บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เมื่อเพลี้ยเจอกับพริก



                                                                       รุ่งทิพย์ สุขกำเนิด

                ตอนเย็นๆฉันมักออกชมนกชมไม้ในสวน ระหว่างให้น้ำต้นไม้ สายตาก็สอดส่องว่าต้นไม้อยู่ดีมีสุขหรือเปล่า ฤดูร้อนปีนี้แดดแรงมาก แม้จะมีฝนทยอยตกมาเดือนละครั้งแต่ก็สู้ไม่ไหว สังเกตได้จากไม้เล็กๆ และพวกผักต่างๆ ตอนเช้าจะดูสดใสมาก พอตกบ่ายใบลู่คอตกกันเป็นแถว ก็ต้องให้น้ำกันทุกวัน ไม่งั้นอาจเจองอน ไม่มีใบมีลูกให้กินไม่รู้ด้วย
                แม้จะให้น้ำอย่างดี แต่สังเกตได้ว่า ต้นไม้หลายชนิดกลับมีอาการดูแคระแกรน ใบเหลืองร่วงมากยังไงไม่รู้ พอไปเจาะดูใกล้ๆ จ๊าก!!! จับได้คาหนังคาเขาเลย เพลี้ยงแป้ง เพลี้ยอ่อนรุมดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ใต้ใบและแถวยอดอ่อนเพี๊ยบเลย โดยเฉพาะต้นฝรั่ง พุทธ เชอรี่ จานเครือ มะเขือเทศ แล้วยังส้มจี๊ดอีก สังเกตว่าเจอเพลี้ยที่ต้นไหนจะมีมดแดงตัวซีดๆหรือไม่ก็มดดำด้วยเสมอ ไปเปิดตำราเขาบอกว่า ขณะที่เพลี้ยดูดน้ำเลี้ยงจากต้นไม้ของเรา มดพวกนี้ก็จะดูดน้ำหวานที่ออกมาจากบั้นท้ายของเพลี้ยอีกทีด้วยการใช้หนวดตบก้นเบาๆ  โดยเจ้ามดจะตอบแทนบุญคุณด้วยการขับไล่ศัตรูของเพลี้ย และยิ่งถ้าอากาศหนาว มดจะตบรางวัลด้วยการแบกเพลี้ยเข้าไปนอนด้วยในรังเพื่อไปรับไออุ่นจากมันด้วย

