บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

ไม้มงคล: กุศโลบายให้โลกเย็น



เดชรัต สุขกำเนิด
          กุศโลบายหนึ่งมักจะใช้ได้ผลในสังคมไทยคือ การเติมคำว่า “มงคล” เข้าไว้ข้างหน้าหรือข้างหลังสิ่งนั้น และด้วยความเชื่อว่าเรื่องความเป็น “มงคล” ก็เป็นผลให้สิ่งเหล่านั้นเป็นที่นิยมมากขึ้น
ไม้มงคลก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของสิ่งที่เป็นมงคลเช่นกัน
          คำว่า “มงคล” หมายถึง “ทางก้าวหน้า ความสุข ความเจริญ” สำหรับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย สถาน พ.ศ ๒๕๒๕ ให้ความหมายไว้ว่ามงคล คือเหตุที่นำมาซึ่งความเจริญ”
          เพราะฉะนั้น คำว่า “ไม้มงคล” จึงหมายถึง การปลูกต้นไม้ที่จะนำมาซึ่งความเจริญ
          โดยทั่วไป ในกรณีของไม้มงคลในสังคมไทยก็มักจะเน้นคำพ้องเสียง เช่น ต้นขนุน หมายว่าจะมีคนมาช่วยสนับสนุน ต้นกันเกรา หมายว่า จะช่วยปกป้องภยันตรายต่างๆ ต้นพะยุง หมายว่า จะสามารถพยุงตนเองและครอบครัวให้อยู่รอดปลอดภัย เป็นต้น
          นอกจากนี้ ไม้มงคลบางชนิด อาจได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอื่น เช่น ทับทิมก็เป็นไม้มงคลที่ใช่ในงานพิธีกรรมต่างๆ ของคนจีน
          จริงๆ แล้วความเป็น “มงคล” ของต้นไม้ คงมิได้ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงเรียงนามของต้นไม้แต่ละชนิดเท่านั้น แต่ต้นไม้ทุกต้นยังช่วยให้ร่มเงาและความร่มเย็น และเป็นแหล่งอาหารสำคัญสำหรับผู้คนและสรรพสัตว์มาช้านาน
ที่สำคัญสำหรับภาวะโลกร้อนคือ ต้นไม้สามารถผลิตออกซิเจนและช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศ การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสังเคราะห์แสงที่ต้นไม้จะดูดและแปลงคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นคาร์บอนในรูปของแป้งและเซลลูโลส ที่สะสมในต้นไม้ทั้งในลำต้น ราก กิ่งก้านและใบ
มวลของต้นไม้ทุกๆส่วน ทางวิชาการเรียกว่า มวลชีวภาพ ซึ่งเป็นมวลสารที่ได้มาจากการดูดซับและการแปลงสภาพคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นคาร์บอน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อต้นไม้เติบโตขึ้น การเติบโตของต้นไม้ก็มาจากการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ผ่านการสังเคราะห์แสงนั่นเอง
          ดังนั้น ต้นไม้จึงช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของการเกิดภาวะเรือนกระจกหรือภาวะโลกร้อน แทนที่จะปล่อยให้ไปเผ่นผ่านในชั้นบรรยากาศ เราก็ดูดซับกลับมาอยู่ในเนื้อไม้ และมวลชีวภาพอื่นๆ
                             ภาพที่ 1 ต้นโพธิ์และต้นตาลเติบใหญ่อยู่คู่กัน
