บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556

รู้..สู้..ปลวก..สยบได้โดยไม่ต้องรบ


รุ่งทิพย์  สุขกำเนิด

ได้ยินเขาว่า “ปลวก นี่ มันร้ายนัก” เผลอเป็นไม่ได้  ไอ้เราคนบ้านนอก เคยอยู่แต่ตึกแถวมีแต่ปูนไม่มีฝ้า  เลยไม่ค่อยได้มีเวลาเสวนากับปลวกสักเท่าไร จนได้มีโอกาสมีบ้านเป็นของตัวเองแถวชานเมืองเมื่อไม่กี่ปี ใครๆก็เตือนนักเตือนหนาว่าอย่าวางใจ  ลองถามบ้านไหนๆก็ตอบแบบเดียวกันหมด “เรียกบริษัทกำจัดปลวก”  เราก็หาข้อมูลจากหลายบริษัท ทั้งโทรไปคุย  เรียกมาคุย ส่วนใหญ่ก็ทั้งขูด ทั้งขู่ ทั้งให้ความรู้แบบที่ทำให้คนไม่รู้อย่างเราจะหนาวๆสั่นๆบ้าง ใจหนึ่งก็เริ่มเอนเอียงว่า “จะจ้างบริษัทหล่ะนะ”  อีกด้านหนึ่งก็คับข้องใจว่า กะอีแค่แมลงตัวเล็กๆ “ปลวกๆ”  ต้องเอาให้ตายยกรัง ทั้งยวง ถอนรากถอนโคนแบบฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จริงๆเลยหรือ ต้องใช้มืออาชีพเท่านั้น เราจัดการเองไม่ได้จริงๆหรือ?
เมื่อมีคำถามค้างคา จะให้อยู่เฉยได้อย่างไร ไอ้เรามันคนชอบซอกแซกซะด้วย และเผอิญได้พบกับผู้เชี่ยวชาญกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงแอบสัมภาษณ์แบบไม่ให้ท่านรู้ตัว พอมาประมวลทั่วๆแล้วก็คิดว่า ถึงแม้จะไม่ใช่เคล็ดลับทั้งหมด แต่ถ้าเพื่อนๆได้รู้ตรงนี้บ้างก็คงจะดี เผื่อจะมีใครเอาไปปรุงแต่งกับความรู้ของตัวไว้สู้กับปลวกที่บ้านกันบ้าง แต่ก่อนที่จัดการกับปลวก ก็อยากจะให้เพื่อนๆมารู้จักกับปลวกกันสักนิด ถึงแม้จะยังไม่นึกรักและสงสารน้องปลวก แต่ก็หวังว่าจะเข้าใจน้องปลวกมากขึ้น และอย่างน้อยก็อาจเลือกหาวิธี “อยู่กับปลวกได้โดยไม่ต้องรบ” มาใช้บ้าง
  • เขากล่าวหาว่า “ปลวกไร้ค่า”1
เราอาจรู้จักปลวกในแง่วายร้ายจอมทำลาย ซึ่งต้องจัดการให้สิ้นซาก แต่จริงๆแล้วปลวกถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นสัตว์พิเศษซึ่งมีความสามารถพิเศษในการย่อยเซลลูโลส ดังนั้น ปลวกจึงเป็นแมลงที่มีบทบาทสำคัญ มากในระบบนิเวศวิทยา
ลองคิดดูว่า ถ้าโลกนี้ไม่มีปลวก เศษไม้ ท่อนไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ และ ส่วนต่าง ๆ ของพืช ที่หักร่วงคงกองเต็มไปหมด แต่ปลวกกลับช่วยเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆเหล่านี้ให้กลายเป็น ฮิวมัส ในดิน และเกิดเป็นกระบวนการหมุนเวียนธาตุอาหารจากพืชไปสู่ดิน ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ขึ้น
อีกทั้ง ปลวกยังเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของสัตว์น้อยใหญ่ ทั้ง ไก่ กบ นก คางคก กระรอก ลิง และสัตว์เลื้อยคลานต่าง ๆ โดยปลวกจัดอยู่ในระดับต้นๆของห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศน์ คนต่างจังหวัดเองก็ยังนิยมดักแมลงเม่าไว้คั่วกินเพราะมีรสเค็มๆมันๆ นอกจากนี้ ปลวกบางชนิดยังสามารถสร้างเห็ดโคน ซึ่งเป็นอาหารอันโอชะและมีราคาแพง สามารถสร้างรายได้เสริมให้แก่ชาวบ้านด้วย
ไม่ใช่เฉพาะตัวปลวกเท่านั้น จุลินทรีย์ในตัวปลวกก็เป็นที่หมายปองของเหล่านักวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันได้มีการทดลองนำจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารของปลวกมาผลิตเอ็นไซม์บางชนิดเพื่อใช้ประโยชน์ทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และการแก้ไขมลภาวะสิ่งแวดล้อมในอนาคต เช่น การย่อยสลายสารกำจัดศัตรูพืชที่มีฤทธิ์ตกค้างนาน หรือการกำจัดน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และการย่อยโพลิเมอร์ของเซลลูโลสให้เป็นน้ำตาลและไฮโดรเจน เพื่อการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เป็นต้น

เห็ดปลวกอาหารอันโอชะและราคาสูง http://www.biogang.net/biodiversity_view.php?menu=biodiversity&uid=25366&id=131684

·        ดินนี้คือบ้าน : จอมปลวก
เวลาไปต่างจังหวัด พวกเราคงเคยสังเกตเห็นกองดินใหญ่ๆที่บางแห่งมีผ้าแดงผูกไว้ พร้อมเครื่องเซ่นไหว้ ที่เขาเรียกว่า “จอมปลวก” นั่นแหละเป็นบ้านของปลวก  จะว่าไปแล้วก็เป็นแค่บ้านของปลวกชนิดหนึ่งเท่านั้น เพราะทั่วโลกมีการค้นพบปลวกแล้วไม่ต่ำกว่า 1,800 ชนิด 200 สกุลและถ้าพูดถึงความยิ่งใหญ่อลังการของบรรดาแมลงทั้งหลายแล้ว พบว่าปลวกครองแชมป์ไปหลายตำแหน่ง เป็นต้นว่าปลวกในทวีปแอฟริกาสามารถทำรังเป็นจอมปลวกสูงจากพื้นดินถึง  12.8 เมตร และขุดอุโมงค์ทะลุถึงกันครอบคลุมพื้นที่กว่า 5 ไร่  ขณะที่ปลวกในออสเตรเลียสร้างรังที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 31 เมตร และยังพบว่ามีรังปลวกทะเลทรายที่อยู่ลึกจากพื้นดินถึง 40 เมตร3 หลายคนอาจจะรู้สึกหนาวๆ อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะบ้านเราเมืองเรายังไม่พบอะไรที่น่ากลัว (เอ๊ะหรือน่าขอหวย)ขนาดนั้น  เท่าที่ทราบเมืองไทยเรามีปลวกแค่ 150 กว่าชนิด ที่สำคัญพบว่ามีแค่ประมาณ 10 ชนิดเท่านั้นที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อไม้ที่นำไปใช้ประโยชน์ 1 แถมบางชนิดยังมักน้อยเพียงสร้างรังเล็กๆตามซอกไม้เท่านั้น
·        พวกเราผิวบอบบาง แพ้แดด 
หากเราลองแคะเปลือกไม้ที่มีร่องรอยดินเป็นผงๆก็จะพบกับเจ้าตัวเล็กที่คล้ายมดแต่ผิวกายและหน้าตาซีดๆ นั่นแหละเขาหล่ะ “ปลวก”
ปลวกหรือ termite มีลำตัวนิ่ม ผิวบาง เมื่อสัมผัสอากาศผิวจะแห้งง่าย ปลวกจึงต้องมีรังปกคลุมมิดชิดหรือมีดินพอกทางเดินเพื่อรักษาความชื้นให้สูงอยู่เสมอ4 และด้วยความที่ไม่ค่อยชอบถูกแดดถูกลม ปลวกจึงมีสีซีดขาว เขาจึงมีชื่อเล่นอีกอย่างว่า มดขาวหรือ white ant  แต่หากจับปลวกกับมดมาเทียบกันตัวต่อตัวแล้ว จะเห็นว่านอกจากสีที่แตกต่างและผิวที่บอบบางกว่าแล้ว  ปลวกยังเป็นพวกไร้เอวคือมีส่วนท้องกว้างกว่าอก  ส่วนมดเป็นพวกนางแบบสังเกตได้จากเอวที่คอดกิ่ว และด้วยความแตกต่างในด้านอื่นๆอีกหลายอย่าง ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงจัดปลวกอยู่ในอันดับ Isopthera  ส่วนมดจัดเป็นพวกเดียวกับต่อแตน อยู่ในอันดับ Hyminoptera  และแม้ว่ามดกับปลวกจะหน้าตาละม้ายคล้ายจะเป็นญาติกัน แต่กลับพบว่า มดเป็นศัตรูตัวสำคัญของปลวกเลยทีเดียว