                                                                  
                                               เพลี้ยแป้งที่มักพบบริเวณหลังใบและตาของพืช
               

              อาการไม่ปกติของพืชก็คงไม่ต่างจากคน ถ้าเจ็บป่วยก็คงต้องรักษา แต่ฉันก็อดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วเราจะรักษากันอย่างไร ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมชาติ แน่นอนว่าเราก็ต้องใช้สารเคมีฉีดพ่นเพื่อรักษาอาการอยู่ร่ำไป ไม่ได้ไปแก้กันที่ต้นตอเสียที
ท่านผู้รู้ได้สรุปไว้ในตำราว่าความเสียหายที่เกิดจากโรคและแมลงศัตรูพืชขึ้นกับ 3 ปัจจัยสำคัญ คือ ความอ่อนแอของพืชต่อการเกิดโรค/แมลง  ความรุนแรงของเชื้อโรค/แมลง  และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเกิดโรค/การระบาดของแมลง  เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ความเป็นกรดและด่างของดิน ฯลฯ  ในกรณีที่พืชอ่อนแอต่อโรคมาก เชื้อโรคมีความรุนแรงมากและสภาพแวดล้อมเหมาะสม ความเสียหายจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง
                เห็นจะจริงอย่างที่ว่า เพราะช่วงนี้สภาพอากาศร้อนมากมายผิดปกติ ซึ่งเหมาะกับการระบาดของเพลี้ย โดยเฉพาะเพลี้ยแป้ง แถมต้นพืชก็ดูไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไร เพราะต้องต่อสู้กับแสงแดดอันร้อนระอุ  ประกอบกับพืชสมัยใหม่มักถูกคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดูดีกินอร่อยในสายตามนุษย์อย่างเรา (เหล่าแมลงทั้งหลายก็คิดไม่แตกต่างกัน-ก็เพราะแมลงก็มีสมองนะจ๊ะจะบอกให้)  แต่พืชสมัยใหม่เหล่านี้ก็มักจะมีความอ่อนแอต่อโรคและแมลงด้วย  แถมยังถูกฝึกแกมเอาใจจากร้านขายต้นไม้ให้โซ้ยปุ๋ย โซ้ยยาเป็นอาจิน ทำให้ต้นอวบอ้วน แต่กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ทำมาหากินเองไม่ค่อยเป็น (คล้ายๆ สวยแต่ไม่เก่งแถมยังอ่อนแอซะอีก)  แต่เมื่อมาอยู่บ้านฉันซึ่งทำให้คุณหนู(ต้นไม้)ทั้งหลายต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะปุ๋ยเคมีก็ไม่ใส่ ยาก็ไม่ฉีด  และยิ่งมาผสมผสานกับความไม่สมบูรณ์ของดินที่บ้านซึ่งอยู่ในช่วงปรับสภาพด้วยแล้ว ไม่อยากจะเล่าเลยว่า ทั้งเพลี้ย ทั้งแมลงรุมกันขนาดไหน  ที่บ้านฉันเพิ่งลงฝรั่งกิมจูไปกว่า 20 ต้น ซึ่งเพื่อนๆแถวสามพรานก็เตือนแล้วว่า “ปลูกยากหน่อยนะ ถ้าไม่ฉีดยาก็ไม่ได้กินแน่”
แม้จะถูกรุมทึ้งอย่างไร  ฉันก็ไม่ยอมถอยแน่ เพราะอุตสาห์เสียแรงไปเอาต้นไม้ เสียแรงขุดดินอันแข็งโป๊กไปแล้ว แถมยังยืนรดน้ำขาแข็งทุกวัน  จะปล่อยให้เหล่าเพลี้ยมาย่ำยีความตั้งใจให้พังลงง่ายๆได้ไง  คิดแล้วเจ็บใจ เราอุตสาห์ทะนุถนอมต้นไม้ของเรา จะกินก็ไม่ว่า กินไปทำลายไปอย่างนี้ต้องเจอดี หึ !!
ว่าแล้ว ปฏิบัติการล้างเผ่าพันธุ์เพลี้ยก็เกิดขึ้น (แต่ก่อนอื่นคงจำกันได้ว่า กติกาบ้านนี้ ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอัตรายต่อคนเด็ดขาดนะจ๊ะ) เคยอ่านเจอว่า มดจะไม่ชอบของเปรี้ยว  ส่วนเจ้าเพลี้ยน่าจะไม่ชอบของเผ็ด ประมวลเสร็จสรรพ การทดลองจึงเกิดขึ้น 
ในเบื้องต้นฉันผสมพริกกับน้ำส้มสายชู ผสมน้ำกะว่าเผ็ดๆ (ปานกลาง)  เปรี้ยวๆ (อ่อนๆ)  ผู้อ่านอาจสงสัยว่าพริกอะไร พริกอะไรก็ได้ค่ะ พริกขี้นก ขี้หนู พริกกะเหรี่ยง พริกแห้งตำ พริกป่นที่ให้มากับก๋วยเตี๋ยว พริกมาม่าก็ยังได้ หรือจะใช้พริกแกงเผ็ดแกงส้มได้ทั้งนั้น ขอให้เผ็ด  แช่น้ำให้ความเผ็ดมันละลายออกมา จากนั้นกรองเอาแต่น้ำ ที่ต้องกรองเพราะถ้าไม่กรองเวลาเอาไปฉีดจะทำให้ฉีดไม่ออก ไม่ใช่เพราะอาถรรพ์ของเจ้าเพลี้ยหรอกนะคะ  แต่เพราะหัวฉีดมันจะตัน
สำหรับน้ำส้ม ถ้าใช้น้ำส้มสายชูเทียมก็จะถูกกว่าสายชูกลั่น หาซื้อได้ในร้านของชำและซุปเปอร์มาร์เกต  หรือจะใช้น้ำส้มสายชูที่ได้มาจากร้านก๋วยเตี๋ยวก็ได้ค่ะ สะสมไว้ใช้ ทิ้งไปก็เป็นขยะเน่าเหม็นเปล่าๆ เอามาสะสมในขวดน้ำไว้ก่อน พอได้มากแล้วก็เอามาใช้  แต่ถ้าคิดว่าไหนๆจะฉีดแล้วต้องได้ประโยชน์  ก็นี่เลยค่ะ “น้ำส้มควันไม้” สามารถใช้แทนน้ำส้มสายชูได้เลยเพราะนอกจากจะไล่เพลี้ยแล้ว ยังกันเชื้อรา ไล่แมลง ไล่หนอน และมีธาตุอาหารสำหรับพืชอีกด้วย
อย่าลืมว่า คนดีไม่อยากจะทำร้ายชีวิตใคร ดังนั้นต้องฉีดกันถี่หน่อย ทุก 3-5 วัน สูตรนี้ใช้ได้ผลดีพอสมควรทีเดียวค่ะ แต่ถ้าไม่ทันใจก็ใช้มือบี้ไปด้วยจะช่วยได้เยอะเลยค่ะ อ้อ อย่าลืมใส่ถุงมือเวลาฉีดพ่นด้วยนะคะ เพราะขนาดทั้งมด ทั้งเพลี้ยยังแสบตาแสบตัวจนหนีจุกตูด แล้วมือคนฉีดจะเหลือเหรอ ไม่เชื่อลองดู!
นอกจากการใช้สารไล่แมลงแล้ว การสร้างความแข็งแรงให้พืชด้วยการเพิ่มธาตุอาหารในดินทั้งธาตุอาหารหลักและรอง ก็จะช่วยให้พืชมีความต้านทานต่อโรคและแมลงได้ดีอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งธาตุอาหารรองนั้นหาไม่ได้ในปุ๋ยเคมีนะคะ  ขี้หมูขี้ไก่ นี่แหละของแท้ รวมถึงต้องทำดินให้มีความร่วนซุยด้วยการเติมปุ๋ยอินทรีย์จะซากพืชซากสัตว์ จะทำให้น้ำซึมลงสู่รากได้ง่ายและลึก และอากาศร้อนๆอย่างนี้ควรคลุมโคนพืชด้วยฟางหรือหญ้าแห้งเพื่อลดการระเหยของน้ำจากดิน  และลดการกระแทกของน้ำที่ใช้รด นอกจากนี้ควรปลูกพืชบางอย่างโดยเฉพาะพืชที่มีสีสรร เช่น ดาวเรือง ดาวกระจาย เพื่อช่วยล่อแมลงไม่ให้มาสนใจพืชหลักของเรา เท่านี้ก็ทำให้มีอาหารเหลือรอดมาให้ถึงมือผู้ปลูกได้อิ่มใจอิ่มท้องกันบ้าง

                       
             ผักสวนครัวที่แย่งจากเพลี้ยในเช้าวันหนึ่งหลังน้ำท่วม (25/2/2555)


อ้างอิง
3.   ภาพเพลี้ยจาก http://www.gotoknow.org/blogs/posts/355630

1 ความคิดเห็น: