รุ่งทิพย์ สุขกำเนิด
สมัยนี้ อันตรายมีอยู่รอบตัวจริงๆ ทั้งโจร ขโมย คนขับแท็กซี่ วัยรุ่นขี่รถซิ่ง สาวสวยนุ่งสั้น โอ๊ยสารพัด แม้แต่ของกินที่ไร้ชีวิตก็ยังไม่น่าไว้วางใจ เห็นหน้าตาสะสวยเถอะ ฉาบไปด้วยสารเคมีสารพัด ทั้งสารตกค้าง สารชะลอการบูด กันเน่า สารเคลือบผิวชะลอการเหี่ยวย่น เฮ้ย ไม่น่าไว้วางใจ ส่วนของที่เขาว่า ดีๆ ปลอดสารพิษ ไร้สารเคมี ก็แพงได้ใจจริงๆ แถมหาแหล่งซื้อก็ไม่ง่ายนัก แม้มีสตางค์จะซื้อมาสะสมไว้ มันก็ไม่สด พอจะกิน อ้าว…เฉา เน่าซะแล้ว เสียดายจัง
วิธีที่จะช่วยให้เราได้มีของกินดีๆ สดใหม่ ไร้สารพิษ ก็พอมีอยู่หล่ะค่ะ ก็ต้องเริ่มจากการสละเวลาช่วงเช้าๆที่พระอาทิตย์ยังไม่ทันสาดแสงแรงนัก กับเวลาเย็นหลังเลิกงาน ซึ่งเป็นช่วงที่พระอาทิตย์ชักจะอ่อนล้าจากการเฉิดฉายมาทั้งวัน มาจับจอบจับเสียมทำแปลงผักกันซะหน่อย จะได้มีของดีๆสดๆให้เก็บได้โดยไม่ต้องพึ่งตลาด แต่หลายคนมักปฏิเสธทันควันว่า “ไม่ค่อยมีเวลา” นี่ซิเป็นเรื่องสำคัญ
ดูผิวเผินว่า “คนส่วนใหญ่ ในปัจจุบันไม่เฉพาะคนเมือง มักจะบอกว่าไม่ค่อยมีเวลา” แต่หากเราคิดจะ “จัดสรรเวลา” และลอง “ให้เวลา” กับสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเราเองและคนที่เรารักดูบ้างก็ไม่น่าจะ “เสียเวลา” อะไรมากมายจริงไหมคะ
นอกจาก เหตุผลเรื่อง “เวลา” แล้ว “ความมั่นใจ” ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนรุ่นใหม่มักใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ลงมือลงไม้กันอย่างจริงจัง
ส่วนหนึ่งของความไม่มั่นใจเกิดจากการที่เรา “ไม่ได้ถูกฝึกให้คุ้นเคยกับการปลูกกินเอง” แต่เรากลับ “ถูกฝึกให้คุ้นเคยกับการไปซื้อที่ตลาด” เพราะที่ตลาดมีสารพัดอย่างให้เลือก แถมยังสะดวก ง่ายดาย เหนื่อยแป๊บเดียว อยากได้ตอนไหน อะไร มีให้หมด ที่สำคัญคือไม่ต้องวุ่นวายเตรียมดิน หาเมล็ดพันธุ์ หาอุปกรณ์จอบเสียม ไม่ต้องเลอะเทอะ เสี่ยงกับพยาธิต่างๆ(ดูเหมือนสุขศึกษาจะสอนให้เรากลัวมากกว่าการรู้ทันหรือเปล่า?) ไม่ต้องลุ้นว่าเมื่อปลูกแล้วจะเหลือรอดมาให้ได้ทานกันหรือเปล่า และอื่นๆ
เป็นสัจธรรมมากเลยค่ะ สิ่งที่เราไม่คุ้นชิน ก็มักจะเป็นเรื่องยากไปซะหมด แต่เรื่องที่ยากแสนยาก ถ้าถูกทำให้มันคุ้นชินซะ มันก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายไปได้ ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่เป็นนักดนตรี ลูกๆก็มักจะสามารถเล่นดนตรีได้ดีกว่าคนทั่วไป เช่นเดียวกับครอบครัวนักการเมือง ที่มักก็จะมีทายาททางการเมืองเป็นคนในตระกูลเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสามี ภรรยา ลูก หลาน ไม่น่าเชื่อใช่ไหมคะ ว่า “ความคุ้นชิน” ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายนิดเดียว
ดังนั้น การจะปลูกพืชผักกินเองก็ไม่ใช่เรื่องยากค่ะ “ขอเพียงจัดสรรเวลา และสร้างความคุ้นชิน” รับรอง ยังไม่สำเร็จค่ะ โดยเฉพาะสำหรับมือใหม่ วันนี้เรามีเทคนิคมาฝากเพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจค่ะ เริ่มจาก
1.เลือกปลูกพืชที่ขึ้นง่ายๆ โรคแมลงไม่มาก