ปลวกวรรณะต่างๆ  http://www.parinyasupply.com/


·        ราชินีคือแม่ผู้ให้กำเนิดและกำหนดชีวิต
ด้วยความที่ปลวกอยู่กันแบบเมืองใหญ่ ธรรมชาติจึงกำหนดให้ภายในรังปลวกมีการแบ่งงานกันทำ โดยมีราชินีปลวกเป็นผู้กำหนด ราชินีปลวกจะเป็นผู้ให้กำเนิดลูกๆในวรรณะต่างๆ 3 วรรณะ ในแต่ละระยะของการสร้างรัง โดยราชินีจะให้กำเนิดลูกๆในช่วงแรกเป็นปลวกงาน ต่อมาจึงเป็นปลวกทหาร และเป็นปลวกสืบพันธุ์ ตามลำดับ
-ปลวกงาน(บางคนเรียกปลวกกรรมกร)
เป็นปลวกที่มีจำนวนมากที่สุดในรังหรือประมาณ   80-90 % ในระยะแรกของการสร้างรัง ปลวกรุ่นแรกๆที่ออกมาเกือบทั้งหมดจะเป็นปลวกงาน เพราะมันมีหน้าที่สำคัญคือ การก่อสร้าง และซ่อมแซมรัง  ตลอดจนหาอาหารมาเลี้ยงปลวกวรรณะอื่นๆ ปลวกชนิดนี้จะทำงานทุกอย่าง ปลวกงานจะมี ตัวเล็กไม่มีปีก ไม่มีเพศ และไม่มีตา อาศัยอยู่ในดินหรือเนื้อไม้ ที่มันกัด
-ปลวก ทหาร
มีอยู่ประมาณ  10% ของปลวกในรัง ปลวกทหารเป็นปลวกตัวเล็กแต่มีหัวโต และขากรรไกรมีลักษณะเป็นคีมขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการต่อสู้  ส่วนหัวมีต่อมที่เป็นรู 1 รู เมื่อถูกรบกวนจะปล่อยน้ำสีขาวขุ่นออกมา ปลวกทหารจะไม่มีปีก และไม่มีเพศ ปลวกชนิดนี้มีหน้าที่ปกป้องอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับรัง โดยเฉพาะจากพวกมด
-ปลวกสืบพันธุ์ 
คือปลวกตัวผู้และตัวเมีย มีปีกและเพศดังแมลงอื่นๆ ทั่วไป ตามปกติ ในรังหรืออาณาจักรจะพบปลวกคู่นี้ทำหน้าที่ผสมพันธุ์และสืบพันธุ์ ตัวผู้เราเรียกว่า ราชาปลวก และตัวเมียเรียกว่า ราชินีปลวก ออกไข่เกิดเป็นปลวก ชนิดต่างๆ ในรัง
ไข่ส่วนหนึ่งจะเติบโตเป็นปลวกในวรรณะสืบพันธุ์ (กรณีที่ราชินีตายลง ปลวกเพศเมียในวรรณะนี้จะทำหน้าที่ขึ้นมาเป็นราชินีปลวกแทนเช่นเดียวกับกรณีที่ราชาปลวกตายลงก็จะมีปลวกสืบพันธุ์ขึ้นมาทำหน้าที่แทน) ปลวกในวรรณะสืบพันธุ์เมื่อเติบโตเต็มที่จะมีปีกยาวเลยลำตัวออกมา เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งมักจะเป็นช่วงฤดูฝน ปลวกหนุ่มสาวภายในจอมปลวกหรือที่เรียกกันว่า “แมลงเม่า” (alates) จะพากันบินออกมารวมหมู่เพื่อเลือกคู่ครอง จับคู่หนึ่งต่อหนึ่ง และจะชวนกันหาทำเลที่เหมาะสม สลัดปีกทิ้งผสมพันธุ์กันแล้วมุดลงดิน หลังจากนั้นแมลงเม่าสองตัวก็จะกลายเป็นราชากับราชินีปลวกเริ่มต้นวางไข่และสร้างรังต่อไป นอกจากวิธีดังกล่าว การแพร่พันธุ์ของปลวกยังสามารถใช้วิธีแยกตัวเองหรือย้ายออกจากรังเดิมไปสร้างรังใหม่ได้  
·        ปลวกชอบกินและชอบเขี่ย
ปลวกก็เป็นสิ่งมีชีวิต ดังนั้นมันจึงต้องการอาหารเช่นเดียวกับเรา แต่ด้วยความที่ในกระเพาะของมันมีโปรโตซัวอาศัยอยู่ ปลวกจึงชอบกินอาหารประเภทที่มีเซลลูโลสเป็นพิเศษซึ่งก็คือไม้และสิ่งที่ได้จากไม้ ไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ หรือแม้แต่เสื้อผ้า  และไม่ใช่ว่าปลวกจะอยากออกไปหากินบ้านกินเมืองไกลๆตลอดเวลา แต่มัน(ปลวกงาน)จะมีการนำเชื้อราที่ได้จากการย่อยมา สร้างเป็นสวนเห็ดขึ้นภายในจอมปลวกเพื่อลดภาระในการตระเวนหาอาหาร 2  นอกจากนี้ ปลวกยังกินซากปลวกที่ลอกคราบหรือวัตถุเหลวตามตัวปลวกอีกด้วย5
อย่างที่บอกไปแล้วว่า ปลวกงานมีหน้าที่หาอาหารมาเลี้ยงปลวกอื่นๆในรัง  แต่ด้วยความที่มันไม่มีตา ดังนั้น มันจะใช้ประสาทสัมผัสที่รับกลิ่นและรับแรงสั่นสะเทือน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่หัวและท้อง ปลวกจะใช้วิธีการสื่อสารโดยการเลียสัมผัสกันตลอดเวลากับวรรณะอื่นๆ  จึงมีพฤติกรรมในการถ่ายทอดอาหารจากตัวหนึ่งไปอีกตัวหนึ่ง  บางคนเรียกว่า พฤติกรรมเลีย  แต่ปลวกไม่มีลิ้นจึงเรียกพฤติกรรมเขี่ย  ปลวกมีพฤติกรรมเขี่ยอยู่สองอย่าง  คือเขี่ยปาก (stomodeal  feeding)  และเขี่ยก้น (proctodeal  feeding) ปลวกจะใช้ส่วนของหนวดกระตุ้นฝ่ายตรงข้ามและเอาปากตัวเองไปจ่อที่ปากหรือก้นฝ่ายตรงข้ามเพื่อรับอาหารจากปากหรือก้นของอีกฝ่าย  และพฤติกรรมนี้ยังมีผลต่อปรากฏการณ์ในด้านอื่นของสังคม เพื่อสื่อสารกัน ดังนั้นบริษัทกำจัดปลวกจึงใช้ความรู้นี้เป็นช่องทางในการกำจัดปลวก6 โดยให้ปลวกนำสารเคมีไปถ่ายทอดพิษติดต่อกันและจะตายยกรัง หรือการหลอกให้ปลวกกินไม้ที่มีสารพิษและนำไปเลี้ยงปลวกอื่นในรัง และตายตามหลักการเดียวกัน
  • ถึงจะชื่อปลวกเหมือนกันแต่ก็นิสัยไม่เหมือนกัน
จากการค้นข้อมูลพบว่า มีการแบ่งปลวกออกเป็นกลุ่มๆที่แตกต่างกัน แถมยังมีข้อมูลที่ขัดแย้งกันว่าปลวกชนิดใดร้ายกว่ากันซะอีก   
-พวกแรก4แบ่งปลวกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1)ปลวกที่ต้องการความชื้นน้อยกว่าจะชอบกินไม้แห้ง 
2)ปลวกที่ต้องการความชื้นสูงกว่า จะทำลายไม้ที่มีความชื้น ไม้ขอนที่ล้มตามพื้นดิน หรือไม้ตามอาคารที่มีความชื้น ในป่าปลวกที่ต้องการความชื้นจะกัดกินรากและลำต้นของต้นไม้
-พวกที่ 2 แบ่งปลวกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1)ปลวกที่อาศัยอยู่ในดิน พวกนี้ต้องอาศัยอยู่ในดินหรือรังที่มีส่วนติดต่อกับพื้นดิน ปลวกพวกนี้จะมีความสัมพันธ์กับเห็ดรา และสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนและไม้ยืนต้น  ปลวกที่อาศัยอยู่ในดิน แบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ
1.1 ปลวกใต้ดิน จะทำรังอยู่ใต้ดิน ด้วยเศษไม้และดิน รังจะมีลักษณะเป็นรูพรุนคล้ายฟองน้ำอยู่ใต้พื้นดิน เรามักพบอยู่ในตอไม้เก่าๆ นอกบ้าน ปลวกจะสร้างทางเดินซึ่งทำด้วยดินและมูล เป็นอุโมงค์ดินไปสู่แหล่งอาหาร (ในทัศนะของบริษัทกำจัดปลวกหลายแห่งบอกว่าปลวกพวกนี้ทำความเสียหายกับอาคารบ้านเรือนมาก 1/5/7
1.2 ปลวกที่สร้างจอมปลวก โดยสร้างจากน้ำลายผสมมูลดินจนมีความแข็งแกร่ง บางชนิดทำลายบ้านเรือนได้ 8
1.3 สุดท้ายคือ ปลวกที่ทำรังด้วยเศษไม้หรือเยื่อไม้ เป็นปลวกที่สร้างรังตามกิ่งไม้หรือโพรงไม้ จะสร้างรังโดยการนำเศษไม้หรือใบไม้ที่ย่อยแล้วมาผสมกับดิน รังจะค่อนข้างกลมคล้ายรังต่อรังแตน8
2)ปลวกที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในดินหรืออาศัยอยู่ในเนื้อไม้ 6/7/8  ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ
2.1 ปลวกไม้แห้ง (เป็นพวกที่มีรังเล็กกว่าปลวกใต้ดิน อาศัยอยู่ในเนื้อไม้  และจะไม่ลงใต้ดิน ปลวกชนิดนี้ต้องการความชื้นเล็กน้อยเท่านั้น และมีบริษัทกำจัดปลวกบางแห่งและงานทางวิชาการบอกว่าปลวกกลุ่มนี้แหละเป็นพวกที่ทำความเสียหายให้กับบ้านเรือนและเฟอร์นิเจอร์ 8/9
2.2 สำหรับอีกพวกคือ ปลวกไม้ชื้น พวกนี้ชอบอยู่ในเนื้อไม้ที่มีความชื้นสูง ไม้ซุงหรือไม้ที่ผุแล้ว ห้องที่ชื้นและเย็น ปลวกประเภทนี้เป็นอันตรายต่อบ้านเรือนไม่มากนัก
·        รู้..สู้..ปลวก..สยบปลวกได้โดยไม่ต้องรบ
จากข้อมูลข้างบนคราวนี้เราจะเห็นลักษณะที่น่าสนใจของปลวกในหลายประเด็น เป็นต้นว่า ปลวกเป็นพวกผิวบาง ชอบที่ชื้น  ชอบความสงบ  ชอบกินอาหารพวกที่มีเซลลูโลส เช่น ไม้ เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ผ้า แม้จะชอบกิน แต่มันก็ไม่อยากไปหาอาหารไกลนัก(สังเกตจากการสร้างสวนเห็ดของปลวกเพื่อลดภาระการหาอาหาร)
                ปลวกมีศัตรูธรรมชาติ เช่น มด ลิงชิมแปนซี ไก่ ปลา จิ้งจก ตุ๊กแก กิ้งก่า กบ ฯลฯ  ปลวกงานจะต้องหาอาหารมาเลี้ยงวรรณะอื่น ปลวกใช้วิธีเขี่ย สัมผัสกัน เพื่อการส่งอาหาร และสื่อสาร และปลวกแพ้สารธรรมชาติบางอย่าง
คราวนี้เราลองประมวลมาเป็นวิธีการในการอยู่ร่วมกับปลวกอย่างสันติกันดีกว่า
                1.ก่อนก่อสร้างบ้านควรมีการวางแผนป้องกันปลวกไว้บ้าง เช่น การราดสารป้องกันปลวกไว้ใต้บ้าน เช่น สารทาร์จากน้ำส้มควันไม้  หรือบางคนจะจารบี น้ำมันเครื่อง หรือใช้สารเคมีฉีดพ่น และอาจวางท่อเพื่ออัดน้ำยาเคมี ซึ่งอันนี้ก็สะดวกในการใส่สารเคมีเข้าไปภายหลังสร้างบ้านเสร็จ แต่เท่าที่ได้คุยกับทั้งเจ้าของบ้านและผู้รับเหมาหลายคนพบว่าวิธีนี้ไม่ค่อยสำเร็จเท่าไหร่ เพราะไม่นานท่อเหล่านี้ก็จะอัดน้ำยาไม่เข้า สำหรับคนที่มีสตางค์เยอะ อาจใช้วิธีทำแนวป้องกันรอบอาคารเพื่อป้องกันปลวกเจาะผ่านเข้ามาก็เป็นอีกทางหนึ่ง
2.ในการปลูกบ้านและตกแต่งควรเลือกใช้วัสดุอื่นแทนไม้ หรือถ้าจำเป็นต้องใช้ไม้ควรใช้ไม้เนื้อแข็งแทนไม้เนื้ออ่อน และมีการอาบน้ำยาหรือผ่านการอบมาก่อน
3.ปลวกชอบความชื้น ดังนั้นต้องทำบริเวณรอบๆตัวบ้านไม่ให้ชื้นหรือร่มอยู่ตลอดเวลา ควรต้องตัดแต่งต้นไม้ให้มีแดดส่องถึงในบริเวณต่างๆสลับเวลาในแต่ละวัน และไม่ควรปล่อยให้บริเวณตัวบ้านมีน้ำขังเฉอะแฉะ เพราะนอกจากปลวกจะแอบยิ้มแล้ว เชื้อรา ยุง และเชื้อโรคอื่นๆก็พลอยหัวเราะไปด้วย
                4.ปลวกชอบความสงบ ดังนั้นควรต้องอย่าปล่อยให้บ้านเงียบสงบสงัดนานๆ สังเกตว่าบ้านพักของทางราชการหลายแห่ง มักมีปลวกเข้ามายึดครองเพราะไม่ค่อยได้มีคนเข้ามาใช้งาน บ้านที่มีแต่ผู้สูงอายุอยู่กันแบบเงียบสงบก็เข้าข่ายกลุ่มเป้าหมายของปลวกเหมือนกัน แต่บ้านที่มีเด็กๆคอยวิ่งตึงตัง กระโดดโลดเต้น หรือบ้านที่มีการเล่นดนตรีก็จะไม่ค่อยมีปลวกมารุกราน  ดังนั้นจึงแนะนำว่า ควรจัดปาร์ตี้หรือเปิดเพลงหลายๆโทนสลับกันบ้างเป็นระยะ หรือไม่ก็ติดโมบายที่มีเสียงหลายๆโทน โดยเฉพาะเสียงแหลมไว้รอบๆบ้านจะช่วยลดการมาเยือนของปลวกได้อีกทางหนึ่ง
