บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

บ้านประหยัดพลังงาน: บ้านเย็น คนเย็น โลกเย็น


เดชรัต สุขกำเนิด
เมื่อเอ่ยถึงขุมพลังข้างบ้าน แน่นอนว่าผู้คนส่วนใหญ่จะนึกถึงแหล่งพลังงานใหม่ๆ ที่เราเคยมองข้ามไป หรือยังไม่ทราบวิธีใช้
แต่แท้จริงแล้ว ขุมพลังหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ การประหยัดพลังงานที่จะต้องใช้ในบ้านเรือนและในชีวิตของเราเอง เพราะหากเราลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็นลง เราก็ลดความจำเป็นที่จะต้องดิ้นรนหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ลงไปด้วย
การจัดการด้านความต้องการใช้พลังงานจึงเป็นเสมือนกับการอุดรูรั่ว เพื่อรักษาพลังงานไว้ใช้ในงานที่จำเป็น บทความนี้จึงชวนคิดเรื่องประหยัดพลังงานกันสักหน่อย

ทำไมในโบสถ์ถึงเย็นสบาย

          หากไม่นับช่วงฤดูหนาวอันแสนสั้นแล้ว คนเมืองในปัจจุบันนี้ล้วนถวิลเครื่องปรับอากาศหรือแอร์กันทั้งนั้น จนทำให้พลังงานที่ใช้ในการเปิดแอร์คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของพลังงานไฟฟ้าที่เราใช้ในบ้านเรือน
แต่ในยุคอดีตซึ่งไม่มีแอร์ คนไทยของเราอยู่กันอย่างไร?
ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงเคยไปนั่งในโบสถ์ ท่านก็คงรู้สึกเย็นสบาย สิ่งนั้น ทำให้ผมสงสัยว่า บรรพบุรุษของเราอาศัยภูมิปัญญาใด ทำให้ในโบสถ์ช่างเป็นที่เย็นสบาย โดยไม่ต้องใช้แอร์
เมื่อผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ของผศ.ดร. ยงธนิศร์ พิมลเสถียร ผมจึงทราบคำตอบ
เหตุผลที่โบสถ์ให้ความรู้สึกเย็นสบายก็เพราะ ตัวโบสถ์เป็นอาคารที่มีผนังหนา จึงเป็นฉนวนช่วยกันความร้อนไม่ให้เข้าสู่โบสถ์ไปในตัว ขณะเดียวกัน วัสดุที่ใช้คือปูนขาว ยังมีคุณสมบัติในการระบายอากาศและความชื้นออกสู่ภายนอกตัวอาคารได้เป็นอย่างดี
ส่วนกระเบื้องที่มุงหลังคาโบสถ์เป็นกระเบื้องดินเผา ซึ่งจะไม่รับความร้อนเข้าสู่บ้าน ต่างจากกระเบื้องซีเมนต์หรือหลังคาโลหะที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ซึ่งจะรับและสะสมความร้อนเข้าสู่บ้าน
การทำหลังคาโบสถ์ให้สูง ก็ช่วยในการระบายอากาศร้อนได้เป็นอย่างดี เพราะอากาศร้อนจะลอยตัวสูงขึ้นออกทางด้านบน และอากาศที่เย็นกว่าจะไหลเข้ามาแทนที่ หรือที่เรียกกันทางวิชาการว่า passive cooling
หากมองไปยังบ้านเรือนของคนไทยในอดีตก็จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ การให้ความสำคัญกับการไหลเวียนของอากาศ คนไทยในอดีตจึงต้องวางตัวบ้านให้สอดคล้องกับทิศทางลม และยกตัวบ้านให้สูงเพื่อให้ลมเย็นพัดผ่าน
นอกจากนั้น ภายในตัวบ้านก็ทำช่องทางไหลเวียนของอากาศไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นช่องลายฉลุเหนือหน้าต่าง หรือช่องแมวลอด ล้วนมีส่วนสำคัญในการนำความร้อนออกจากบ้านทั้งสิ้น
ภายนอกตัวโบสถ์หรือตัวบ้านก็มักมีการปลูกต้นไม้ไว้มากมาย เพื่อเป็นร่มเงาให้กับตัวบ้าน ทำให้บ้านไม่ต้องสัมผัสกับแสงแดดและความร้อนโดยตรง
การออกแบบอาคารบ้านเรือนในอดีตจึงเป็นภูมิปัญญาในการปรับตัวให้เข้ากับภูมินิเวศ
ช่วงเวลาหนึ่งที่สังคมไทยเราหลงลืมภูมิปัญญาดั้งเดิม แล้วหันไปรับเอาแนวคิดในการสร้างบ้านแบบตะวันตก ซึ่งเน้นการเก็บความร้อนไว้ในบ้าน เพื่อต่อสู้กับความหนาวเย็น เราจึงจำต้องรับเอาแอร์มาช่วยดูดความร้อนออกจากตัวบ้านอีกด้วย (หรือมิฉะนั้น ก็ต้องนั่งรถไปรับแอร์นอกบ้าน)
แม้ว่าเราได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการอยู่อาศัยของเรามานานหลายสิบปี จนกระทั่งหลายคนนึกไม่ออกว่าเราจะกลับไปอยู่บ้านไทยแบบเดิมได้อย่างไร แต่เราก็ยังสามารถนำภูมิปัญญาไทยมาปรับใช้กับบ้านแบบปัจจุบันได้เช่นกัน
ตัวอย่างเช่น ผมออกแบบบ้านให้มีหลังคาทรงสูง และแบบบ้านมีทางลมไหลผ่านได้สะดวก รวมถึงมีช่องลมด้านใต้หลังคาเพื่อระบายลมร้อน และให้ลมเย็นไหลเข้ามาแทนที่
ขณะเดียวกัน ผมก็หลีกเลี่ยงการจัดวางห้องนอน และห้องนั่งเล่นไว้ทางทิศตะวันตก ซึ่งรับความร้อนในช่วงบ่ายอย่างเต็มที่ และเมื่อเรากลับมาถึงบ้าน และนั่งพัก เราก็จะรู้สึกร้อน จนจำต้องเปิดแอร์ในทันใด
ส่วนผนังและหลังคา ผมก็ใส่เลือกบริษัทก่อสร้างที่ใส่ฉนวนโฟมเข้าไปตรงกลางระหว่างปูนชั้นนอกและปูนชั้นใน ทำให้ลดความร้อนในการถ่ายเทเข้าสู่บ้านได้เป็นอย่างมาก
นอกบ้านผมขุดสระน้ำหน้าบ้าน และปลูกต้นไม้รอบบ้าน โดยเฉพาะทางทิศตะวันตก ผมมีต้นโพธิ์และต้นตาลที่ติดมากับที่ดินเดิม ช่วยกางร่มให้กับบ้านอีกชั้นหนึ่ง
ในที่สุด บ้านของผมจึงรอดพ้นจากการติดแอร์ หากวันไหนรู้สึกร้อนไปบ้างก็เปิดพัดลมช่วยแทนทำให้ช่วยทุ่นค่าไฟฟ้าไปได้กว่าเดือนละ 1,000 บาท ปีหนึ่งก็ประหยัดได้เป็นหมื่นนะครับ
          นี่คือขุมพลังจากภูมิปัญญาไทย ที่ช่วยลดพลังงานที่ไม่จำเป็น ช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า และยังช่วยลดโลกร้อนได้โดยตรงอีกด้วย


แนวทางการรับมือกับความร้อน

          ผู้อ่านหลายท่านอยากให้ผมช่วยรวบรวมแนวทางในการรับมือหน้าร้อนมาแบบให้หมดจดทุกช่องทาง ผมก็รู้สึกฟังดูคิดว่าน่าสนใจดี ก็เลยจัดให้ครับ
          ผมแบ่งแนวทางในการรับมือกับความร้อนเป็น 5 หลักการ ดังนี้ครับ
หนึ่ง คือสร้างร่มเงา แดดที่แผดเผาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรารู้สึกร้อนจนทนไม่ไหว แนวทางรับมือที่สำคัญคือ การร่มให้บ้าน ซึ่งวิธีกางร่มให้บ้านที่ดีที่สุดคือ การปลูกต้นไม้ แต่หากพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยก็อาจใช้แผงบังแดดแทนได้ครับ ปัจจุบันมีการออกแบบแผงบังแดดหลากหลายรูปแบบดูสวยงามทีเดียว
ทั้งนี้ จุดสำคัญที่จะต้องกางร่มคือ ทิศตะวันตก และแผงลานคอนกรีตทั้งหลาย (รวมถึงดาดฟ้า) เพราะเป็นทิศที่รับแดดในช่วงบ่าย และสะสมความร้อนไว้ก่อนที่ระบายความร้อนออกมาเมื่อเรากลับถึงบ้านในตอนเย็น
สำหรับท่านที่ชอบทำสวน การทำสวนดาดฟ้า และสวนแนวตั้งก็จะช่วยเป็นร่มเงาให้กับบ้านได้เป็นอย่างดี แถมยังช่วยให้มีอาหารที่ปลอดภัยในการบริโภคอีกด้วย
สอง คือระบายความร้อนที่สะสมในตัวบ้านให้ออกไปภายนอกบ้าน โดยธรรมชาติแล้ว อากาศร้อนย่อมลอยตัวสูงขึ้น และอากาศเย็นก็จะไหลมาแทนที่ ดังนั้น แนวทางรับมือคือ การเปิดให้ลมไหลผ่านตัวบ้าน และระบายอากาศร้อนผ่านออกไปนอกบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ใต้หลังคา และพื้นที่ชั้นสอง ซึ่งหากเราไม่หาทางระบายของอากาศไว้ อากาศร้อนก็จะถูกเก็บกักไว้ในบ้านแทน
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้น้ำระบายความร้อนได้ด้วย โดยการพ่นละอองน้ำที่หลังคา (หรือลานคอนกรีต) ที่ต้องการให้ระบายความร้อน น้ำจะดูดเอาความร้อนที่สะสมในวัสดุเพื่อใช้ในการระเหยให้กลายเป็นไอ ทำให้บ้านเย็นลง ยิ่งการพ่นละอองน้ำมีขนาดเล็กเท่าไร ยิ่งทำให้ประหยัดน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายความร้อนมากขึ้น ปัจจุบันในบ้านเรามีการทำเครื่องพ่นละอองน้ำแบบใช้โซลาร์เซลออกมาขายแล้วด้วยครับ
ในอดีต บ้านของผู้คนในเขตร้อน โดยเฉพาะในประเทศจีนและอินเดียว มักมีสวนหรือบ่อน้ำกลางบ้าน ซึ่งจะมีความชื้นมากกว่าพื้นที่รอบข้าง และดูดความร้อนจากพื้นที่รอบข้าง ก่อนที่ระบายออกไปทางช่องเปิดด้านบนบ้าน ทำให้รู้สึกเย็นสบายแม้อุณหภูมิภายนอกจะร้อนมากก็ตาม
สาม คือกันความร้อนไม่ให้เข้ามาสู่ตัวบ้าน แนวทางนี้คือ การใช้ฉนวนในการกันความร้อน ซึ่งปัจจุบัน มีการพัฒนาฉนวนกันความร้อนหลากหลายชนิด โดยใช้วัสดุที่ต่างกัน (เช่น ใยแก้ว โฟม ยิปซั่ม) และการใช้งานก็ต่างกันด้วย บางชนิดใช้ภายในอาคาร (เช่น ติดตั้งเหนือฝ้า หรือใต้หลังคา) บางชนิดใช้ภายในนอกอาคาร บางชนิดใช้กับผนัง (เช่น อิฐมวลเบา) และบางชนิดใช้กับหลังคา
ทั้งนี้ การเลือกใช้วัสดุใดควรพิจารณาจากประสิทธิภาพในการกันความร้อน ลักษณะการใช้งาน ความปลอดภัยในการใช้งาน (โดยเฉพาะการลามไฟ และการเกิดควันพิษในกรณีอัคคีภัย) และงบประมาณที่มีในกระเป๋า ท่านที่สนใจในรายละเอียดขอให้ไปดาวน์โหลดคำแนะนำของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้ที่ http://www2.dede.go.th/new-homesafe/webban/actionplan1.htm
ส่วนในกรณีของบ้านผม ผมก็ใช้โฟมใส่ไว้ตรงกลางของหลังคาและผนังบ้านก่อนที่จะก่อและฉาบปูนปิดไว้ เพื่อป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน

สี่ คือ แลกเปลี่ยนความร้อน ซึ่งเป็นการนำความร้อนที่มีอยู่ในตัวบ้านไปแลกเปลี่ยนกับสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าอากาศเช่น ดินหรือแหล่งน้ำ ดังนั้น จึงถือเป็นการใช้พลังงานจากพื้นพิภพ หรือ Geothermal energy รูปแบบหนึ่ง
ความน่าสนใจก็คือ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของดินจะค่อนข้างคงที่หรือเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าอากาศ เพราะฉะนั้น ในช่วงที่อากาศร้อนดินก็จะเย็น ในขณะที่อากาศหนาว ดินก็จะมีอุณหภูมิสูงกว่าอากาศ ดินและแหล่งน้ำจึงกลายเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความร้อนสำหรับบ้านเรือน โดยการนำอากาศในบ้านเรือนไปผ่านท่อแลกเปลี่ยนความร้อนในดินหรือแหล่งน้ำ
ซึ่งในกรณีของประเทศไทย ดินหรือแหล่งน้ำก็จะกลายเป็นแหล่งดูดซับความร้อนและปล่อยความเย็นมาให้แก่บ้านเรือน ปัจจุบัน ระบบการแลกเปลี่ยนความร้อนกับพื้นพิภพ ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในเมืองไทย เท่าที่ทราบมีการนำมาใช้ที่บ้านชีวาทิตย์ ของ ศ.สุนทร บุญญาธิการ แต่ในสหรัฐอเมริกามีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย เรียกว่า สามารถสั่งซื้อกันได้ทางอินเตอร์เน็ตเลยทีเดียว (ลองค้นคำว่า Geothermal energy for home ดูก็ได้ครับ)
สุดท้ายคือ การนำความร้อนมาใช้ประโยชน์ ในเมื่ออากาศมันร้อนนัก เราก็น่าจะนำเอาความร้อนมาใช้ประโยชน์กันบ้างนะครับ อย่างน้อยที่สุด ก็ใช้การตากผ้า หรือถนอมอาหาร (เช่น ปลาแดดเดียว หมูแดดเดียว) ซึ่งถือเป็นการประหยัดพลังงานไปได้ส่วนหนึ่งก็ยังดีนะ หรือ หากจะลงทุนติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นพลังงานแสงอาทิตย์ ก็จะยิ่งดีครับ เพราะจะลดการใช้พลังงานได้มากยิ่งขึ้น บ้านของผมติดตั้งแล้วน้ำอุ่นถึงใจดีจริงๆ เลยครับ
ล่าสุด มีการนำเอาความร้อนจากเครื่องปรับอากาศ มาใช้ในการทำน้ำอุ่นด้วยครับ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความร้อนที่ชาญฉลาดมาก เพราะเป็นการนำความร้อนเหลือทิ้งมาทดแทนพลังงานไฟฟ้า ท่านที่ใช้เครื่องปรับอากาศและสนใจเครื่องทำน้ำอุ่นแบบนี้ก็สามารถหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตได้เช่นกัน
ผมหวังว่า ท่านผู้อ่านคงสามารถหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับบ้านของท่าน และสามารถเขียนมาเล่าหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้ครับ ที่สำคัญที่สุดที่จะต้องรักษากันไว้ไม่ให้ร้อนตามอากาศ ก็คือ ใจ ของเราครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น