื่อลูก  แต่งตัวสวยก็เพื่อให้คนอื่นมอง  แล้วเคยทำอะไรเพื่อตัวเองกันบ้างไหม  วันนี้ เราขอเชิญชวนคุณมา “ทำอะไรเพื่อตัวเอง” ดูกันบ้าง  เจ้า ”อะไร”  ที่ว่าเนี่ย จะทำให้คุณเองเป็นคนที่ สวย ฉลาด แข็งแรง คล่องแคล่ว และพร้อมจะทำอะไรๆ เพื่อคนอื่นได้อีกนานเลย

            เจ้าอะไรที่ว่าก็คือ “การออกกำลังกาย” นั่นเอง  ไม่ยากใช่เปล่า  แต่รู้ไหมเรามักได้ยินคำพูดนี้เสมอ “ไม่ค่อยมีเวลา , เหนื่อย , ไว้ก่อน , ทำงานหนักได้เหงื่ออยู่แล้ว.....ฯลฯ”  ซึ่งผลการสำรวจของอัตราการออกกำลังกายของคนไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2550 (ตารางที่ 1)  ก็สอดคล้องกับพฤติกรรมของน้องๆที่ออฟฟิตซึ่งส่วนใหญ่ สังกัดช่วงวัยรุ่นตอนปลาย เข้าวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ก็เห็นคว้าน้ำเหลวกันหลายรอบเลยค่ะ สังเกตได้จากอุปกรณ์กีฬาที่ซื้อๆกันมา ไม่ว่าจะเป็นไม้แบต รองเท้าวิ่ง ชุดว่ายน้ำ  ฮูลาฮุก ฯลฯ เฮ้ย ถ้าขืนยังเป็นอย่างนี้ต่อไป มีหวังได้ใช้เงินเก็บเพื่อรักษาตนเองแน่นอน

ผลสำรวจอัตราการออกกำลังกายของประชากรอายุ 11 ปีขึ้นไป ใน 2550 
โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ [1]

อายุ (ปี)
ร้อยละของประชากร
11-14
73
15-24
45
25-59
20
60 ปีขึ้นไป
28


            ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขพยายามเชิญชวนให้คนรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย แทนการซ่อมสุขภาพเมื่อเจ็บป่วย เพื่อลดรายจ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศ  เช่นเดียวกับที่ สสส. โหมโฆษณาให้คนออกกำลังกายกันมากขึ้นภายใต้สโลแกน  “แค่ขยับ เท่ากับออกกำลังกาย”  แต่หลายคนก็ตั้งคำถามว่า “แค่ขยับจริงหรือ ?
อันที่จริง เขาต้องการสื่อว่า การเคลื่อนไหวออกแรงแม้เพียงเล็กน้อย ก็มีประโยชน์แล้ว แต่ยิ่งออกกำลังกายมากจะยิ่งเกิดประโยชน์มากขึ้น  โดยการเคลื่อนไหวที่ดีควรต้องเกิดจากการทำงานของร่ายกายโดยใช้กล้ามเนื้อโครงสร้าง และทำให้มีการใช้พลังงานของร่ายกายมากกว่าขณะพัก  ดังนั้น การเคลื่อนไหวในอิริยาบทไหนๆก็ถือว่าเป็นการออกกำลังกายแบบหนึ่ง เช่นเดียวกับการออกกำลังเคลื่อนไหวร่างกายที่มีการวางแผนหรือมีแบบแผนของกิจกรรมที่กระทำซ้ำๆหรือสม่ำเสมอ  (เช่น วิ่ง) ดังนั้น ไม่ว่าจะเดินขึ้นบันได ล้างรถ กวาดสนาม ล้วนได้ออกกำลังกายทั้งสิ้น [2]

กระติ๊บกับงานศิลปะบนสนามและออกกำลังกายไปพร้อมกัน

            แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์การกีฬาแล้ว การออกกำลังกายที่ดีจะต้องทำให้เกิดทั้งสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพ และสมรรถภาพทางกายเพื่อทักษะ [3]

สมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพ คือ ความสามารถของร่ายกายในการที่จะทำให้บุคคลมีสุขภาพดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากการออกกำลังกาย ประกอบไปด้วย ความอดทนของระบบไหลเวียนเลือดและระบบหายใจ  ความแข็งแรงและอดทนของกล้ามเนื้อ  ความอ่อนตัว  และส่วนประกอบของร่างกาย

สมรรถภาพทางกายเพื่อทักษะ หมายถึง ความสามารถของร่างกายที่ช่วยให้บุคคลสามารถประกอบกิจกรรมทางกายได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเล่นกีฬา มีองค์ประกอบ 6 ด้าน คือ ความคล่องแคล่วว่องไว  ความสมดุล  การประสานสัมพันธ์  การทรงตัว  พลังกล้ามเนื้อ  และปฏิกิริยาตอบสนอง

ความอดทนของระบบไหลเวียนเลือดและระบบหายใจคือทำกิจกรรมได้ต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยปราศจากความเหน็ดเหนื่อย  สามารถทดสอบความอดทนโดย การวิ่งระยะทาง 1 กม.

ความแข็งแรงและอดทนของกล้ามเนื้อ จะช่วยทำให้สามารถประกอบกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น สามารถทดสอบได้โดย ใช้วิธีลุกนั่ง  (Sit-up) เพื่อทดสอบความอดทนของกล้ามเนื้อท้อง

ความอ่อนตัว คือการที่กล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆภายในร่างกายที่เคลื่อนไหวยืดเหยียดและโค้งงอได้มากที่สุด โดยไม่เกิดอาการเจ็บปวด การทดสอบสามารถทำได้โดย การนั่งงอไปข้างหน้า

การวัดส่วนประกอบของร่างกาย เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักกับส่วนสูง แล้วนำไปเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน หรือที่เรียกว่าการทดสอบค่าดัชนีมวลกาย (BMI :Body mass index)

ดังนั้น การออกกำลังกายที่ถูกวิธีและถูกขั้นตอนจะช่วยทำให้สมรรถภาพทางกายดีขึ้น  หรือที่เรียกว่า “FITT”  เกิดขึ้น  ไม่ใช่ฟิตแบบใส่เสื้อผ้าตัวเล็กๆนะคะ แต่หมายความว่าต้องเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสม  ซึ่งคำว่า FITT ก็ย่อมากจาก Frequency Intensity Time และ Type ซึ่งหมายถึงการออกกำลังกายที่ดีจะต้องมีความถี่พอสมควร มีความหนักหน่วงเพียงพอ  มีระยะเวลาพอเหมาะ ขึ้นกับประเภทของกีฬานั้นด้วย

Frequency
ความถี่หรือความบ่อยของการออกกำลังกาย ควรทำอย่างน้อย 3-5 ครั้ง/สัปดาห์
Intensity
ความหนักในการออกกำลังกาย ขึ้นกับอายุและเป้าหมายในการออกกำลังกาย โดยคิดเป็นสัดส่วนของอัตราการของหัวใจสูงสุด
-อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด = 220-อายุ (ปี) = จำนวนครั้ง/นาที (100%)
-ออกกำลังกายช่วงการเผาผลาญไขมัน  ความเหนื่อยที่ 55-60 % ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด
-ช่วงเพิ่มสมรรถภาพหัวใจ ความเหนื่อยต่ำสุดและสูงสุดอยู่ที่ 65-85 % ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด
Time
ระยะเวลาในการออกกำลังกาย จะต้องมีเวลาที่เพียงพอจึงจะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งระยะเวลาของการออกกำลังกายขึ้นกับรูปแบบของการออกกำลังกาย โดยทั่วไประยะเวลาที่สามารถพัฒนาระบบไหลเวียนเลือดและระบบหายใจอยู่ที่ประมาณ 10 นาทีขึ้นไป
Type
ชนิดหรือประเภทของกิจกรรมที่เลือกในการออกกำลังกาย เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ

            คงไม่ต้องมาถกเถียงกันให้ปวดหัวใจ เพราะไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายแบบไหนล้วนได้ประโยชน์ทั้งสิ้น  อย่างไรก็ดี งานวิจัยจากสวีเดนซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอิลินอยส์ และมหาวิทยาลัยจอร์เจียสหรัฐอเมริการะบุว่า  การออกกำลังกายมีผลทำให้สมองเจริญเติบโต  โดยในขณะที่ออกกำลังกายสมองจะหลั่งสารบางอย่างออกมา ส่งผลให้เซลล์ประสาทแข็งแรงกว่าเดิม  และสมองทำงานดีขึ้น  ซึ่งส่งผลต่อการมีสมาธิและผลการเรียนของเด็กๆ  รวมถึงไอคิว แต่ทั้งนี้ การออกกำลังกายที่ทำให้ชีพจรเต้นแรงจะให้ประสิทธิผลมากกว่าการออกแรง (เช่น วิ่ง ดีกว่ายกน้ำหนัก)[4]

            นอกจากนี้ การออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วประมาณ ร้อยละ 60-75 ของอัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจในผู้สูงอายุ จะทำให้ยีนในเซลประสาทมีการทำงานและหลั่งสาร BDNF (brain derived neurotrophic factor) ซึ่งมีส่วนทำให้สมองส่วนฮิปโปแคมปัสใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ความจำดีขึ้น  และการออกกำลังกายเป็นประจำยังช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันคราบพลัก(ชิ้นส่วนโปรตีนที่เกาะตัวกันเป็นกลุ่มๆ)ที่จะมาก่อตัวบนเซลประสาทซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์อีกด้วย

           อย่างไรก็ดี แพทย์จากมลรัฐวิสคอนซินสหรัฐอเมริการะบุว่า หลังอายุ 30 ปีไปแล้วคนเราจะมีพลังลดลงร้อยละ 1 หรือเมื่ออายุ 60 ปี พลังของเราจะลดลงร้อยละ  30 ของขณะที่อายุ 30 ปี ดังนั้นหากยิ่งขาดการเคลื่อนไหวในวัยหนุ่มสาวจะยิ่งทำให้พลังช่วงบั้นปลายมีสะสมน้อยลง แต่สำหรับผู้ที่เลยวัย 30 ไปแล้วก็อย่าเพิ่งท้อใจ เพราะไม่มีอะไรที่สายเกินไปสำหรับคนที่ตั้งใจเปลี่ยนแปลง

           มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงเห็นความสำคัญของ “การทำอะไรเพื่อตัวเอง” ด้วยการ “ออกกำลังกาย” ขึ้นบ้าง จะเลือกวิธีไหนก็สร้างประโยชน์ให้กับตัวเองทั้งนั้น อยากได้งาน ได้กล้ามเนื้อ หรือได้สมองก็เลือกได้ จะเลือกวิธีเดียวหรือผสมผสานกันหลายวิธีก็(อร่อย)ดีไปอีกแบบ คล้ายๆคอกเทล   แต่ที่แน่ๆ และสำคัญกว่า “การเลือกวิธีไหน” ก็คือ ต้องเลือก “เริ่มทำตั้งแต่วันนี้” จะดีที่สุด เพราะเวลาของเราทุกคนเหลือน้อยลงทุกวัน

เสื้อขาวลดไขมัน เสื้อเขียวเพิ่มมันสมอง






[1] สำนักงานสถิติแห่งชาติ “การสำรวจพฤติกรรมการออกกำลังกายของประชากรปี 2550 http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/service/survey/excercise50.pdf

[2] โครงการพัฒนาเครือข่ายระดับสากลของ แผนส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ, สสส . “ขยับ กระฉับกระเฉง เพื่อสุขภาพที่ดี”
[3] กิตติ ปรมัตถผล และคณะ , 2552  หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
[4] นิตยสาร science illustrated เดือนตุลาคม 2012 “ออกกำลังกายให้ชีพจรเต้นแรงช่วยเสริมพลังสมอง”