                5.อย่าปล่อยให้บ้านและบริเวณโดยรอบเป็นที่เก็บอาหารของปลวก  หากจำเป็นต้องเก็บ ก็ควรมีการเคลื่อนย้ายบ่อยๆ เช่น หนังสือก็ควรหยิบมาอ่านกันบ้าง เสื้อผ้าเก่าก็บริจาคไปซะบ้างหรือไม่ก็หยิบมาเวียนใส่
                6.หากเห็นอุโมงค์ดินเป็นทางๆบนผนัง กำแพง เสา หรือพื้นบ้าน ให้รีบขูดออกทันที  แต่ถ้าเจอจอมปลวก และอยู่ไม่ใกล้บ้านนักก็ปล่อยไปก่อน พอกองใหญ่ขึ้นก็นำดินจอมปลวกมาทำปุ๋ยซะเพราะเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์มาก  แต่ถ้าจอมปลวกอยู่ใกล้บ้านให้รีบจัดการทันที
                7.ใช้สารไล่หรือกำจัด ซึ่งมีทั้งสารเคมีและสารธรรมชาติ
                ถ้าเป็นสารเคมีเราก็สามารถเรียกบริษัทกำจัดปลวกได้เลย ซึ่งก็มีทั้งแบบมีพิษรุนแรง หรือมีพิษเบา ซึ่งราคาก็แปรตามพิษที่ตกค้าง ซึ่งการฉีดมักทำกันทุก 3-6 เดือน  อย่างไรก็ดี หากท่านยังนิยมสารเคมี แต่ต้องการลดต้นทุนก็สามารถหาซื้อสารเคมีพวกนี้มาฉีดเองได้
                สำหรับสารธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่ปลอดภัยแต่การใช้ต้องทำกันบ่อยสักหน่อยคือเดือนละครั้ง แต่ต้นทุนก็จะถูกลงอย่างมากและทำได้เอง หรือถ้าไม่สะดวกก็สามารถเรียกบริษัทกำจัดปลวกที่ใช้สารธรรมชาติได้ แต่ราคาก็สูงไม่แพ้บริษัทที่ใช่้สารเคมีเลยทีเดียว
สารธรรมชาติประเภทสมุนไพรไทยหลายตัวมีฤทธิ์ในการกำจัดปลวก10 เช่น หางไหล ตระไคร้หอม ข่า ขมิ้นชัน หัวแห้วหมู พริกขี้หนู น้ำมันงา ขมิ้น และใบสาบเสือ พืชเหล่านี้มีสารสำคัญในการควบคุมประชากรปลวกโดยกลไกที่แตกต่างกันตั้งแต่การยับยั้งการเจริญเติบโตของตัวอ่อน การวางไข่ การกินอาหาร ตลอดถึงการลดการพัฒนาการของจุลินทรีย์ในลำไส้ปลวก ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความอยู่รอดของปลวก แต่ต้องมีการศึกษาถึงปริมาณที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการป้องกันและกำจัด สำหรับสารสกัดธรรมชาติน้ำส้มควันไม้ก็มีฤทธิ์ในการไล่ปลวกเช่นกัน แถมยังไล่พวกมด แมลงสาบ และสัตว์เลื้อยคลานได้ด้วย
งานทดลองของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาพบว่า สารสกัดจากหางไหลที่ความเข้มข้น 10% (หางไหล 10 : น้ำ 90 ) เมื่อฉีดพ่นโดนตัวปลวกจะทำให้ปลวกตาย 100 % ในเวลา 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ดีในความเป็นจริง เราคงไม่สามารถฉีดสารนี้ให้ถูกตัวปลวกได้ เขาจึงแนะนำให้ใช้ในปริมาณที่เข้มข้นขึ้น11
