บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

สมดุลในบ่อปลา: การเรียนวิทยาศาสตร์แบบบังเอิญ



เดชรัต สุขกำเนิด

ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งอายุ 42 ปี ผมไม่เคยเลี้ยงปลาเลย ผมคิดว่าการเลี้ยงปลาเป็นเรื่องยุ่งยาก และที่สำคัญที่สุดคือ สงสารปลาที่อาจจะต้องมาตาย ด้วยฝีมือการเลี้ยงที่ไม่ได้เรื่องของผม
แต่ในเมื่อบ้านใหม่ที่บางบัวทองของผม มีบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่คุณพ่อคุณแม่เคยขุดไว้ และผมเองก็ไม่มีเงินที่จะซื้อดินมาถม ลูกๆ ทั้งสองก็เลยคิดว่า การเลี้ยงปลาในบ่อน้ำดังกล่าวน่าจะเป็นกิจกรรมที่ดีสำหรับบ่อน้ำของเรา
แม้ว่าผมจะยังกังวลใจกับความไร้ประสบการณ์ในการเลี้ยงปลาของตนเอง แต่ก็อยากสนับสนุนไอเดียความคิดของลูกๆ อีกทั้ง นึกในใจว่า อย่างน้อยการเลี้ยงปลาในบ่อดิน ก็ไม่ต้องคอยเปลี่ยนน้ำ เหมือนการเลี้ยงปลาในตู้ปลา
ตอนแรกลูกสาวและลูกชายอยากจะเลี้ยงปลาคาร์พสีสวย แต่เมื่อพิจารณาจากความไร้ประสบการณ์และความไร้ฝีมือของผมแล้ว ผมก็เลยตัดสินใจเลี้ยงปลาทับทิม เพราะสีส้มสวยสดเหมือนปลาคาร์พ แต่ราคาถูกกว่ามาก (ลูกปลาตัวละ 2 บาท)
จากนั้น เมื่อผมเริ่มมีความชำนาญมากขึ้น ผมจึงซื้อลูกปลาอื่นๆ เช่น ปลาตะเพียน ปลาแรด ปลายี่สก ปลาจาระเม็ดน้ำจืด มาเลี้ยงเพิ่มเติมขึ้น
เมื่อผมได้เริ่มเลี้ยงปลาขึ้นมาจริงเมื่อปีพ.ศ. 2553 ผมจึงพบว่า แม้ว่าการเลี้ยงบ่อดินจะไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำเหมือนตู้ปลา แต่การดูแลรักษาคุณภาพน้ำบ่อปลาขนาดหนึ่งงานกลับเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก แถมบ่อปลาของผมเป็นบ่อปิดที่ไม่สามารถถ่ายเทหรือเปลี่ยนถ่ายกับแหล่งน้ำภายนอกได้ เราจึงต้องดูแลสภาพน้ำให้เกิดความสมดุลในบ่อน้ำเอง
ทุกท่านที่เคยเลี้ยงปลาคงทราบดีว่า จุดสำคัญที่สุดสำหรับการเลี้ยงปลาคือ การรักษาระดับของออกซิเจนในบ่อปลา ให้มีปริมาณเพียงพอต่อการดำรงชีวิตของปลา ซึ่งปลาแต่ละชนิดมีความต้องการระดับออกซิเจนที่แตกต่างกัน หรือพูดในมุมกลับก็คือ ปลาแต่ละชนิดจะทนทานต่อระดับออกซิเจนที่ลดต่ำลงได้แตกต่างกัน
ปลาที่ไม่ค่อยทนทานต่อระดับออกซิเจนที่ลดต่ำลงก็คือ ปลาตะเพียน เพราะฉะนั้น เมื่อระดับออกซิเจนในน้ำลดต่ำลง ปลาตะเพียนจะขึ้นมาหายใจเหนือน้ำก่อนปลาอื่นๆ และอาจสุ่มเสี่ยงที่จะนอนหงายและตายก่อนปลาอื่นๆ
มองในมุมนี้ การเลี้ยงปลาตะเพียนจึงเป็นปลาปราบเซียน ตอนน้ำท่วมทะลักเข้าคลองประปาเมื่อปีพ.ศ. 2554 ผมก็เพิ่งทราบว่า การประปานครหลวงก็ใช่ปลาตะเพียนเป็นตัวชี้วัดคุณภาพน้ำด้วย วันนั้นที่น้ำทะลักเข้าคลองประปา ปรากฏว่า ปลาตะเพียนของการประปาฯ ก็ตายเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ส่วนปลาที่ค่อนข้างทนทานต่อระดับออกซิเจนที่ลดต่ำลงได้ดีคือ ปลาทับทิม และปลาแรด โดยเฉพาะปลาแรด ซึ่งผมทราบในภายหลังว่า ปลาแรดมีอวัยวะพิเศษในการขึ้นมาฮุบอากาศเพื่อหายใจได้โดยตรง ต่างจากปลาชนิดอื่นที่ต้องได้รับออกซิเจนผ่านการแลกเปลี่ยนออกซิเจนที่เหงือก เมื่อปลาแรดได้รับออกซิเจนจากอากาศโดยตรง คุณภาพน้ำจึงมีผลต่อปลาแรดน้อยกว่าปลาชนิดอื่นๆ
ดังนั้น ปลาแรดและปลาทับทิมจึงเหมาะสมกลับผู้เลี้ยงปลามือใหม่อย่างผม
แต่ปลาทับทิมก็สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาที่ผมคิดไม่ถึง นั่นคือ มันขยันออกลูกออกหลานมาก ตอนแรกผมคิดว่าปลาทับทิมเป็นหมัน แต่ภายหลังจึงทราบว่าบริษัทที่พัฒนาสายพันธุ์ปลาทับทิมขึ้นมา เขาใส่ฮอร์โมนเพศผู้ให้ปลาทับทิม ปลาทับทิมทั้งหมดจึงกลายเป็นปลาตัวผู้ที่ไม่สนใจจะขยายพันธุ์ จึงอ้วนเอาอ้วนเอา ได้น้ำหนักดีตามที่ตลาดต้องการ
ผมเพิ่งมาทราบในภายหลังว่า ปลาทับทิมที่ผมนำมาเลี้ยงเป็นปลาที่ยังไม่ผ่านการทรีตฮอร์โมนเพศผู้จึงสามารถออกลูกออกหลานได้ตามปกติ ยิ่งปลาในบ่อของผมไม่มีปลากินเนื้อเช่นปลาช่อน ไว้คอยจัดการลูกปลากินพืช ดังนั้น ไม่นานบ่อปลาของผมก็เต็มไปด้วยปลาทับทิม