เมื่อต้นไม้มีประโยชน์เช่นนี้ การปลูกต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นต้นอะไร จึงเป็นไม้มงคลสำหรับโลกของเรา
ในทางวิชาการ เราสามารถคำนวณปริมาณการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ ผ่านการคำนวณปริมาณคาร์บอนที่สะสมอยู่ในมวลชีวภาพของต้นไม้นั่นเอง โดยในขั้นตอนแรก เราจะต้องคำนวณปริมาณคาร์บอนที่สะสมอยู่ในต้นพืช โดยการวัดเส้นรอบวงของต้นไม้ที่ระดับอก (มีหน่วยเป็นเซนติเมตร)  แล้วมาคำนวณหาเส้นผ่าศูนย์กลาง (มีหน่วยเป็นเซนติเมตร)
จากนั้น ผมก็นำเส้นผ่าศูนย์กลางของต้นไม้แต่ละต้นไปคำนวณปริมาณคาร์บอนสะสมในต้นไม้โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของธนาคารต้นไม้ และเมื่อทราบปริมาณคาร์บอนที่สะสมในต้นไม้ (มีหน่วยเป็นกิโลกรัม) ก็นำมาคูณด้วย 3.66 เพื่อคำนวณหาปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้นไม้แต่ละต้นดูดซับไว้ได้ (มีหน่วยเป็นกิโลกรัม)
          และหากเราทำการวัดเส้นรอบวงของต้นไม้ในแต่ละปี เราก็จะสามารถเปรียบเทียบมวลชีวภาพของต้นไม้ที่เพิ่มขึ้น และเปรียบเทียบปริมาณคาร์บอนที่สะสมเพิ่มขึ้นในต้นไม้แต่ละต้นได้ ซึ่งปริมาณคาร์บอนที่สะสมเพิ่มขึ้นก็คือ ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้นไม้ดูดซับและแปลงมาเป็นคาร์บอนในแต่ละปี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เราก็จะสามารถทราบได้ว่าต้นไม้ต้นนั้นดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไรในแต่ละปี
          และเมื่อเรานำต้นไม้ทุกต้นในบ้าน (หรือในแปลง) ที่เราศึกษามาบวกรวมกัน เราก็จะสามารถคำนวณปริมาณคาร์บอนที่สะสมในต้นไม้ทั้งหมดในพื้นที่ดังกล่าว และปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้นไม้ทั้งหมดในแปลงดูดซับไว้ได้ ซึ่งปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้นไม้ดูดซับไว้นั้น ก็คือการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะขึ้นไปสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ และทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนั่นเอง
                                        ภาพที่ 2 ไม้พะยูงต้นงามกำลังเติบใหญ่
            การปลูกต้นไม้จึงเป็นมงคลอย่างยิ่งสำหรับโลกของเรา
          เมื่อปีก่อน (ต้นปี พ.ศ. 2554) น้องกระติ๊บลูกสาวเคยทำโครงงานชื่นใจได้เรียนรู้ โดยการวัดเส้น รอบวงของต้นไม้ในบ้านทั้งหมด 44 ต้น แล้วมาคำนวณปริมาณคาร์บอนในเนื้อไม้ได้มากกว่า 10 ตันคาร์บอน หรือเท่ากับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 36 ตัน CO2