                8.ทำแหล่งอาหารที่น่าสนใจมาล่อแทน ปลวกก็ไม่ต่างจากช้าง จากปลา และจากคน คือถ้ามีอาหารที่สามารถเข้าถึงง่ายและแสนอร่อย ปลวกก็ย่อมไม่อยากจะไปหาอาหารในจุดที่เข้าถึงยากแถมยังมีกลิ่นสารไล่ปลวก ดังนั้น เราควรที่จะทำแหล่งอาหารให้ปลวก ซึ่งก็ง่ายมาก เพียงแค่มีกองเศษไม้ ใบไม้ซึ่งเป็นอาหารที่ปลวกชอบไว้นอกบ้านในจุดที่สงบๆ สัก 2-3 จุด รอบบ้าน มีการรดน้ำบ้างเพื่อเพิ่มความชื้น แค่นี้ก็เรียบร้อย จากหลักการนี้บริษัทกำจัดปลวกหลายแห่งนำมาประยุกต์ใช้โดยวิธีฝังสเตย์ชั่น(station)ไว้รอบๆบ้านในรัศมีที่ใกล้บ้านมาก แล้วใส่ไม้ที่อ้างว่าได้มีการพิสูจน์จากต่างประเทศแล้วว่าปลวกชอบมากลงไปเพื่อล่อให้ปลวกมากิน  อย่างไรก็ดี ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าวิธีนี้จะช่วยให้ปลวกเข้ามาใกล้บ้านมากเกินไปหรือเปล่า แล้วถ้าเราเลิกใช้วิธีนี้คือไม่มีไม้ให้มันกิน มันจะหันมาแทะบ้านเราแทนหรือไม่?? คงไม่มีใครกล้าลอง หรืออีกนัยหนึ่งคือเลิกวิธีการฝังสเตย์ชั่นไม่ได้ ต้องเป็นลูกค้ากันไปเรื่อยๆนั่นเอง
                9.ใช้ศัตรูปลวกจัดการกับปลวก อย่างที่บอกไปแล้วว่าปลวกเป็นอาหารอันโอชะของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งกบ ไก่ นก กระรอก ตุ๊กแก กิ้งก่า มด ฯลฯ  ดังนั้น ควรอนุญาตให้มีสิ่งมีชีวิตเหล่านี้อยู่ในบริเวณบ้านบ้าง อย่าได้ขับไล่ไสส่ง เพราะสิ่งมีชีวิตเหล่านี้แม้จะแย่งผลไม้ในสวนหลังบ้านอย่างเช่นกระรอก หรือพาเพลี้ยมา อย่างเช่น เจ้าพวกมดตัวแสบ  แต่มันก็ช่วยจัดการปลวก และแมลงเม่า และยังช่วยรักษาระบบนิเวศน์ และสร้างความรื่นรมย์ทางอารมณ์ให้เราได้ด้วย
                ที่จังหวัดทหารบกกาญจนบุรีมีการประยุกต์ใช้วิธีฝังสเตย์ชั่นเพื่อเลี้ยงปลวกไว้เป็นอาหารไก่ ทำให้ไก่ที่เลี้ยงตัวอ้วนขนมัน เพราะปลวกมีโปรตีนสูงอีกทั้งไก่ยังมีความแข็งแรง เพราะเป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติและกินอาหารสะอาด ไก่ที่ได้จึงเป็นไก่อินทรีย์ซึ่งขายได้ราคาสูงทีเดียว

นอกจากนี้ ปลวกสืบพันธุ์ตัวเต็มวัยหรือแมงเม่าก็ยังเป็นอาหารอันโอชะของมนุษย์เราด้วย แค่เอาน้ำใส่กะละมังวางไว้ใต้ไฟเวลาที่มีแมลงเม่าบินมา เพื่อให้แมงเม่าตกลงไป จากนั้นช้อนขึ้นมาคั่วในกระทะ ปีกมันก็จะหลุดไปเอง เติมเกลือนิดหน่อย อืม อา-หย่อย ม๊าก มาก
บน : หลุมเลี้ยงปลวก เพื่อใช้เป็นอาหารไก่
ล่าง : ไก่อินทรีย์ กินปลวกอินทรีย์จนตัวอ้วนพี ขนมัน












·        รู้สู้ปลวก : จากใจนักทดลอง
ย้อนกลับไปที่ข้อสงสัยเบื้องต้นว่า “ปลวก” ต้องถูกดำเนินการโดยมืออาชีพเท่านั้นจริงๆหรือ และสารเคมีเป็นวิธีเดียวที่มีประสิทธิภาพอย่างนั้นหรือ
เป็นที่น่าขำและน่าตกใจเป็นอย่างมากเมื่อครั้งที่ย้ายเข้ามาอยู่บ้านหลังใหม่และยังมีโควต้าฉีดปลวกเหลือจากการดิวของผู้รับเหมา  ตอนนั้นเราได้พบกับเจ้าหน้าที่ฉีดปลวก เขาปฏิบัติตัวด้านสุขอนามัยดีมากใส่ถุงมือ ปิดจมูก แต่งตัวมิดชิด ระหว่างที่กำลังฉีดรอบๆบ้าน เขาก็หยุดนิดหนึ่งแล้วบอกว่า “ผมแนะนำว่าอย่าฉีดบริเวณหน้าบ้านเลยครับ เพราะมันใกล้บ่อปลามาก เดี๋ยวเวลาฝนตกน้ำไหลลงไปปลาอาจตายได้”  อ้าว ! แล้วที่เข้าไปฉีดในบ้านเราหล่ะ  ตามขอบบัว บันได โดนเราตรงๆเลยนะเนี่ย  จ๊าก ฉ..ฉ..ฉ้านนน จะตายมั๊ยเนี่ย  ... ทำไมในโฆษณาบอกว่าปลอดภัยหล่ะ แง้ๆๆ