เมื่อปลามีปริมาณมากขึ้น ปลาก็ต้องการหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปมากขึ้น ไปพร้อมๆกับหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น ไม่นานระดับของออกซิเจนในน้ำก็จะลดต่ำลง จนส่งผลกระทบกับปลาที่เลี้ยงไว้ได้
สิ่งที่ผมลืมคิดไปในการเลี้ยงปลาในบ่อดินคือ การเพิ่มระดับออกซิเจนในบ่อปลา เพราะการเลี้ยงปลาในตู้ปลาเราก็แค่ใช้ปั๊มออกซิเจนเข้าไป แต่เมื่อบ่อปลามีขนาดใหญ่มาก เราคงไม่สามารถทำเช่นนั้นเป็นประจำได้ แล้วเราจะเพิ่มระดับออกซิเจนในบ่อปลาของเราได้อย่างไร
จุดสำคัญของการเพิ่มออกซิเจนในบ่อปลาแบบกึ่งธรรมชาติคือ การสังเคราะห์แสงของแพลงค์ตอนพืชในบ่อปลา ที่ทำงานเหมือนกับต้นไม้ทั่วไปที่ใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสง และผลิตออกซิเจนออกมา แล้วละลายอยู่ในบ่อปลา เป็นออกซิเจนของปลาต่อไป
แต่การสังเคราะห์แสงดังกล่าวจะเกิดขึ้นเฉพาะในตอนกลางวันเท่านั้น พอถึงตอนกลางคืน แพลงค์ตอนพืชก็หยุดการสังเคราะห์แสง เหลือแต่การหายใจที่เอาออกซิเจนเข้าไปและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเช่นเดียวกับเหล่าฝูงปลาทั้งหลาย
ดังนั้น ในตอนกลางวัน ระดับออกซิเจนในบ่อปลาจึงอยู่ในระดับสูง ปลาจึงสามารถดำลงไปว่ายเล่นและอาศัยอยู่ในระดับน้ำลึกที่มีออกซิเจนน้อยกว่าได้ แต่พอถึงตอนกลางคืน ระดับออกซิเจนในบ่อปลาจะเริ่มลดต่ำลง และจะต่ำสุดในช่วงเช้ามืด เพราะฉะนั้น เมื่อตื่นขึ้นมา บางครั้ง ผมจึงเห็นฝูงปลาขึ้นมาหายใจที่ผิวน้ำกันมากมาย แบบที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ปลาลอยหัว
ยิ่งหากช่วงใดไม่มีแดดในตอนกลางวัน วันนั้นระดับออกซิเจนในน้ำจะลดต่ำลง เพราะแพลงค์ตอนพืชสังเคราะห์แสงได้น้อย พอถึงช่วงกลางคืนระดับออกซิเจนก็จะยิ่งลดต่ำลง จนปลาลอยหัวกันเต็มไปหมดในวันรุ่งขึ้น
โดยเฉพาะในช่วงฝนแรกของฤดูฝน ซึ่งฝนจะชะล้างมลพิษในอากาศ โดยเฉพาะฝนกรดลงสู่บ่อปลา ทำให้ปลาช็อคน้ำ และแพลงค์ตอนพืชจำนวนมากก็ตาย ช่วงนั้นระดับออกซิเจนก็จะลดต่ำลงจนกลายเป็นช่วงวิกฤตของการเลี้ยงปลาเลยทีเดียว
ในระยะสั้น การเพิ่มระดับออกซิเจนโดยใช้น้ำพุจากเครื่องปั้มน้ำก็เป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องช่วยยื้อชีวิตปลา จนกว่าแดดจะออกและระดับออกซิเจนจะเพิ่มสูงขึ้น ถึงจะปิดปั้มน้ำได้ และเปิดอีกทีก่อนมืดจนถึงดึก
แม้ว่ามาตรการนี้จะช่วยยื้อชีวิตปลาไว้ได้ดีพอควร แต่ก็ต้องสิ้นเปลืองพลังงาน และไม่สามารถช่วยให้ปลามีสภาพความเป็นอยู่ หรือเรียกแบบเท่ๆ ว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ผมจึงจำเป็นต้องค้นหาแนวทางที่ยั่งยืนกว่าที่เป็นอยู่
จากการค้นคว้าผมจึงทราบว่า นอกจากในบ่อปลาของผมจะประกอบด้วยสมการการสังเคราะห์แสงของแพลงค์ตอนพืช (สร้างออกซิจน) และการหายใจของปลาและแพลงค์ตอนทั้งหลายแล้ว (ใช้ออกซิเจน) ผมยังทราบว่า ในบ่อของผมยังมีสมการการย่อยสลายของอินทรีย์สารต่างๆ (เช่น เศษอาหารปลาที่เหลือ ขี้ปลา) โดยจุลินทรีย์ต่างๆ ในบ่อปลา ซึ่งก็ใช้ออกซิเจนเช่นกัน ดังนั้น ตรงนี้จึงมีส่วนทำให้ระดับออกซิเจนในน้ำลดลงด้วย
จริงแล้วๆ การย่อยสลายอินทรีย์สารโดยจุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจนเป็นสาเหตุหลักของการเน่าเสียของแหล่งน้ำต่างๆ โดยเฉพาะในแหล่งน้ำที่มีการระบายน้ำทิ้งของอุตสาหกรรมและชุมชน แต่ผมเองกลับลืมสมการนี้ไป
แนวทางการจัดการเรื่องนี้คือ การลดการย่อยสลายอินทรีย์สารโดยจุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจน มาเป็นการใช้จุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจนมาช่วยย่อยสลายแทน (จริงๆ ต้องเรียกว่า มาแย่งย่อยอินทรีย์สาร) เพราะการย่อยของจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจนจะไม่ใช้ออกซิเจน ทำให้ระดับออกซิเจนในบ่อปลาไม่ลดลง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่แพลงค์ตอนในบ่อปลาตายลง เราก็ต้องใช้จุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจนไปช่วยจัดการ เพื่อไม่ให้ระดับออกซิเจนในบ่อปลาลดลง
การนำจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจนมาเพิ่มในบ่อปลาทำได้ 3 วิธีคือ วิธีแรก เทน้ำหมักชีวภาพลงไปโดยตรง ตอนแรกๆ ผมก็เน้นวิธีนี้ เพราะง่ายดี แต่ข้อเสียคือ จุลินทรีย์ในน้ำหมักจะอยู่เฉพาะบริเวณผิวน้ำ ไม่ได้ลงไปถึงก้นบ่อ แถมยังค่อนข้างเปลืองน้ำหมักด้วย
ผมเลยมาปรับใช้วิธีที่สองที่เน้นลงไปจัดการกับอินทรีย์สารถึงก้นบ่อก็คือ การปั้น EM ball หรือ ระเบิดจุลินทรีย์ วิธีนี้ก็ดีมาก โดยเฉพาะในช่วงน้ำท่วมที่มีตะกอนอินทรีย์สารลงไปจมอยู่ก้นบ่อจำนวนมาก ผมก็ต้องใช้ EM ball เพื่อจัดการกับอินทรีย์สารเหล่านี้ ก่อนที่เจ้าจุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจนจะเข้ามาจัดการ และทำให้ระดับออกซิเจนในบ่อปลาลดลง
แม้ว่า การใช้ EM ball จะดีแต่ก็ใช้เวลาค่อนข้างมาก และยังเน้นไปจัดการที่ก้นบ่อ ผมก็เลยขอคำแนะนำจากอาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) จากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องที่แวะมาเยี่ยมบ้าน อาจารย์ยักษ์แนะนำให้วางกองฟางไว้ตามมุมบ่อ จากนั้นใส่มูลวัวหรือหมู แล้วราดน้ำหมักชีวภาพลงไป กองฟางเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นจุดขยายจำนวนจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจน โดยไม่ต้องเทน้ำหมักชีวภาพลงไปบ่อยๆ จึงทั้งประหยัดเวลาและช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำได้อย่างดียิ่ง
เมื่อผมทดลองดำเนินการ ปรากฏว่าคุณภาพน้ำในบ่อปลาของผมดีขึ้นมาก จนไม่ต้องใช้ปั้มน้ำเพื่อทำน้ำพุอีกเลย

