บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

อร่อยสุดสุด....กับเห็ดสดสด (จากมือเรา)



รุ่งทิพย์ สุขกำเนิด
          ด้วยความเป็นคนชอบทานเห็ดโดยเฉพาะเห็ดฟาง ฉันจึงมักหาความรู้เรื่องการปลูกเห็ดฟางอยู่เสมอ เห็นหนังสือที่ไหนก็มักจะหยิบอ่านเป็นประจำ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ลงมือปฏิบัติสักที แค่คิดถึงโรงเรือน วัสดุปลูก การหาซื้อเชื้อเห็ด  การดูแล การให้น้ำ ฯลฯ  แค่นี้ ความคิดที่จะปลูกเห็ดฟางทานเองก็เป็นอันถูกพับใส่ลงไปในหนังสือแล้วใส่กระเป๋าอีกที
          จนลูกสาวคนโตเรียนอยู่ชั้นป.4  เขาเลือกทำรายงานเรื่อง “เห็ด”  และตอนนำเสนอก็ต้องมีก้อนเห็ดพร้อมดอกมาโชว์ด้วย พอเสร็จงานคุณครูจึงให้นำกลับบ้านมาเลี้ยงต่อ 3 ก้อน  ด้วยความที่เราไม่มีความรู้อะไรสักอย่าง  รู้แต่ว่ามันเป็น ”สิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ” และชอบที่ชื้นๆ เราก็เลยวางมันไว้ที่ต่ำๆในห้องน้ำ   เราอาบน้ำประปา เราก็รดน้ำประปาให้มันด้วย ก็แบบว่า รดบ้างไม่รดบ้าง ด้วยกลัวว่ามันจะชื้นเกินไป เดี๋ยวเห็ดจะขึ้นราหรืออาจมีโรคแทรกซ้อนตายไปก่อน อะไรทำนองนี้  ทุกคนในบ้านจะผลัดกันมาเฝ้าดูอาการของมัน คอยวิพากวิจารณ์ คอยลุ้นว่าเมื่อไหร่จะออกดอกให้เราได้ชื่นใจสักที  
จนกระทั่งวันหนึ่งซึ่งผ่านไปเกือบ 3 เดือนให้หลังนับจากวันที่ได้ก้อนเห็ดมา เรียกว่า “เกือบโยนทิ้งไปแล้ว” มันก็ออกดอกมาให้เราได้ลิ้มรสจนได้ค่ะ สรุปรวมว่า เราได้มา 9 ดอกจากเชื้อเห็ด 3 ก้อน แค่นั้นจริงๆค่ะ   อ้อ ! จะพูดว่า “เรา” ที่ได้ลิ้มรส ก็คงไม่ถูกต้อง เพราะคนที่ได้ทานก็มีแต่เจ้าตัวเล็กทั้งสองเท่านั้น จะแย่งเขาได้ยังไงค่ะ ก็มันมีแค่ 9 ดอก แถมไม่ได้ออกพร้อมกันด้วย ดังนั้น เวลานำมาทำเป็นอาหารก็เลยต้องมีเทคนิคเพิ่มปริมาณค่ะ ด้วยการแบ่งเห็ดออกเป็นเสี้ยวๆ และนำมาชุบแป้งทอด อร่อยไปตามๆกันเลยค่ะ อันที่จริงบ้านเราก็ซื้อเห็ดมาทานกันค่อนข้างบ่อย แต่เด็กๆกลับไม่ค่อยจะทานกัน ถ้าจะสรุปว่า “ความอร่อยที่ได้เป็นผลมาจากการรอคอยหรือเป็นผลจากความภาคภูมิใจ” ก็ถือว่าน่าจะสรุปไม่ผิดใช่ไหมคะ
แต่สำหรับฉันแล้ว แม้เด็กจะภาคภูมิใจ แต่ฉันก็อดสงสัยไม่ได้ว่า “ทำไมการเลี้ยงเห็ดมันช่างยากขนาดนี้” และถ้าเห็ดออกดอกน้อยขนาดนี้จริง คนปลูกจะอยู่ได้อย่างไร ?
ปีถัดมา ฉันได้มีโอกาสไปฟาร์มเห็ดแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี  ด้วยความตื่นตาตื่นใจกับจำนวนก้อนเห็ดมากมายที่เขาเขี่ยเชื้อไว้เพื่อรอส่ง  และความมีอัธยาศัยไมตรีของพนักงานที่พาเดินชมจนทั่ว ระหว่างเดินไป ฉันก็ขอความรู้ไปเรื่อยๆ จนสุดท้าย “ก็ยังไม่มั่นใจหรอกค่ะ” ว่าตัวเองจะปลูกเห็ดรอด  แต่ก็ลองดูค่ะ ถ้าไม่เริ่มก็คงไม่รู้ว่าจะรอดหรือเปล่า  ฉันจึงกัดฟันควักสตางค์ซื้อเชื้อเห็ดมา  40 ก้อน เป็นพวกนางฟ้าภูฐาน และเป๋าฮื้อ พร้อมเชือกแขวน โดยหวังว่าจะได้ทานเห็ดฝีมือตัวเองกะเขาบ้าง
เมื่อได้ก้อนเห็ดมา ปัญหาก็เกิด เพราะไม่รู้ว่าจะนำเจ้าก้อนเชื้อนี้ไปแขวนที่ตรงไหนดี  สอดส่องสายตาไปมา ก็พบซุ้มไม้ที่ตั้งใจทำไว้ให้ฟักเขียวเลื้อย  แต่ตอนนี้ฟักเขียวยังไม่โต ขออาศัยทำโรงเห็ดไปพลางๆก่อนก็แล้วกัน  แต่ซุ้มที่ว่ายังมีแค่เสา 4 ต้นกะคานบนเท่านั้น  ครั้นจะหาจากมามุงก็ทำไม่เป็น  แค่ปลูกพอหนุกหนาน จะจ้างใครมาทำก็คงไม่คุ้ม นึกไปนึกมา เอาแบบง่ายๆก็แล้วกัน ฉันจึงลงทุนซื้อแสลนมาทำผนังและหลังคา ผูกง่ายๆด้วยลวดพออยู่ จากนั้นก็เอาเสื่อเก่าๆ หรือไวนิลที่ไม่ใช้แล้วมาผูกกันเฉพาะด้านที่แดดส่องตรงๆเพื่อลดความร้อน  ก็จะเอาอะไรมากมายกับสาวๆสองคนหล่ะคะ ได้แค่นี้ก็โอเคแล้ว  เล่นเอาหอบเหมือนกัน

                     ภาพที่ 1 กระติ๊บมุดโรงเรีอนเห็ด

สำหรับก้อนเห็ดที่ซื้อมา เชื้อยังเดินไม่เต็มถุงจึงต้องรออยู่หลายวัน  เมื่อเชื้อเดินเต็มจะสังเกตว่ามีสีขาวของเชื้อกระจายทั่วก้อน  จากนั้นก็ถึงเวลาเปิดปากถุงกันแล้ว
ตอนไปซื้อก้อนเชื้อ ฉันจะพาเด็กๆไปด้วย เขาเองก็ได้รับความรู้มาบ้างแล้ว  ตอนนี้ถึงเวลาลงมือจริง ไม่รอช้าน้องแดนคว้าช้อนแสตนเลสสั้น  เช็ดปลายด้ามด้วยแอลกอฮอล์  พี่หน่อยเอาจุกออก น้องแดนแคะปากถุงก้อนเชื้อ เอาข้าวฟ่างและสำลีที่อุดปากออก จากนั้นนำไปขึ้นคาน เอ้ย เสียบไว้ในเชือกที่แขวนไว้กับคาน  รดน้ำ เป็นอันเรียบร้อย