          น่าเสียดายที่ยังไม่ทันได้วัดเปรียบเทียบการเติบโตในอีกปีถัดไป เพื่อคำนวณปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซดในแต่ละปี น้องน้ำก็เข้าจู่โจม จนต้นไม้หลายต้นที่กำลังเติบโตงงอกงามก็มีอันดับขันธ์ไป ทั้งต้นชงโค ต้นไทรใบสัก ต้นหางนกยูง ต้นมะเฟือง เป็นต้น เราก็เลยต้องหันมาเร่งฟื้นฟูต้นไม้กันยกใหญ่ โดยที่ยังไม่มีโอกาสไปวัดเส้นรอบวงของต้นไม้ที่รอดมา (ซึ่งก็มีจำนวนไม่น้อย) อีกรอบหนึ่ง
          อย่างไรก็ตาม หากใช้ข้อมูลค่าเฉลี่ยพื้นฐานของป่าเต็งรัง ซึ่งเป็นป่าโปร่งคล้ายกับบ้านเรา พื้นที่หนึ่งไร่ของบ้านเราก็น่าจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่น้อยกว่า 3.02 ตัน CO2/ไร่/ปี
          ต้นไม้ที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีคือ ต้นไม้ที่มีการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเท่าที่สังเกตจากที่บ้าน ต้นไม้ที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีคือ ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นสะเดา ต้นตีนเป็ดน้ำ แต่ต้นไม้ที่เติบโตไวก็มักจะให้เนื้อไม้ที่ไม่ค่อยดี ดังนั้น เราจึงต้องให้ความสมดุลระหว่างการปลูกต้นไม้ที่เน้นการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับการปลูกที่จะเก็บไว้เป็นเนื้อไม้ในภายหน้า
          สำหรับบ้านของเรา ต้นไม้ทุกต้นจึงเป็นไม้มงคล แต่หากเรายังติดตะขวงใจกับชื่อต้นไม้บางต้นเราก็จะต้องมาค้นมาพลิกมุมมองกัน เพื่อหาแง่งามจากชื่อต้นไม้ทุกต้นกันให้ได้ ตัวอย่างเช่น
          หลายคนรู้สึกว่า ต้นจิกนี่ชื่อมันตลกดี เหมือนจะมาจิกตีกัน ภรรยาของผมก็บอกว่า ไม่ใช่ จริงๆแล้วมันหมายถึง ถ้าจะทำงานใดให้สำเร็จเราก็จะต้อง “จิก” ไม่ปล่อย หรือ หากผมอยากให้นิสิตเรียนจบไวไว ผมก็ต้อง “จิก” เพื่อให้รีบมาทำวิทยานิพนธ์และปัญหาพิเศษกันตามเวลาที่กำหนดไว้ เพราะฉะนั้น จิกจึงถือเป็นไม้ที่เป็นมงคลประจำบ้านของเรา
                                 ภาพที่ 3 ดอกจิกบกบานในเวลากลางคืน
          หรืออย่าง “มะตาด” ที่ต้นมีรูปทรงสวย ใบสวย โตไว แต่ชื่อมันดูตลกดี ไม่ทราบแปลว่าอะไร ภรรยาผมขอให้ช่วยเปลี่ยนชื่อหน่อย ผมก็ไปค้นมาได้ว่า มะตาดนี่เป็นไม้ยอดนิยมสำหรับชาวมอญ โดยเฉพาะที่เกาะเกร็ด เพราะสามารถนำผลรูปร่างคล้ายแอปเปิ้ลมาทำแกงส้มได้ เขาจึงมักเรียกชื่อเล่นกันว่า “แอปเปิ้ลมอญ” บ้านเราก็เลยเรียกมะตาดว่าแอปเปิ้ลมอญเช่นกัน
          หรือ “กาหลง” ต้นไม้ที่มีดอกสีขาวสวยงามมาก ทำอาหารได้หลายชนิด แถมยังเป็นไม้มงคลของชาวจีน แต่ภรรยาของผมก็ยังไม่แน่ใจว่า “กามันหลงอะไร?” หลงในสิ่งที่ถูกหรือไม่ถูก (รอบคอบมากๆ) ก็เลยขอให้ผมเปลี่ยนชื่อเช่นกัน ผมก็ค้นไปค้นมา จนไปพบชื่อภาษาอังกฤษของเจ้ากาหลงว่า “snowy orchid” ปรากฎว่า ภรรยาผมชอบมาก กาหลงบ้านเราจึงได้ชื่อว่า snowy orchid (แปลเป็นไทยว่า “เอื้องหิมะ”) ตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา
          ล่าสุด เราปลูกดอกพุดพันธุ์เศรษฐีบางใหญ่ ดอกขาวสวย และกลิ่นหมอถูกใจมาก ทุกอย่างน่าจะลงตัวทั้งต้น ดอก และชื่อ แต่เพื่อให้เก๋ไก๋ และเป็น “มงคล” ยิ่งขึ้น ภรรยาสุดที่รักของผมก็เลยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “เศรษฐีบางรักใหญ่” ตามชื่อตำบลบางรักใหญ่อันเป็นที่ตั้งของบ้านเราไปเสียเลย เรียกว่า ชาวอำเภอบางใหญ่คงค้อนกันให้ขวับทีเดียว
          เมื่อตอนน้ำท่วมเราคิดว่า เจ้าเศรษฐีบางรักใหญ่คงไม่รอดแน่ๆ แต่ที่ไหนได้กลับรอดมาได้ แถมยังออกดอกให้เราดื่นหัวใจ ในช่วงระหว่างการฟื้นฟูน้ำท่วม เรียกว่า เป็นไม้มงคลจริงๆ เพราะให้กำลังใจเจ้าของบ้าน จนปัจจุบัน เราก็ฟื้นฟูบ้านของเราและปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปแล้ว 34 ชนิดในบ้านของเรา
                                 ภาพที่ 4 ดอกเศรษฐีบางรักใหญ่ไม้มงคลประจำบ้าน
          ดังนั้น ความเป็นมงคลที่แท้คงขึ้นอยู่กับใจของเรา ที่จะเปิดให้ได้ชมเชยและเรียนรู้ รวมถึงรักกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบข้าง จนบ่มเพาะกลายเป็นความคิดที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิตที่ดี แล้วความเจริญก็จะตามมา โดยเฉพาะ “ความเจริญในธรรม” เมื่อนั้น บ้านของเราและโลกของเราก็จะมีความสุขอย่างแท้จริง
รายชื่อต้นไม้เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 34 ชนิดในบ้านของเรา
ขนาดในปัจจุบัน
รายชื่อต้นไม้
ต้นไม้ใหญ่เดิม
โพธิ์, ตาล, นนทรี
ต้นไม้กำลังเริ่มใหญ่
ไทร, พะยูง, กันเกรา, ตะเคียนทอง, จิกน้ำ, จิกบก, เสลา, อินทนิลบก, ตีนเป็ดน้ำ, องุ่นทะเล, หางนกยูงฝรั่ง, มะฮอกกานี, ปีบ, ปีบทอง, บุนนาค, มะตาด, สะเดา, ไคร้ย้อย, ปาล์มหางจิ้งจอก, แคนา, เหลืองปรีดียาธร, แก้วมุกดา, จำปี, มะพร้าว
ยังเป็นต้นไม้เล็ก
ทองหลาง, ไผ่รวก, ไผ่เหลือง, พะยอม, ราชพฤกษ์, มะพลับ, ชงโค, ประคำดีควาย, ตะลุมพุก, ยางนา

2 ความคิดเห็น:

  1. ดีใจครับที่ได้เจอผู้ที่รักต้นไม้เหมือนกัน ผมยังเตรียมต้นโพธิ์ทะเลไว้ให้อาจารย์อยู่นะครับ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณค่ะพี่กมล โพธิ์ทะเลนี่ดอกสวยมากเลยนะค่ะ เห็นครั้งแรกที่อุทยานฯชุมพร ประทับใจ มาเจออีกทีที่คลองโยง เคยขอชาวบ้านคลองโยงมาปลูก แต่เสียดายถูกน้ำท่วมตายหมดเลย ไทรใบสักที่พี่เคยให้มาก็โตเร็วมาก ใครมาบ้านก็จะมาชื่นชมต้นนี้เสมอ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นเลย ไปกับน้ำเหมือนกัน ถ้ายังอยู่ตอนนี้กว่า 5 เมตรแล้ว (ปล. ทราบข่าวว่าบ้านพี่รอดจากน้ำไปหวุดหวิด ยินดีด้วยนะคะ ฝากความระลึกถึงคุณแม่บ้านผู้ใจดีด้วยค่ะ)

    ตอบลบ