ยิ่งเมื่อเกิดน้ำท่วม ปลาทับทิมที่รักอิสระทั้งหลายก็พากันหนีออกไปจากบ่อปลา จนปริมาณลดลงบ้าง ขณะเดียวกัน ผมก็ได้ปลาล่าเนื้อคือ ปลาช่อน หลงเข้ามาในบ่ออีก 2-3 ตัว ปรากฏว่า ปลาช่อนก็เข้ามาควบคุมจำนวนลูกปลาในบ่อได้เป็นอย่างดี ทำให้ปริมาณปลาในบ่อไม่มากเกินไป
ดังนั้น เราจึงสามารถสรุปได้ว่า สมดุลของออกซิเจนในบ่อปลาประกอบด้วยสมการชีวภาพ 4 สมการคือ
ก)     สมการการสังเคราะห์แสงของแพลงค์ตอนพืช (ผลิตออกซิเจน)
ข)     สมการการหายใจของพืชและปลา (ใช้ออกซิเจน)
ค)     สมการการย่อยสลายอินทรีย์สารโดยจุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจน (ใช้ออกซิเจน)
ง)      สมการการย่อยสลายอินทรีย์สารโดยจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจน (ไม่ใช้ออกซิเจน)
ซึ่งหากเราสามารถรักษาความสมดุลของสมการทั้ง 4 สมการนี้ไว้ได้อย่างดี ปลาของเราก็จะเติบโตดี โดยไม่ต้องใช้พลังงานและไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเพิ่มออกซิเจนโดยการปั้มน้ำอีกด้วย
นี่คือ การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ภายในบ้าน ที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ของลูกปลาไม่กี่ร้อยตัว แล้วค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาเป็นประสบการณ์ ความเข้าใจ และความรู้ของผู้คนในบ้าน โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ ที่ผูกพันกับปลาในบ่อนี้ ในฐานะเพื่อนและคุณครูไปพร้อมๆ กัน
ผมแน่ใจว่า เช่นเดียวกับระบบนิเวศทั้งหลาย บ่อเล็กๆ แห่งนี้ยังคงมีเรื่องให้เราเรียนรู้ได้อีกมาก ขอเพียงแค่เราใส่ใจชีวิตทุกชีวิตที่อยู่รอบตัวเรา