                          ภาพที่ 2 น้องแดนเปิดปากถุงเห็ด

ไม่นานเกินรอค่ะ หลังจากแขวนประมาณ 1 สัปดาห์ คราวนี้เห็ดแย่งกันออกดอกใหญ่เลย มีให้ได้เก็บทุกวัน โอ มันยากจะอธิบายจริงๆ ว่าเห็ดสด มันสุดยอดยังไง ทั้งกรอบ ทั้งเด้ง ผิดกับที่เราซื้อมาจากตลาด เพราะมันช้ำจากการขนส่งและทับๆกันมา  เมนูเด็ดๆ ทั้งหลายถูกงัดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นต้มยำ ต้มข่า ชุบแป้งทอด แกงเลียง ยำเห็ด ผัดผักรวมเห็ด กระเพราะเห็ด น้ำพริกเห็ด สารพัดเห็ด เมื่อออกมากๆ ทานไม่ทันก็ต้องแบ่งญาติ แบ่งเพื่อน ใครได้รับไปจะออกปากชื่นชมกันทุกคนว่า “สด อย่างที่ไม่เคยทานมาก่อน”     
 ฉันลองเก็บสถิติในการปลูกครั้งแรกของเราก็พบว่าเห็ดภูฐาน 20 ก้อนซึ่งลงทุนซื้อมาในราคา 8 บาท (ราคาขึ้นกับชนิดของเห็ดและสถานที่ขาย) สามารถให้ผลผลิตได้ถึง 5.2 กก. ซึ่งตลาดต่างจังหวัดขายประมาณ กก.ละ 80 บาท (ราคาขึ้นกับสถานที่ขาย) โอ้โห กำไรเหนาะๆ 200 บาท  ไม่รวมค่าความอิ่มเอมใจ
บางคนอาจเถียงว่า คิดเข้าข้างตัวเองมากไปหรือเปล่า เพราะยังไม่ได้คิดค่าค่ารถ ค่าโรงเรือน ค่าสายห้อย และค่าเสียเวลาในการรดน้ำเลย  อันนี้ขออธิบายดังนี้ค่ะ สมมติว่าก้อนเชื้อเห็ดออกดอกทุกวัน น่าจะออกดอกนานประมาณ 40 วัน ดังนั้น ค่ารถซื้อก้อนเชื้อเห็ด(1 ครั้ง) ขอหักลบกับค่ารถที่ไปซื้อกับข้าว (40 ครั้งที่เฉลี่ยกับการซื้อกับข้าวอื่นๆ)  ส่วนค่าโรงเรือนอันนี้อาจจะนับไม่ได้ทีเดียว เพราะโรงเรือนที่ฉันสร้างขึ้นมานั้นใช้งานได้หลายปี(ตอนนี้ใช้มา 2 ปีแล้ว) แถมยังใช้ประโยชน์อย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ปลูกฟักเขียว บวบ และผักปลัง และบางครั้งก็ใช้เป็นแหล่งอนุบาลกล้าไม้ที่เพิ่งลงถุงใหม่ๆ   สำหรับค่าสายห้อยก็ใช้มา 2 ปีแล้วเช่นกัน และยังใช้ต่อไปได้อีก หากสายห้อยอันเก่าเสีย คราวต่อไปเราก็จะไม่ยอมเสียแพง โดยสามารถประยุกต์เอาวัสดุเหลือใช้มาทำเองได้   ส่วนค่าเสียเวลารดน้ำอันนี้ขอเทียบกับค่าเสียแรงในการเดินซื้อและหิ้วถุงเห็ดจากตลาดกลับบ้านก็แล้วกันนะคะ
                          ภาพที่ 3 น้องแดนช่วยแขวนเห็ด

ดูเหมือนง่ายใช่ไหมคะ  แต่ถ้าไม่รู้เทคนิคก็อาจเป็นเรื่องที่ยากอยู่เหมือนกัน เหมือนครั้งแรกที่เคยลองเลี้ยง ซึ่งแทบจะได้ผลผลิตเอาซะเลย เทคนิคเล็กๆน้อยๆที่ได้จากประสบการณ์ 2 ปี ในตาราง น่าจะช่วยมือใหม่ได้บ้าง อย่างน้อยก็น่าจะช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตและช่วยยืดอายุก้อนเชื้อได้ ลองทำตามดูนะคะ
                        ภาพที่ 4 กระติ๊บหน้าบานเป็นจานเห็ด

เห็ดจัดเป็นราชั้นสูงกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีวิวัฒนาการสูงว่าราอื่นๆมีวงจรชีวิตที่ซับซ้อนกว่าเชื้อราทั่วไป เริ่มจากสปอร์ซึ่งเป็นอวัยวะหรือส่วนที่สร้างเซลขยายพันธุ์ เพื่อตกไปในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมจะงอกเป็นใย และกลุ่มใยรา (Mycelium) เจริญพัฒนาเป็นกลุ่มก้อนเกิดเป็นดอกเห็ดอยู่เหนือพื้นดินบนต้นไม้ ขอนไม้ ซากพืช มูลสัตว์ ฯลฯ เมื่อดอกเห็ดเจริญจะสร้างสปอร์ซึ่งจะปลิวไปงอกเป็นใยรา และเป็นดอกเห็ดได้อีก หมุนเวียนเช่นนี้เรื่อยไป น้องแดนไทจึงสรุปแบบเด็กว่า “เห็ดคือจู๋ของรา”





องค์ประกอบคุณภาพ
เทคนิค
1.หาก้อนเชื้อที่แข็งแรง
1.ควรเลือกก้อนเชื้อที่มีเชื้อเดินเต็มถุงจากที่ฟาร์ม
2.เราไม่สามารถบอกได้ว่าเชื้อถุงไหนแข็งแรงหรือไม่แข็งแรง  แต่ต้องทดลองเลือกฟาร์มแล้วเปรียบเทียบผลผลิตที่ได้ หรือเปรียบเทียบก้อนเชื้อที่เสียหายดู
3.ฟาร์มที่ผลิตก้อนเชื้อดีมีคุณภาพจะขายราคาสูงคืออยู่ที่ก้อนละประมาณ 8 บาท (ขึ้นกับชนิดของเห็ด) ส่วนฟาร์มที่ก้อนเชื้อเดินเพียงนิดเดียวจะขายอยู่ที่ก้อนละ 4 บาท แต่ต้องมาบ่มเองนานกว่า 1 เดือน เท่าที่ทราบก้อนเชื้อจะเสียหายประมาณ 30-40  % ของที่ซื้อมา
2.มีเห็ดให้ทานได้นานและหลากหลาย
1.หากต้องการให้มีเห็ดทานได้นานๆต้องเลือกก้อนเชื้อที่เดินไม่เท่ากัน เพื่อให้เห็ดทยอยออก หากเลือกก้อนเชื้อที่เดินในถุงเท่าๆกันมันก็จะดอกพร้อมๆกัน จนกินไม่ทันทีเดียว
2.เลือกเห็ดหลายประเภท จะได้มีเห็ดอร่อยๆหลายแบบไว้ทาน  แต่ตรงนี้ต้องลองถามเจ้าของฟาร์มดู เพราะเห็ดแต่ละชนิดก็ชอบสภาพในโรงเห็ดไม่เหมือนกัน
3. พันธุ์ที่เลี้ยงง่าย ศัตรูน้อย
ขอแนะนำ นางรม นางฟ้า ภูฐาน เห็ดกระด้าง เป๋าฮื้อ
4.สภาพโรงเห็ดที่ดี
1.สะอาด ไม่มีหนู แมลงสาป แมลงหวี่ มด ปลวก เข้ามารบกวน
2.ความชื้นเพียงพอ ไม่แห้งหรือเปียกแฉะเกินไป หากแฉะเกินไปจะมีราอื่นมารบกวน
3.อากาศถ่ายเทสะดวก
5.น้ำใช้ที่เหมาะสม
ควรใช้น้ำสะอาดที่สภาพเป็นกลาง ถ้าเป็นน้ำฝนที่รองไว้จะดีมาก  แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้น้ำประปา ต้องพักทิ้งไว้ 3-4 วัน (เห็ดไม่ชอบคลอรีน)
6.วิธีการเก็บดอกเห็ด
1.ควรดึงถึงโคน ไม่ควรใช้วิธีตัดหรือหัก เพราะจะทำให้ส่วนโคนที่เหลือค้างอยู่เน่าและเป็นต้นกำเนิด ราและแมลงหวี่
2.ดอกเห็ดที่บานมากเกินไปจะขอบดอกมักจะแห้ง และดูไม่น่าทาน แต่ถ้าเล็กเกินไปก็จะไม่ได้น้ำหนัก
7.วิธีการเก็บรักษาดอกเห็ด
ดอกเห็ดที่เก็บแล้ว ไม่ต้องล้าง ให้ใช้มีดแต่งให้สะอาด จากนั้นใส่ถุงพลาสติก โดยไม่ใสเห็ดมากเกินไป  รัดปากให้ถุงพองลม ใส่ตู้เย็นช่องธรรมดา สามารถเก็บได้นานประมาณ 2 อาทิตย์ในสภาพสดใหม่

แดนกับด้วง



รุ่งทิพย์ สุขกำเนิด
          การทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราเข้าถึงธรรมชาตินี่เป็นเรื่องยากจริงๆ หากไม่ได้รับการฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก  มีน้องที่ทำงานคนหนึ่งกว่าจะเห็นว่าที่ออฟฟิตปลูกต้นมะละกอก็ผ่านไปเกือบ 2 เดือนแล้ว  ทั้งๆที่ลงมานั่งทานข้าวริมสวนกันเกือบทุกเที่ยง
          อันที่จริงวัยเด็กเป็นวัยที่รักการเรียนรู้มาก โดยเฉพาะการเรียนรู้ธรรมชาติ จำได้ว่าตอนที่ครอบครัวเราอยู่ที่เดนมาร์ก ตอนนั้นลูกชายคนเล็กอายุเพียงขวบครึ่ง แม้เขาจะยังพูดได้ไม่กี่คำ  แต่ถ้าบอกว่าทานนมเสร็จแล้วให้ไปหยิบเสื้อผ้าและรองเท้าเพื่อแต่งตัวไปดูเป็ด เท่านั้นแหละค่ะ ทุกอย่างจะเสร็จอย่างรวดเร็วโดยคุณแม่ไม่ต้องออกแรงเพราะเจ้าตัวเล็กจะให้ความร่วมมืออย่างดีเยี่ยม
          เช่นเดียวกับตอนที่ลูกสาวคนโตอายุ 3 ขวบ (ช่วงนั้นยังไม่มีเจ้าตัวเล็ก) เขาจะชอบเก็บธรรมชาติมาก  ทั้งดอกไม้ ใบไม้ แมลง ก้อนหิน ฯลฯ ลองนึกภาพตามดูนะคะ เด็กน้อยวัย 3 ขวบเดินแบกไม้สวิงจับแมลงไปช้อนก้อนหินในสระน้ำหน้าธนาคาร ว่าจะน่ารักขนาดไหน
          ความสนใจของเด็กๆ มักจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อาจจะตามกระแสของเพื่อน  ความสนใจ และการรับรู้ในเรื่องที่โดนใจ และบางเรื่องก็อาจเป็นเรื่องที่ถึงวัยค่ะ
          ตอน 2 ขวบกว่าเราไปงานแต่งงานที่โรงแรมแห่งหนึ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา โรงแรมก็หรู วิวก็สวย เจ้าบ่าวเจ้าสาวและญาติๆเยอะแยะทักทายหยอกล้อ แต่น้องแดนไม่สนใจว่าใครจะทำอะไร เอาแต่เก็บก้อนหินที่เขาประดับสวน ตรงโน้นตรงนี้ สนุกอยู่คนเดียวเลยค่ะ
ตอนอยู่ชั้น อ.3 ก็สนใจเบนเทนมาก ขนาดน้องแดนไม่เคยดูการ์ตูนเรื่องนี้มาก่อน แต่น้องแดนกลับรู้จักชื่อตัวเอกเรื่องนี้ทุกตัว ไม่ว่าจะแปลงร่างเป็นตัวอะไร ปล่อยอาวุธอะไรได้ รู้หมด  ตอนนี้พอใครถามถึงเบนเทน น้องแดนจะบอกว่า “ไม่ชอบแล้ว  น่าเบื่อมาก”  
พอขึ้น ป.1 คราวนี้หันมาสนใจการเลี้ยง “ด้วง” ค่ะ  เรื่องของเรื่องก็เริ่มจากปีนี้มีวิชาที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง”วันเวลาที่เปลี่ยนแปลง” เด็กๆจึงได้รับคำสั่งให้เลี้ยงอะไรก็ได้ที่สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงในเวลา 3 สัปดาห์  สองคนแม่ลูกก็ช่วยกันคิดใหญ่เลยค่ะ มองไปรอบๆบ้าน อะไรดีๆ จิ้งจก (หาไข่ไม่เจอ)  หอยทาก(ถูกน้ำท่วม จนน่าจะสูญพันธุ์ไปจากบ้านนี้แล้ว)  ผีเสื้อ (บอบบาง)  แมงมุม (กึ๋ย)  ไส้เดือน (ยังไม่กลับมาจากการหนีน้ำท่วม)  หนอน (น่าสนใจ แต่เพื่อนๆคงเลี้ยงกันเยอะ)  ลูกนก(อย่าจับมันเลยลูก สงสารมัน) ปลา(ที่บ้านมีแต่ปลาทับทิมนะ เลี้ยงได้อ๊ะเปล่า?)  ลูกไก่ (ต้องไปหาซื้อนะลูก ไม่รู้ไม่ซื้อที่ไหนด้วย) โอ๊ย...เอาตัวอะไรดี  ต้องส่งชื่อพรุ่งนี้แล้ว
และแล้วเสียงสวรรค์ก็ดังขึ้นจากพี่หน่อยที่กำลังขุดดินปลูกต้นไม้  “เลี้ยงเจ้าหนอนในดินนี่ก็แล้วกัน แปลกดี”  น้องแดนรีบไปรับทันที  จากนั้นกระบวนการเรียนรู้ก็เริ่มขึ้น จากการสังเกตและช่วยกันจินตนาการ เช่นว่า เราต้องเลี้ยงในกล่องใสจะได้เห็นตัวมันได้บ้าง   ต้องเอาดินแถวนี้ใส่ไปด้วยมันจะได้มีอาหารกิน   เจาะรูให้ที่ฝากล่องด้วยไม่งั้นมันจะหายใจไม่ออก   น่าจะต้องพรมน้ำให้มันด้วยไม่งั้นผิวมันจะแห้ง ฯลฯ
จากนั้นน้องแดนก็ขอให้แม่ช่วยเปิดกูเกิลดู  ให้ลองคีย์คำต่างๆ ในที่สุด เราพบว่าเจ้าหนอนที่ได้คือ “ด้วง” อะไรสักอย่างหนึ่ง  ไม่รอช้า วันถัดมา น้องแดนก็ชวนแม่ไปหาหนังสือเล่มเก่าๆที่มี  เพราะเขาจำได้ว่าที่บ้านเรามีเรื่องด้วงอยู่หลายเล่ม ก็เลยได้เวลาฝึกอ่าน และช่วยกันอ่าน สนุกสนานกันใหญ่ ได้ความรู้เยอะเลยค่ะ จากแต่ก่อนที่อ่านแบบไม่มีจุดหมาย  พวกเราช่วยกันทำการบ้านสรุปความรู้เรื่อง “ด้วง” ส่งคุณครู  โดยค้นจากหนังสือตั้ง 8 เล่มที่มีอยู่โดยน้องแดนไม่บ่นสักคำ แถมยังเขียนและวาดรูปเองถึง  2 ชั่วโมงติดกัน
แต่ก็มาถึงเงื่อนไขสำคัญที่ว่า “ต้องสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงในเวลา 3 สัปดาห์ “ แต่จากการค้นข้อมูลพบว่า ด้วงส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพวกตัวใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงแต่ละช่วงนานหลายเดือน บางทีเป็นปีทีเดียว  ดังนั้น เราก็ต้องหาวิธีที่จะพิสูจน์ว่า ด้วงของเราต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
คิดไปคิดมา ก็ได้ไอเดียว่าควรต้องจับด้วงมาวางบนไม้บรรทัดเพื่อวัดความยาวตั้งแต่ตอนเริ่มเลี้ยง และวัดอีกทีตอนก่อนส่งงาน และที่สำคัญควรถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐานด้วย แม่จึงได้โอกาสสอนเรื่อง “การวัด” และ “หน่วยการวัด” ไปในตัว

เห็นน้องแดนสนใจเลี้ยงด้วงมาตั้งสามเดือนแล้ว และยังมีทีท่าว่าจะเลี้ยงต่อไปอีก แม่ผู้ใจดีเลยกัดฟันซื้อหนังสือ “การเลี้ยงด้วง” เล่มใหญ่ให้เลยค่ะ  และซื้อเรื่อง “แมลงศัตรูพืช” เป็นของขวัญให้ตัวเอง  น้องแดนดีใจมากเลยค่ะ ปัจจุบันยึดทั้งสองเล่มไปครอง เปิดแล้วเปิดอีก เกือบทุกวัน (จุ๊ๆๆๆ แม่ยังไม่มีโอกาสได้เปิดเลยค่ะ) พอเห็นแมลงในสวน เขาก็จะบอกชื่อแมลงออกมาเสมอ หรือไม่ก็ชวนกันไปเปิดหนังสือเพื่อดูชื่อแมลง ไม่ใช่มีแต่น้องแดนเท่านั้นนะคะที่สนใจเรื่องด้วง  เพื่อนๆอีกหลายคนก็สนใจไม่แพ้กัน เมื่อคนที่สนใจมาเจอกัน ความรู้ก็ได้ถูกแลกเปลี่ยน สังเกตได้จากความรู้ที่เพิ่มขึ้น เช่น น้องแดนสามารถบอกเพศของหนอนและตัวด้วงได้  บอกได้ว่าเป็นหนอนระยะที่เท่าไร  บอกได้ว่าหนอนตัวนี้เป็นหนอนของด้วงอะไร หนอนด้วงบางชนิดกัดมดขาดสองท่อน(น้องแดนค้นพบโดยบังเอิญระหว่างนำหนอนด้วงมาเล่นด้วยตอนเย็นๆ  เพื่อนๆบอกว่าด้วงของน้องแดน “เทพมาก”  ขอให้ช่วยหามาฝากด้วย)  เป็นต้น  ความรู้เรื่องด้วงของน้องแดนนี่เทพจริงๆค่ะ ไม่น่าเชื่อว่า เด็ก ป.1 จะรู้มากมายขนาดนี้ในเวลาไม่นาน จะเป็นความรู้ที่ถูกต้องหรือเปล่า แม่ไม่สนใจค่ะ  แค่เขาได้ฝึกฝนนิสัยรักการอ่านและได้เรียนรู้มากขึ้นด้วยตัวเขาเอง ก็น่าปลื้มใจมากแล้ว จริงไหมคะ
สัปดาห์ก่อน มีมดมาขึ้นกล่องด้วงซึ่งน่าจะเป็นเพราะหนอนด้วงในกล่องนั้นตายซะแล้ว  พอน้องแดนเห็นก็จัดการปีนตู้เพื่อไปหาถ้วยพลาสติกเล็กๆมาทำเครื่องป้องกันมดที่ขาโต๊ะ  พอหันมาอีกทีน้องแดนเทแป้งซะเกือบหมดกระป๋อง ที่แท้ก็เลียนแบบวิธีป้องกันมดจากแม่นี่เอง เฮ้ย แม่แอบปาดเหงื่อเล็กน้อย แต่คราวหน้าใช้น้อยๆก็เอาอยู่นะลูก
ตอนนี้ แม้จะได้ส่งการบ้านไปแล้ว แต่น้องแดนยังคงเลี้ยงด้วงต่อไป และยังพลอยทำให้ปู่ย่ามีกิจกรรมยามว่างคือคอยหาหนอนและตัวด้วงมาให้หลานเลี้ยง  เพราะน้องแดนจะขอร้องกึ่งชักชวนให้ปู่ย่าช่วยไปขุดหาด้วงตามดินตามต้นไม้มาให้ 
การเลี้ยงด้วงของน้องแดนยังไม่จบแค่นี้นะคะ  ตอนนี้มีจินตนาการใหม่อะไรซ่อนอยู่ในหัวน้อยๆของเขา ซึ่งแม่ก็ยังไม่อาจทราบได้  แต่ที่เห็นจะเป็นการ “ถอดประกอบชิ้นส่วนตัวด้วง”  ซึ่งเป็นของเล่นเก่าเมื่อสองสามปีก่อนนี้ ที่น้องแดนไม่สามารถประกอบได้เอง ซึ่งแม่ก็ลืมไปแล้ว ตอนนี้มันถูกค้นขึ้นเล่นอีกครั้ง อย่างคล่องแคล่ว  และเจ้าตัวด้วงนี้จะถูกวางไว้ที่โต๊ะเลี้ยงหนอนด้วงเสมอ  อาจจะเป็นกลยุทธ์ให้หนอนด้วงไม่เหงา เพราะคิดว่ามันมีแม่ด้วงอยู่ใกล้ๆ ก็เป็นได้ ใครจะรู้
เห็นไม๊คะ แค่กิจกรรมโดนๆ  “เลี้ยงด้วง” ก็ช่วยให้เด็กมีความสนุก ได้แสดงความอ่อนโยน  ฝึกความช่างสังเกต  ฝึกการค้นคว้าหาข้อมูล ฝึกกล้ามเนื้อมือที่ประสานกับสายตา  เรียนรู้การขอร้อง การให้ และปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน กับญาติผู้ใหญ่ และอื่นๆอีกมาก  สรุปว่ากิจกรรมนี้สนุกได้ก็เพราะตรงกับความสนใจ  มีเพื่อน  และถึงวัย  และหากจะให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เราพ่อแม่ทั้งหลายก็อย่าลืมสนับสนุนความรู้เพิ่มเติมให้ด้วยนะคะ  วันเวลาไม่เคยคอยใคร หากสนับสนุนช้าไปอาจไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ลงทุน  สำหรับงานนี้เราลงทุนแค่ค่าหนังสือและเวลา แต่ได้มาเกินคุ้ม ไม่ลองไม่รู้นะคะ