เอาหล่ะ ฉีดไปแล้วก็แล้วกันไป จากวันนั้นเป็นจุดเริ่มต้น ถึงวันนี้ที่บ้านก็ได้มีโอกาสทดสอบความรู้งูๆปลาๆ ในการอยู่กับปลวกอย่างสันติ ด้วยการใช้น้ำส้มควันไม้ราดรอบๆบ้านทุกเดือน ใช้โมบายเสียงสูงต่ำแขวนรอบบ้านทั้งด้านชั้นบนชั้นล่าง และอีกอย่างคือการไม่ทิ้งหรือเผาเศษใบไม้ แต่ใช้วิธีทำกองปุ๋ยให้ทั้งปลวกและแมลงได้อยู่กันอย่างมีความสุข (ลูกชายและเพื่อนลูกชายก็มีความสุขจากการหาด้วงจากกองปุ๋ยหมักนี้ด้วย)



ถึงวันนี้ก็เข้าปีที่ 4 แล้ว(ปี 2556) แม้จะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าจะได้ผล 100% หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ มันยังได้ผลอยู่ และจากการค้นคว้าข้อมูลข้างต้นทำให้รู้จักปลวกมากขึ้น ก็จะเป็นแนวทางในการนำมาใช้ประกอบกันเพื่อความปลอดภัยและสามารถอยู่กับปลวกได้อย่างสันติมากยิ่งขึ้น ตามที่ท่านซุนวูกล่าวไว้ว่า " รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้งยังมิใช่ยอด สยบข้าศึกได้ไม่ต้องรบ เป็นยอดนักรบ "  ดังนั้น หากเรารู้จักที่จะเรียนรู้และอยู่ร่วมกับปลวกอย่างสงบ  สยบปลวกได้โดยไม่ต้องรบ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ทั้งต่อโลกนี้และต่อเราเอง เพราะอย่างไรเสีย ปลวกตัวแรกที่เกิดขึ้นก็มีอายุมากกว่ามนุษย์ตั้ง 200 ล้านกว่าปี11 เขาอาบน้ำร้อนมาก่อน สู้อย่างไรก็ไม่ชนะหรอก ข้อยซิบอกให้เด้อ
ขอบคุณข้อมูลจาก
2)   http://www.school.net.th/library/snet4/anatomy/bug.htm
3)   http://www.amazodd.com/tag/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87/
5)  กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
6)  แมลงตัวแรกของโลกเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 300 ล้านปีมาแล้ว ปลวกจัดเป็นแมลงชนิดหนึ่งซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากแมลงดึกดำบรรพ์ E.M.Bordy แห่งมหาวิทยาลัย Witwatersrand ในแอฟริกาใต้ ได้ขุดพบฟอสซิลปลวกตัวแรกของโลกซึ่งมีอายุประมาณ 220 ล้านปีมาแล้ว ทำให้รู้ว่าปลวกโบราณมีรูปร่างคล้ายแมลงสาปในปัจจุบันมาก แต่มีขนาดเล็กกว่า5   ส่วนคนสปีชีส์แรกที่นับได้ว่าเป็นมนุษย์ ปรากฏขึ้นในแอฟริกาเมื่อ 2,200,000 ปีก่อน ชื่อว่าสปีชีส์ Homo habilis  แต่ถ้าอยากจะนับตั้งแต่ยังไม่คล้ายมนุษย์เท่าไหร่นานที่สุดเท่าที่พบก็ 6-7 ล้านปีก่อนเท่านั้น
7)  ปลวก...แมลงร้ายใต้บ้านเราhttp://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=737
8)  ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับปลวกhttp://www.powerpestgroup.com/index.php?lay=show&ac=article&Ntype=1&Id=47877
10) การทดลองเรื่องอาหารและสถานที่ที่ปลวกชอบ สำนักงาน กศน.อำาเภอเกาะคา 
11) บทความวิชาการ เรื่อง ปลวกและการป้องกันกำจัดโดยใช้สารสกัดจากพืช โดยงานอารักขาพืช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
http://www.lartc.rmutl.ac.th/atri2/updown/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%8A...pdf