8 ความคิดเห็น:

  1. ขอบุคณมากเลยครับ ได้ความรู่มากเลย สำหรับมือใหม่

    ตอบลบ
  2. พี่ครับน้ำหมักชัวภาพนี่ ซื้อที่ไหนหรอกครับ

    ตอบลบ
  3. ลูกปลากระโห้ที่ผมเลี้ยงไว้ในกระชังตายช่วงเช้าครับ ตามลำตัวไม่มีบาดแผลหรือความผิดปกติ เลี้ยงมาได้ 1 เดือนตายไป 4 ตัว จาก 100 ตัว เท่าที่ผมสังเกตุดู มันจะขึ้นมาผงาบๆช่วงเช้ามืด กับช่วงใกล้ๆ 6 โมงเย็น นอกนั้นแทบไม่เห็นมันขึ้นมาเลยครับ น่าจะเกิดจากสาเหตุอะไรครับ แล้วปลากระโห้มีระดับความทนทานต่อออกซิเจนเยอะขนาดไหนครับ

    ตอบลบ
  4. ขอบคุณ จขกท. ที่นำหัวข้อดีๆมาเผยแพร่คับ

    ตอบลบ
  5. มีเรื่องอยากถามนิดหน่อยครับ

    ตอบลบ
  6. น้ำหมักชีวภาพที่ราดลงไปนะ
    แบบไหนก็ได้หรือป่าวครับ

    ตอบลบ
  7. ละเอียด เข้าใจง่าย ทำได้ง่ายค่ะ
    ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆนะคะ

    ตอบลบ