ไม้มงคล: กุศโลบายให้โลกเย็น



เดชรัต สุขกำเนิด
          กุศโลบายหนึ่งมักจะใช้ได้ผลในสังคมไทยคือ การเติมคำว่า “มงคล” เข้าไว้ข้างหน้าหรือข้างหลังสิ่งนั้น และด้วยความเชื่อว่าเรื่องความเป็น “มงคล” ก็เป็นผลให้สิ่งเหล่านั้นเป็นที่นิยมมากขึ้น
ไม้มงคลก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของสิ่งที่เป็นมงคลเช่นกัน
          คำว่า “มงคล” หมายถึง “ทางก้าวหน้า ความสุข ความเจริญ” สำหรับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย สถาน พ.ศ ๒๕๒๕ ให้ความหมายไว้ว่ามงคล คือเหตุที่นำมาซึ่งความเจริญ”
          เพราะฉะนั้น คำว่า “ไม้มงคล” จึงหมายถึง การปลูกต้นไม้ที่จะนำมาซึ่งความเจริญ
          โดยทั่วไป ในกรณีของไม้มงคลในสังคมไทยก็มักจะเน้นคำพ้องเสียง เช่น ต้นขนุน หมายว่าจะมีคนมาช่วยสนับสนุน ต้นกันเกรา หมายว่า จะช่วยปกป้องภยันตรายต่างๆ ต้นพะยุง หมายว่า จะสามารถพยุงตนเองและครอบครัวให้อยู่รอดปลอดภัย เป็นต้น
          นอกจากนี้ ไม้มงคลบางชนิด อาจได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอื่น เช่น ทับทิมก็เป็นไม้มงคลที่ใช่ในงานพิธีกรรมต่างๆ ของคนจีน
          จริงๆ แล้วความเป็น “มงคล” ของต้นไม้ คงมิได้ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงเรียงนามของต้นไม้แต่ละชนิดเท่านั้น แต่ต้นไม้ทุกต้นยังช่วยให้ร่มเงาและความร่มเย็น และเป็นแหล่งอาหารสำคัญสำหรับผู้คนและสรรพสัตว์มาช้านาน
ที่สำคัญสำหรับภาวะโลกร้อนคือ ต้นไม้สามารถผลิตออกซิเจนและช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศ การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสังเคราะห์แสงที่ต้นไม้จะดูดและแปลงคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นคาร์บอนในรูปของแป้งและเซลลูโลส ที่สะสมในต้นไม้ทั้งในลำต้น ราก กิ่งก้านและใบ
มวลของต้นไม้ทุกๆส่วน ทางวิชาการเรียกว่า มวลชีวภาพ ซึ่งเป็นมวลสารที่ได้มาจากการดูดซับและการแปลงสภาพคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นคาร์บอน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อต้นไม้เติบโตขึ้น การเติบโตของต้นไม้ก็มาจากการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ผ่านการสังเคราะห์แสงนั่นเอง
          ดังนั้น ต้นไม้จึงช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของการเกิดภาวะเรือนกระจกหรือภาวะโลกร้อน แทนที่จะปล่อยให้ไปเผ่นผ่านในชั้นบรรยากาศ เราก็ดูดซับกลับมาอยู่ในเนื้อไม้ และมวลชีวภาพอื่นๆ
                             ภาพที่ 1 ต้นโพธิ์และต้นตาลเติบใหญ่อยู่คู่กัน
เมื่อต้นไม้มีประโยชน์เช่นนี้ การปลูกต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นต้นอะไร จึงเป็นไม้มงคลสำหรับโลกของเรา
ในทางวิชาการ เราสามารถคำนวณปริมาณการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ ผ่านการคำนวณปริมาณคาร์บอนที่สะสมอยู่ในมวลชีวภาพของต้นไม้นั่นเอง โดยในขั้นตอนแรก เราจะต้องคำนวณปริมาณคาร์บอนที่สะสมอยู่ในต้นพืช โดยการวัดเส้นรอบวงของต้นไม้ที่ระดับอก (มีหน่วยเป็นเซนติเมตร)  แล้วมาคำนวณหาเส้นผ่าศูนย์กลาง (มีหน่วยเป็นเซนติเมตร)
จากนั้น ผมก็นำเส้นผ่าศูนย์กลางของต้นไม้แต่ละต้นไปคำนวณปริมาณคาร์บอนสะสมในต้นไม้โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของธนาคารต้นไม้ และเมื่อทราบปริมาณคาร์บอนที่สะสมในต้นไม้ (มีหน่วยเป็นกิโลกรัม) ก็นำมาคูณด้วย 3.66 เพื่อคำนวณหาปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้นไม้แต่ละต้นดูดซับไว้ได้ (มีหน่วยเป็นกิโลกรัม)
          และหากเราทำการวัดเส้นรอบวงของต้นไม้ในแต่ละปี เราก็จะสามารถเปรียบเทียบมวลชีวภาพของต้นไม้ที่เพิ่มขึ้น และเปรียบเทียบปริมาณคาร์บอนที่สะสมเพิ่มขึ้นในต้นไม้แต่ละต้นได้ ซึ่งปริมาณคาร์บอนที่สะสมเพิ่มขึ้นก็คือ ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้นไม้ดูดซับและแปลงมาเป็นคาร์บอนในแต่ละปี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เราก็จะสามารถทราบได้ว่าต้นไม้ต้นนั้นดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไรในแต่ละปี
          และเมื่อเรานำต้นไม้ทุกต้นในบ้าน (หรือในแปลง) ที่เราศึกษามาบวกรวมกัน เราก็จะสามารถคำนวณปริมาณคาร์บอนที่สะสมในต้นไม้ทั้งหมดในพื้นที่ดังกล่าว และปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้นไม้ทั้งหมดในแปลงดูดซับไว้ได้ ซึ่งปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้นไม้ดูดซับไว้นั้น ก็คือการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะขึ้นไปสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ และทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนั่นเอง
                                        ภาพที่ 2 ไม้พะยูงต้นงามกำลังเติบใหญ่
            การปลูกต้นไม้จึงเป็นมงคลอย่างยิ่งสำหรับโลกของเรา
          เมื่อปีก่อน (ต้นปี พ.ศ. 2554) น้องกระติ๊บลูกสาวเคยทำโครงงานชื่นใจได้เรียนรู้ โดยการวัดเส้น รอบวงของต้นไม้ในบ้านทั้งหมด 44 ต้น แล้วมาคำนวณปริมาณคาร์บอนในเนื้อไม้ได้มากกว่า 10 ตันคาร์บอน หรือเท่ากับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 36 ตัน CO2
          น่าเสียดายที่ยังไม่ทันได้วัดเปรียบเทียบการเติบโตในอีกปีถัดไป เพื่อคำนวณปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซดในแต่ละปี น้องน้ำก็เข้าจู่โจม จนต้นไม้หลายต้นที่กำลังเติบโตงงอกงามก็มีอันดับขันธ์ไป ทั้งต้นชงโค ต้นไทรใบสัก ต้นหางนกยูง ต้นมะเฟือง เป็นต้น เราก็เลยต้องหันมาเร่งฟื้นฟูต้นไม้กันยกใหญ่ โดยที่ยังไม่มีโอกาสไปวัดเส้นรอบวงของต้นไม้ที่รอดมา (ซึ่งก็มีจำนวนไม่น้อย) อีกรอบหนึ่ง
          อย่างไรก็ตาม หากใช้ข้อมูลค่าเฉลี่ยพื้นฐานของป่าเต็งรัง ซึ่งเป็นป่าโปร่งคล้ายกับบ้านเรา พื้นที่หนึ่งไร่ของบ้านเราก็น่าจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่น้อยกว่า 3.02 ตัน CO2/ไร่/ปี
          ต้นไม้ที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีคือ ต้นไม้ที่มีการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเท่าที่สังเกตจากที่บ้าน ต้นไม้ที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีคือ ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นสะเดา ต้นตีนเป็ดน้ำ แต่ต้นไม้ที่เติบโตไวก็มักจะให้เนื้อไม้ที่ไม่ค่อยดี ดังนั้น เราจึงต้องให้ความสมดุลระหว่างการปลูกต้นไม้ที่เน้นการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับการปลูกที่จะเก็บไว้เป็นเนื้อไม้ในภายหน้า
          สำหรับบ้านของเรา ต้นไม้ทุกต้นจึงเป็นไม้มงคล แต่หากเรายังติดตะขวงใจกับชื่อต้นไม้บางต้นเราก็จะต้องมาค้นมาพลิกมุมมองกัน เพื่อหาแง่งามจากชื่อต้นไม้ทุกต้นกันให้ได้ ตัวอย่างเช่น
          หลายคนรู้สึกว่า ต้นจิกนี่ชื่อมันตลกดี เหมือนจะมาจิกตีกัน ภรรยาของผมก็บอกว่า ไม่ใช่ จริงๆแล้วมันหมายถึง ถ้าจะทำงานใดให้สำเร็จเราก็จะต้อง “จิก” ไม่ปล่อย หรือ หากผมอยากให้นิสิตเรียนจบไวไว ผมก็ต้อง “จิก” เพื่อให้รีบมาทำวิทยานิพนธ์และปัญหาพิเศษกันตามเวลาที่กำหนดไว้ เพราะฉะนั้น จิกจึงถือเป็นไม้ที่เป็นมงคลประจำบ้านของเรา
                                 ภาพที่ 3 ดอกจิกบกบานในเวลากลางคืน
          หรืออย่าง “มะตาด” ที่ต้นมีรูปทรงสวย ใบสวย โตไว แต่ชื่อมันดูตลกดี ไม่ทราบแปลว่าอะไร ภรรยาผมขอให้ช่วยเปลี่ยนชื่อหน่อย ผมก็ไปค้นมาได้ว่า มะตาดนี่เป็นไม้ยอดนิยมสำหรับชาวมอญ โดยเฉพาะที่เกาะเกร็ด เพราะสามารถนำผลรูปร่างคล้ายแอปเปิ้ลมาทำแกงส้มได้ เขาจึงมักเรียกชื่อเล่นกันว่า “แอปเปิ้ลมอญ” บ้านเราก็เลยเรียกมะตาดว่าแอปเปิ้ลมอญเช่นกัน
          หรือ “กาหลง” ต้นไม้ที่มีดอกสีขาวสวยงามมาก ทำอาหารได้หลายชนิด แถมยังเป็นไม้มงคลของชาวจีน แต่ภรรยาของผมก็ยังไม่แน่ใจว่า “กามันหลงอะไร?” หลงในสิ่งที่ถูกหรือไม่ถูก (รอบคอบมากๆ) ก็เลยขอให้ผมเปลี่ยนชื่อเช่นกัน ผมก็ค้นไปค้นมา จนไปพบชื่อภาษาอังกฤษของเจ้ากาหลงว่า “snowy orchid” ปรากฎว่า ภรรยาผมชอบมาก กาหลงบ้านเราจึงได้ชื่อว่า snowy orchid (แปลเป็นไทยว่า “เอื้องหิมะ”) ตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา
          ล่าสุด เราปลูกดอกพุดพันธุ์เศรษฐีบางใหญ่ ดอกขาวสวย และกลิ่นหมอถูกใจมาก ทุกอย่างน่าจะลงตัวทั้งต้น ดอก และชื่อ แต่เพื่อให้เก๋ไก๋ และเป็น “มงคล” ยิ่งขึ้น ภรรยาสุดที่รักของผมก็เลยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “เศรษฐีบางรักใหญ่” ตามชื่อตำบลบางรักใหญ่อันเป็นที่ตั้งของบ้านเราไปเสียเลย เรียกว่า ชาวอำเภอบางใหญ่คงค้อนกันให้ขวับทีเดียว
          เมื่อตอนน้ำท่วมเราคิดว่า เจ้าเศรษฐีบางรักใหญ่คงไม่รอดแน่ๆ แต่ที่ไหนได้กลับรอดมาได้ แถมยังออกดอกให้เราดื่นหัวใจ ในช่วงระหว่างการฟื้นฟูน้ำท่วม เรียกว่า เป็นไม้มงคลจริงๆ เพราะให้กำลังใจเจ้าของบ้าน จนปัจจุบัน เราก็ฟื้นฟูบ้านของเราและปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปแล้ว 34 ชนิดในบ้านของเรา
                                 ภาพที่ 4 ดอกเศรษฐีบางรักใหญ่ไม้มงคลประจำบ้าน
          ดังนั้น ความเป็นมงคลที่แท้คงขึ้นอยู่กับใจของเรา ที่จะเปิดให้ได้ชมเชยและเรียนรู้ รวมถึงรักกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบข้าง จนบ่มเพาะกลายเป็นความคิดที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิตที่ดี แล้วความเจริญก็จะตามมา โดยเฉพาะ “ความเจริญในธรรม” เมื่อนั้น บ้านของเราและโลกของเราก็จะมีความสุขอย่างแท้จริง
รายชื่อต้นไม้เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 34 ชนิดในบ้านของเรา
ขนาดในปัจจุบัน
รายชื่อต้นไม้
ต้นไม้ใหญ่เดิม
โพธิ์, ตาล, นนทรี
ต้นไม้กำลังเริ่มใหญ่
ไทร, พะยูง, กันเกรา, ตะเคียนทอง, จิกน้ำ, จิกบก, เสลา, อินทนิลบก, ตีนเป็ดน้ำ, องุ่นทะเล, หางนกยูงฝรั่ง, มะฮอกกานี, ปีบ, ปีบทอง, บุนนาค, มะตาด, สะเดา, ไคร้ย้อย, ปาล์มหางจิ้งจอก, แคนา, เหลืองปรีดียาธร, แก้วมุกดา, จำปี, มะพร้าว
ยังเป็นต้นไม้เล็ก
ทองหลาง, ไผ่รวก, ไผ่เหลือง, พะยอม, ราชพฤกษ์, มะพลับ, ชงโค, ประคำดีควาย, ตะลุมพุก, ยางนา

ไม้ปิ้งไก่ สยบ เบนเท็น


รุ่งทิพย์ สุขกำเนิด 
หลังจากส่งลูกสาวที่บ้านคุณครูเพื่อไปเรียนเสริมทักษะความคล่องแคล่วของร่างกายในตอนเย็นเมื่อสัปดาห์ก่อน  ซึ่งปกติฉันก็จะต้องนั่งคอยประมาณ 3 ชั่วโมงกว่าเขาจะเรียนเสร็จ เพื่อรอรับกลับบ้านพร้อมกัน กับน้องชายวัยกระเตาะที่จะวาดภาพระบายสีหรือไม่ก็ป่วนแม่ตลอดการรอคอย 
 แต่วันนี้ เจ้าจอมซนมาแปลกกว่าทุกที เอ่ยปากชวนว่า   “เราไปซื้อหนังสือที่ร้านนายอินทร์กันเถอะแม่  แดนอยากได้หนังสือนิทานเหมือนของไผ่จังแลยคร้าบ...
พอไปถึงร้าน น้องแดนเลือกหนังสือแป๊บเดียว ขอย้ำว่าแป๊บเดียวจริงๆ ก็ได้หนังสือที่ถูกใจ  แต่กลับเสียเวลานานมากอยู่ที่มุมของเล่นสุดโปรด ซึ่งก็คือ เบน เท็น(BEN 10)[1] นั่นเอง  
น้องแดนยืนลูบๆคลำกล่องโน้นกล่องนี้อยู่นานมากและหันมาถามแม่ว่า แดนซื้อได้ไหมคร้าบ   คุณแม่ก็ต้องจำใจอนุญาต เพราะถ้าตอบว่า ไม่ได้  น้องแดนก็จะตาขวาง ตาแดง และตามด้วยน้ำตาย้อย    แต่มองไปทั้งหมดในร้านแล้วก็ไม่มีของเล่นอื่นใดจะมาทดแทนจินตนาการที่ได้เป็นเจ้าของ เจ้าเบน ได้  ก็เพราะที่นี่เป็นร้านหนังสือนี่คะ  คุณแม่เลยจำใจต้องอนุญาตโดยดี
กลับมาถึงบ้านพอเปิดกล่องแล้วคุณแม่ก็อยากทำตาแดงเหมือนกัน  ก็เจ้า เบนหน่ะสิ  แค่ตุ๊กตาพลาสติกตัวแข็งทื่อสูงประมาณ 3 นิ้ว  ไม่มีอะไรพิเศษนอกจาก แพง อย่างเดียว 
นั่งคิดอยู่หลายวัน ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซาก ได้ไม่คุ้มเสียอย่างที่ผ่านมา  แล้วในที่สุด ก็เกิดไอเดียบรรเจิด  เมื่อหันไปเห็น ตะเกียบ ในครัว
วันหยุด พอมีเวลาก็แวะไปตลาดสด เพื่อหาซื้อ ตะเกียบ  เดินถามอยู่หลายร้าน เจอแต่ ตะเกียบใช้แล้วทิ้ง  ไม่ยักกะมี ตะเกียบไม้รียูส”   เหลือบไปเห็นไม้แบนๆ แต่ขนาดใกล้เคียงกัน  คิดว่าน่าจะแทนกันได้ นับดูแล้วมี 35 อัน ราคา 5 บาทเองค่ะ  ตอนแรกก็ยังสงสัยอยู่ว่า เขาทำมาขายใครนะ พอสังเกตเห็นรอยผ่า ก็เดาได้ว่าเป็น ไม้ปิ้งไก่ นั่นเอง
กลับถึงบ้าน คุณแม่ไม่รอช้าเพราะเด็กๆนั่งมองงงๆว่าแม่มาไม้ไหนนี่  ฉันก็เริ่มงัดกลยุทธ์ในอดีตขึ้นมา   แต่น แตน แต้น…”   ไม่ว่าจะเป็นเกมส์ สร้างภาพจากไม้ คอกหมูไม่ขยับ (ผลัดกันหยิบ ใครทำไม้ขยับ ต้องเปลี่ยนคนหยิบ)  หมากตะเกียบ (โยนรับมะนาวและหยิบไม้ก่อนมะนาวหล่น) ฯลฯ  ความสงบ(จากเสียงดุของแม่) กลับมาพร้อมเสียงหัวเราะของลูกเลยค่ะ  แถมลูกยังได้ฝึกกล้ามเนื้อมือและตาอีกด้วย 
หลังจากบริหารกล้ามเนื้อแล้ว ก็มาลับสมองประลองปัญญากันหน่อย กับกลเกมย้ายไม้ปิ้งไก่ (ไม้ขีดไฟ) ลองดูตัวอย่างในภาพนะคะ  ปรากฏว่าได้ผลเกินคาด เบนเท็น ก็เบนเท็น เถอะ  ตกกระป๋องไปซะแล้ว  เพราะน้องแดนหยิบไม้ปิ้งไก่มาเล่นบ่อยมาก ส่วนเจ้าเบนไม่รู้เก็บไว้ตรงลังไหนแล้ว  นี่ยังไม่นับราคาที่ถูกกว่ากันเกือบ 10 เท่าอีกนะคะ  หากใครสามารถหาตะเกียบรียูสได้ ก็สามารถนำมาเล่นเกมส์ คีบปิงปองได้อีก  เห็นไหมคะว่า ความสนุกและความรู้ไม่ได้แพงอย่างที่คิด ขนาดไม้ปิ้งไก่ยังสยบเบนเท็นซะอยู่หมัด



[1] เด็กผู้ชายที่เป็นลูกหลานช่างประปา  มีนาฬิกาที่ทำให้สามารถแปลงร่างเป็นตัวอะไรแปลกๆหลายอย่าง เพื่อให้สามารถต่อสู้กับเอเลี่ยนที่จะมาทำลายโลกได้ (น้องแดนได้เรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษหลายคำจากชื่อตัวละครในเรื่องค่ะ-แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยเด็กๆหน่อยนะคะ ไม่อย่างนั้นเราจะเสียเงินไปกับเบนเท็นในหลายรูปแบบโดยไม่ได้อะไรกลับมาเลย)

เมื่อปลาทับทิมไม่เป็นทอม


รุ่งทิพย์ สุขกำเนิด
          หลังย้ายมาอยู่บ้านใหม่ไม่นาน บ่อน้ำหน้าบ้านที่รกไปด้วยธูปฤษี ก็ถูกแปลงโฉมจนดูดีมีระดับขึ้นมานิดนึงด้วยเพราะดูโล่งจนเห็นน้ำใสๆ แต่ก็ยังขาดชีวิตชีวา  ลูกๆจึงเชียร์ให้แม่ไปหาปลาสีสวยๆอย่างปลาคราฟมาเลี้ยง
          ไปเดินจตุจักรเกือบครึ่งวัน คิดสะระตะถ้วนถี่ ในที่สุดก็เปลี่ยนใจจากปลาที่แพงหูฉี่มาเป็นปลาน้อยที่ใครๆก็ไม่รัก หวังแต่จะเอาลงกระทะท่าเดียวอย่างทับทิม ตะเพียน แล้วก็ยี่สก ด้วยความสงสาร(ตัวเอง) แล้วก็กลัวมันจะเหงา เลยรับมาเลี้ยงดูอย่างละ 100 ตัว ให้มาเล่นเป็นเพื่อนกัน  ช่วงทำพิธีส่งปลาลงสระ เด็กๆสนุกกันมากเพราะต้องไล่จับเหล่าปลาน้อยที่ดูดี้ด้าผลัดกันโดดออกนอกกะละมังระหว่างที่รอให้บางตัวฟื้นจากอาการเมารถจนนอนตะแคง
          ผ่านไปไวเหมือนโกหก ขณะที่กำลังทำอาหารเย็นอยู่ในครัวก็ได้ยินเสียงตะโกนลั่น   “แม่คร้าบ.. มาดูเร็ว นั่นฝูงอะไร ไม่น่าจะเป็นลูกอ๊อดนะ  สีส้มๆ ลูกปลาทับทิมรึเปล่า” ฉันรีบวิ่งมาตามเสียงเรียก แต่ในใจก็นึกสงสัยว่า เป็นไปได้ไง  เพราะเท่าที่รู้มาปลาทับทิมเป็นปลาที่เป็นหมันมิใช่หรือ??

          ดูจากรูปพรรณของสิ่งมีชิวิตเล็กๆ บวกกับความสงสัยในตัวแม่ค้าทำปลามานานแล้วที่อาจเป็นผู้ขโมยไข่ปลาทับทิมมาโดยตลอด ทำให้เราไม่อาจนิ่งดูดาย  เลยกระโดดเข้าหาคุณครูกูเกิล และแล้วความจริงก็ปรากฏ...ว่า  “จริงๆแล้วเจ้าปลาทับทิมทั้งหลายไม่ได้เป็นหมันอย่างที่เราคิด  ก็ด้วยความที่เจ้าปลาชนิดนี้เป็นปลาไวไฟ ไม่ใช่ย่างแป๊บเดียวสุกนะคะ แต่สามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน  แล้วมันก็เริ่มเป็นปลาที่กินเสียข้าวสุก คือกินไม่รู้จักโตขยันมีลูกอย่างเดียว ตัวจึงเล็กขายไม่ได้ราคา ทั้งๆที่รสชาติถูกอกถูกใจทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ  จึงทำให้เจ้าของฟาร์มปลาต้องหาทางจัดการให้มันเป็นทอมตั้งแต่ยังแบเบาะด้วยการใช้ฮอร์โมนเพศผู้ผสมในอาหารให้กินจนถึงระยะที่มั่นใจว่า ลูกปลาตัวผู้จะโตขึ้นมาเป็นแมนบึกบึน ขณะเดียวกันเจ้าฮอร์โมนดังกล่าวก็ไปยับยั้งการหลั่งของฮอร์โมนเพศเมีย ทำให้ลูกปลาตัวเมียไม่คิดจะมีครอบครัวเอาแต่กินจนอ้วนพีเพราะไม่สนใจหนุ่มหน้าไหน  การให้ฮอร์โมนจะทำไปจนปลาอายุได้ 30 วันหรือจนถึงระยะที่เรียกว่าลืมเพศตัวเองอย่างถาวร”
“ฮอร์โมน” คำนี้ ทำให้เราเลิกซื้อปลาทับทิมอย่างถาวร แล้วก็หันมาขุนปลาในสระแทน  แม้ปลาที่ได้จะตัวไม่ใหญ่เท่าตลาดแต่ก็เป็นปลาที่แข็งแรงและฉลาดเฉลียว  สังเกตได้จากการที่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์การจับอยู่เรื่อย เพราะบรรดาปลาของเรารู้ทันไปหมด  แถมยังเป็นปลาที่มีความทนทาน เพราะสังเกตว่าไม่เคยมีโรคภัยไข้เจ็บใดๆมาแพ้วพานให้มันจากเราไปเองสักตัวเดียว เว้นแต่การได้ตอบแทนบุญคุณผู้เลี้ยงด้วยการเป็นเมนูเด็ดบนโต๊ะเสียก่อน ซึ่งต่างจากปลากระชังที่ต้องให้ยาปฏิชีวนะเป็นระยะ แล้วตามฟอร์มาลินก่อนจับขายเพื่อให้ปลายังมีลมหายใจเมื่อเราไปเลือกซื้อ
ผ่านไปเกือบปี ตอนนี้ปลาทับทิมที่บ้านขยายพันธุ์แบบตามทฤษฏีเลยทีเดียว ตอนนี้น่าจะอยู่ที่เกือบ 1,000 ตัว กินไม่ทันเลยค่ะ ขนาดมีนกกระยางขาประจำมาช่วยแล้ว สุดคุ้มจริงๆ ลงทุนครั้งเดียวกินไปชั่วลูกชั่วหลาน
อ้างอิง http://www.tcijthai.com/investigative-story/466  และบทความเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตปลานิลแปลงเพศ นายกฤษณะ  เรืองคล้าย

สมดุลในบ่อปลา: การเรียนวิทยาศาสตร์แบบบังเอิญ



เดชรัต สุขกำเนิด

ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งอายุ 42 ปี ผมไม่เคยเลี้ยงปลาเลย ผมคิดว่าการเลี้ยงปลาเป็นเรื่องยุ่งยาก และที่สำคัญที่สุดคือ สงสารปลาที่อาจจะต้องมาตาย ด้วยฝีมือการเลี้ยงที่ไม่ได้เรื่องของผม
แต่ในเมื่อบ้านใหม่ที่บางบัวทองของผม มีบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่คุณพ่อคุณแม่เคยขุดไว้ และผมเองก็ไม่มีเงินที่จะซื้อดินมาถม ลูกๆ ทั้งสองก็เลยคิดว่า การเลี้ยงปลาในบ่อน้ำดังกล่าวน่าจะเป็นกิจกรรมที่ดีสำหรับบ่อน้ำของเรา
แม้ว่าผมจะยังกังวลใจกับความไร้ประสบการณ์ในการเลี้ยงปลาของตนเอง แต่ก็อยากสนับสนุนไอเดียความคิดของลูกๆ อีกทั้ง นึกในใจว่า อย่างน้อยการเลี้ยงปลาในบ่อดิน ก็ไม่ต้องคอยเปลี่ยนน้ำ เหมือนการเลี้ยงปลาในตู้ปลา
ตอนแรกลูกสาวและลูกชายอยากจะเลี้ยงปลาคาร์พสีสวย แต่เมื่อพิจารณาจากความไร้ประสบการณ์และความไร้ฝีมือของผมแล้ว ผมก็เลยตัดสินใจเลี้ยงปลาทับทิม เพราะสีส้มสวยสดเหมือนปลาคาร์พ แต่ราคาถูกกว่ามาก (ลูกปลาตัวละ 2 บาท)
จากนั้น เมื่อผมเริ่มมีความชำนาญมากขึ้น ผมจึงซื้อลูกปลาอื่นๆ เช่น ปลาตะเพียน ปลาแรด ปลายี่สก ปลาจาระเม็ดน้ำจืด มาเลี้ยงเพิ่มเติมขึ้น
เมื่อผมได้เริ่มเลี้ยงปลาขึ้นมาจริงเมื่อปีพ.ศ. 2553 ผมจึงพบว่า แม้ว่าการเลี้ยงบ่อดินจะไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำเหมือนตู้ปลา แต่การดูแลรักษาคุณภาพน้ำบ่อปลาขนาดหนึ่งงานกลับเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก แถมบ่อปลาของผมเป็นบ่อปิดที่ไม่สามารถถ่ายเทหรือเปลี่ยนถ่ายกับแหล่งน้ำภายนอกได้ เราจึงต้องดูแลสภาพน้ำให้เกิดความสมดุลในบ่อน้ำเอง
ทุกท่านที่เคยเลี้ยงปลาคงทราบดีว่า จุดสำคัญที่สุดสำหรับการเลี้ยงปลาคือ การรักษาระดับของออกซิเจนในบ่อปลา ให้มีปริมาณเพียงพอต่อการดำรงชีวิตของปลา ซึ่งปลาแต่ละชนิดมีความต้องการระดับออกซิเจนที่แตกต่างกัน หรือพูดในมุมกลับก็คือ ปลาแต่ละชนิดจะทนทานต่อระดับออกซิเจนที่ลดต่ำลงได้แตกต่างกัน
ปลาที่ไม่ค่อยทนทานต่อระดับออกซิเจนที่ลดต่ำลงก็คือ ปลาตะเพียน เพราะฉะนั้น เมื่อระดับออกซิเจนในน้ำลดต่ำลง ปลาตะเพียนจะขึ้นมาหายใจเหนือน้ำก่อนปลาอื่นๆ และอาจสุ่มเสี่ยงที่จะนอนหงายและตายก่อนปลาอื่นๆ
มองในมุมนี้ การเลี้ยงปลาตะเพียนจึงเป็นปลาปราบเซียน ตอนน้ำท่วมทะลักเข้าคลองประปาเมื่อปีพ.ศ. 2554 ผมก็เพิ่งทราบว่า การประปานครหลวงก็ใช่ปลาตะเพียนเป็นตัวชี้วัดคุณภาพน้ำด้วย วันนั้นที่น้ำทะลักเข้าคลองประปา ปรากฏว่า ปลาตะเพียนของการประปาฯ ก็ตายเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ส่วนปลาที่ค่อนข้างทนทานต่อระดับออกซิเจนที่ลดต่ำลงได้ดีคือ ปลาทับทิม และปลาแรด โดยเฉพาะปลาแรด ซึ่งผมทราบในภายหลังว่า ปลาแรดมีอวัยวะพิเศษในการขึ้นมาฮุบอากาศเพื่อหายใจได้โดยตรง ต่างจากปลาชนิดอื่นที่ต้องได้รับออกซิเจนผ่านการแลกเปลี่ยนออกซิเจนที่เหงือก เมื่อปลาแรดได้รับออกซิเจนจากอากาศโดยตรง คุณภาพน้ำจึงมีผลต่อปลาแรดน้อยกว่าปลาชนิดอื่นๆ
ดังนั้น ปลาแรดและปลาทับทิมจึงเหมาะสมกลับผู้เลี้ยงปลามือใหม่อย่างผม
แต่ปลาทับทิมก็สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาที่ผมคิดไม่ถึง นั่นคือ มันขยันออกลูกออกหลานมาก ตอนแรกผมคิดว่าปลาทับทิมเป็นหมัน แต่ภายหลังจึงทราบว่าบริษัทที่พัฒนาสายพันธุ์ปลาทับทิมขึ้นมา เขาใส่ฮอร์โมนเพศผู้ให้ปลาทับทิม ปลาทับทิมทั้งหมดจึงกลายเป็นปลาตัวผู้ที่ไม่สนใจจะขยายพันธุ์ จึงอ้วนเอาอ้วนเอา ได้น้ำหนักดีตามที่ตลาดต้องการ
ผมเพิ่งมาทราบในภายหลังว่า ปลาทับทิมที่ผมนำมาเลี้ยงเป็นปลาที่ยังไม่ผ่านการทรีตฮอร์โมนเพศผู้จึงสามารถออกลูกออกหลานได้ตามปกติ ยิ่งปลาในบ่อของผมไม่มีปลากินเนื้อเช่นปลาช่อน ไว้คอยจัดการลูกปลากินพืช ดังนั้น ไม่นานบ่อปลาของผมก็เต็มไปด้วยปลาทับทิม

เมื่อปลามีปริมาณมากขึ้น ปลาก็ต้องการหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปมากขึ้น ไปพร้อมๆกับหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น ไม่นานระดับของออกซิเจนในน้ำก็จะลดต่ำลง จนส่งผลกระทบกับปลาที่เลี้ยงไว้ได้
สิ่งที่ผมลืมคิดไปในการเลี้ยงปลาในบ่อดินคือ การเพิ่มระดับออกซิเจนในบ่อปลา เพราะการเลี้ยงปลาในตู้ปลาเราก็แค่ใช้ปั๊มออกซิเจนเข้าไป แต่เมื่อบ่อปลามีขนาดใหญ่มาก เราคงไม่สามารถทำเช่นนั้นเป็นประจำได้ แล้วเราจะเพิ่มระดับออกซิเจนในบ่อปลาของเราได้อย่างไร
จุดสำคัญของการเพิ่มออกซิเจนในบ่อปลาแบบกึ่งธรรมชาติคือ การสังเคราะห์แสงของแพลงค์ตอนพืชในบ่อปลา ที่ทำงานเหมือนกับต้นไม้ทั่วไปที่ใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสง และผลิตออกซิเจนออกมา แล้วละลายอยู่ในบ่อปลา เป็นออกซิเจนของปลาต่อไป
แต่การสังเคราะห์แสงดังกล่าวจะเกิดขึ้นเฉพาะในตอนกลางวันเท่านั้น พอถึงตอนกลางคืน แพลงค์ตอนพืชก็หยุดการสังเคราะห์แสง เหลือแต่การหายใจที่เอาออกซิเจนเข้าไปและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเช่นเดียวกับเหล่าฝูงปลาทั้งหลาย
ดังนั้น ในตอนกลางวัน ระดับออกซิเจนในบ่อปลาจึงอยู่ในระดับสูง ปลาจึงสามารถดำลงไปว่ายเล่นและอาศัยอยู่ในระดับน้ำลึกที่มีออกซิเจนน้อยกว่าได้ แต่พอถึงตอนกลางคืน ระดับออกซิเจนในบ่อปลาจะเริ่มลดต่ำลง และจะต่ำสุดในช่วงเช้ามืด เพราะฉะนั้น เมื่อตื่นขึ้นมา บางครั้ง ผมจึงเห็นฝูงปลาขึ้นมาหายใจที่ผิวน้ำกันมากมาย แบบที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ปลาลอยหัว
ยิ่งหากช่วงใดไม่มีแดดในตอนกลางวัน วันนั้นระดับออกซิเจนในน้ำจะลดต่ำลง เพราะแพลงค์ตอนพืชสังเคราะห์แสงได้น้อย พอถึงช่วงกลางคืนระดับออกซิเจนก็จะยิ่งลดต่ำลง จนปลาลอยหัวกันเต็มไปหมดในวันรุ่งขึ้น
โดยเฉพาะในช่วงฝนแรกของฤดูฝน ซึ่งฝนจะชะล้างมลพิษในอากาศ โดยเฉพาะฝนกรดลงสู่บ่อปลา ทำให้ปลาช็อคน้ำ และแพลงค์ตอนพืชจำนวนมากก็ตาย ช่วงนั้นระดับออกซิเจนก็จะลดต่ำลงจนกลายเป็นช่วงวิกฤตของการเลี้ยงปลาเลยทีเดียว
ในระยะสั้น การเพิ่มระดับออกซิเจนโดยใช้น้ำพุจากเครื่องปั้มน้ำก็เป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องช่วยยื้อชีวิตปลา จนกว่าแดดจะออกและระดับออกซิเจนจะเพิ่มสูงขึ้น ถึงจะปิดปั้มน้ำได้ และเปิดอีกทีก่อนมืดจนถึงดึก
แม้ว่ามาตรการนี้จะช่วยยื้อชีวิตปลาไว้ได้ดีพอควร แต่ก็ต้องสิ้นเปลืองพลังงาน และไม่สามารถช่วยให้ปลามีสภาพความเป็นอยู่ หรือเรียกแบบเท่ๆ ว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ผมจึงจำเป็นต้องค้นหาแนวทางที่ยั่งยืนกว่าที่เป็นอยู่
จากการค้นคว้าผมจึงทราบว่า นอกจากในบ่อปลาของผมจะประกอบด้วยสมการการสังเคราะห์แสงของแพลงค์ตอนพืช (สร้างออกซิจน) และการหายใจของปลาและแพลงค์ตอนทั้งหลายแล้ว (ใช้ออกซิเจน) ผมยังทราบว่า ในบ่อของผมยังมีสมการการย่อยสลายของอินทรีย์สารต่างๆ (เช่น เศษอาหารปลาที่เหลือ ขี้ปลา) โดยจุลินทรีย์ต่างๆ ในบ่อปลา ซึ่งก็ใช้ออกซิเจนเช่นกัน ดังนั้น ตรงนี้จึงมีส่วนทำให้ระดับออกซิเจนในน้ำลดลงด้วย
จริงแล้วๆ การย่อยสลายอินทรีย์สารโดยจุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจนเป็นสาเหตุหลักของการเน่าเสียของแหล่งน้ำต่างๆ โดยเฉพาะในแหล่งน้ำที่มีการระบายน้ำทิ้งของอุตสาหกรรมและชุมชน แต่ผมเองกลับลืมสมการนี้ไป
แนวทางการจัดการเรื่องนี้คือ การลดการย่อยสลายอินทรีย์สารโดยจุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจน มาเป็นการใช้จุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจนมาช่วยย่อยสลายแทน (จริงๆ ต้องเรียกว่า มาแย่งย่อยอินทรีย์สาร) เพราะการย่อยของจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจนจะไม่ใช้ออกซิเจน ทำให้ระดับออกซิเจนในบ่อปลาไม่ลดลง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่แพลงค์ตอนในบ่อปลาตายลง เราก็ต้องใช้จุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจนไปช่วยจัดการ เพื่อไม่ให้ระดับออกซิเจนในบ่อปลาลดลง
การนำจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจนมาเพิ่มในบ่อปลาทำได้ 3 วิธีคือ วิธีแรก เทน้ำหมักชีวภาพลงไปโดยตรง ตอนแรกๆ ผมก็เน้นวิธีนี้ เพราะง่ายดี แต่ข้อเสียคือ จุลินทรีย์ในน้ำหมักจะอยู่เฉพาะบริเวณผิวน้ำ ไม่ได้ลงไปถึงก้นบ่อ แถมยังค่อนข้างเปลืองน้ำหมักด้วย
ผมเลยมาปรับใช้วิธีที่สองที่เน้นลงไปจัดการกับอินทรีย์สารถึงก้นบ่อก็คือ การปั้น EM ball หรือ ระเบิดจุลินทรีย์ วิธีนี้ก็ดีมาก โดยเฉพาะในช่วงน้ำท่วมที่มีตะกอนอินทรีย์สารลงไปจมอยู่ก้นบ่อจำนวนมาก ผมก็ต้องใช้ EM ball เพื่อจัดการกับอินทรีย์สารเหล่านี้ ก่อนที่เจ้าจุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจนจะเข้ามาจัดการ และทำให้ระดับออกซิเจนในบ่อปลาลดลง
แม้ว่า การใช้ EM ball จะดีแต่ก็ใช้เวลาค่อนข้างมาก และยังเน้นไปจัดการที่ก้นบ่อ ผมก็เลยขอคำแนะนำจากอาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) จากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องที่แวะมาเยี่ยมบ้าน อาจารย์ยักษ์แนะนำให้วางกองฟางไว้ตามมุมบ่อ จากนั้นใส่มูลวัวหรือหมู แล้วราดน้ำหมักชีวภาพลงไป กองฟางเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นจุดขยายจำนวนจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจน โดยไม่ต้องเทน้ำหมักชีวภาพลงไปบ่อยๆ จึงทั้งประหยัดเวลาและช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำได้อย่างดียิ่ง
เมื่อผมทดลองดำเนินการ ปรากฏว่าคุณภาพน้ำในบ่อปลาของผมดีขึ้นมาก จนไม่ต้องใช้ปั้มน้ำเพื่อทำน้ำพุอีกเลย

ยิ่งเมื่อเกิดน้ำท่วม ปลาทับทิมที่รักอิสระทั้งหลายก็พากันหนีออกไปจากบ่อปลา จนปริมาณลดลงบ้าง ขณะเดียวกัน ผมก็ได้ปลาล่าเนื้อคือ ปลาช่อน หลงเข้ามาในบ่ออีก 2-3 ตัว ปรากฏว่า ปลาช่อนก็เข้ามาควบคุมจำนวนลูกปลาในบ่อได้เป็นอย่างดี ทำให้ปริมาณปลาในบ่อไม่มากเกินไป
ดังนั้น เราจึงสามารถสรุปได้ว่า สมดุลของออกซิเจนในบ่อปลาประกอบด้วยสมการชีวภาพ 4 สมการคือ
ก)     สมการการสังเคราะห์แสงของแพลงค์ตอนพืช (ผลิตออกซิเจน)
ข)     สมการการหายใจของพืชและปลา (ใช้ออกซิเจน)
ค)     สมการการย่อยสลายอินทรีย์สารโดยจุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจน (ใช้ออกซิเจน)
ง)      สมการการย่อยสลายอินทรีย์สารโดยจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจน (ไม่ใช้ออกซิเจน)
ซึ่งหากเราสามารถรักษาความสมดุลของสมการทั้ง 4 สมการนี้ไว้ได้อย่างดี ปลาของเราก็จะเติบโตดี โดยไม่ต้องใช้พลังงานและไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเพิ่มออกซิเจนโดยการปั้มน้ำอีกด้วย
นี่คือ การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ภายในบ้าน ที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ของลูกปลาไม่กี่ร้อยตัว แล้วค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาเป็นประสบการณ์ ความเข้าใจ และความรู้ของผู้คนในบ้าน โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ ที่ผูกพันกับปลาในบ่อนี้ ในฐานะเพื่อนและคุณครูไปพร้อมๆ กัน
ผมแน่ใจว่า เช่นเดียวกับระบบนิเวศทั้งหลาย บ่อเล็กๆ แห่งนี้ยังคงมีเรื่องให้เราเรียนรู้ได้อีกมาก ขอเพียงแค่เราใส่ใจชีวิตทุกชีวิตที่อยู่รอบตัวเรา