การเลือกปลูกพืชที่ขึ้นง่ายๆ จะช่วยสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ปลูกได้เป็นอย่างดี (ซึ่งเทศนิคนี้ฉันก็นำมาใช้กับลูกตอนที่เขาอยากทำสวนถาดด้วยค่ะ) พืชที่ขึ้นง่ายและใช้ประโยชน์ได้มากก็มีสารพัด อย่างเช่น ตะไคร้ กระเพรา โหระพา กระเจี๊ยบเขียว แมงลัก พริก แค ชะอม เห็ด มะเขือ มะเขือเทศ ข่า ขมิ้น มะขาม มะกรูด มะนาว แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วพลู ดอกโสน ดอกขจร บวบ ขี้เหล็ก อัญชัน สะเดา ถั่วงอก มะละกอ กล้วย ฯลฯ พืชพวกนี้นอกจากจะสร้างกำลังใจแล้ว ยังโตไว ให้ผลผลิตดี และเป็นอาหารที่ใช้บ่อย ทานไม่เบื่อด้วย แถมยังช่วยประหยัดสตางค์ได้อีก
ลองสมมติดูนะคะว่า ถ้าโดยเฉลี่ยแล้ว เราต้องซื้อผักผลไม้ข้างบนสัปดาห์ละ 100 บาท (ขอบอกเลยว่าเป็นการคิดมูลค่าที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เพราะตอนนี้มะนาวก็ลูกละ 7- 10 บาท ถั่วงอก กก.ละ 20 บาท ดอกขจรถุงละ 20 บาท กล้วยหวีละ 25-35 บาท ส่วนเห็ด กก.ละ 80-200 บาท) ปีหนึ่งเราจะประหยัดไปถึงประมาณ 5,200 บาท เลยทีเดียว
2.หาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ถ้าไม่มี เมล็ดพันธุ์ซองก็ใช้ได้
เมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน แม้จะให้ผลผลิตไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับเมล็ดพันธุ์ที่ถูกปรับปรุงมาจากบริษัท แต่ก็จะให้ต้นพืชที่มีความทนทานต่อโรคแมลง และสามารถขยายต่อได้ในรุ่นถัดไปได้ ผิดกับเมล็ดซองบางชนิดจะให้ผลผลิตลดต่ำลงมากในรุ่นต่อไป เรียกว่าเสียแรงปลูกเปล่าๆ แถมบางอย่างเช่น กระเพราพื้นบ้าน ยังให้กลิ่นดีกว่าอีกด้วย
ครอบครัวเราได้เพื่อนมากมายที่เป็นชาวบ้านอยู่ต่างจังหวัด ก็เริ่มจาก “ต้นไม้” เป็นสื่อกลาง ก็ด้วยความที่เรานิยมหาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านของแท้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะยังมีอยู่ตามต่างจังหวัด หลายคนบอกว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” แต่อันนี้ขอเถียงเลยค่ะ คนไทยใจดีเสมอ ครอบครัวเราได้ต้นไม้แถมยังได้เพื่อนที่ดีอีกด้วย เพื่อนก็ดีใจที่ต้นไม้ที่ขึ้นเกลื่อนจนดูไม่ค่อยมีค่าในสายตาของเขา กลับ “มีคุณค่า”ในสายตาเรา บางครั้งเราขอแค่อย่างเดียว เขาให้มาตั้งหลายอย่าง แถมให้ผักผลไม้อื่นๆมาด้วย ส่วนเราเมื่อมีโอกาสได้กลับไปเยี่ยมเยือนเขา ก็จะนำของฝากติดไม้ติดมือไปให้ คนห่างกันมักไม่ค่อยมีเรื่องจะคุยกัน แต่เรามี อย่างน้อยก็เล่าถึงการเติบโตของต้นไม้ที่เขาให้มา ปรึกษาเรื่องเทคนิคการปลูกต้นไม้อื่นๆ ไปเที่ยวชมสวนเขา เป็นต้น และที่สำคัญ เมื่อเราเดินดูต้นไม้ที่บ้าน เราก็จะนึกถึงเจ้าของต้นไม้เสมอ และขอบคุณเขาที่มอบสิ่งที่มีค่าเหล่านี้มา
แต่ถ้าหาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านไม่ได้ เมล็ดพันธุ์ซองของบริษัทก็ใช้ได้ดีค่ะ อย่างมะเขือเทศ และกวางตุ้ง สำหรับพืชบางชนิดเราก็ไม่จำเป็นต้องหาเมล็ดพันธุ์ แต่ให้เก็บชิ้นส่วนที่เหลือจากการทานมาปักชำก็จะได้พืชผักไว้ใช้ เช่น ตะไคร้ ผักชีฝรั่ง ขึ้นฉ่าย สะระแหน่ เป็นต้น
3.คลุมดินเพื่อรักษาความชื้นและรักษาหน้าดิน
ตอนนี้แดดเปรี้ยงปร้างมากจริงๆค่ะ สังเกตดูว่าต้นไม้ที่ว่าชอบแดด พอตอนเย็นยังคอตกไปตามๆกัน แม้จะรดน้ำวันเว้นวันก็สู้แทบไม่ไหว ยิ่งถ้าดินปลูกไม่ดีด้วยแล้ว หากลองไปขุดดู บางทีน้ำยังลงไปที่ถึงรากเลยก็มี ทางที่ดีควรหาวัสดุคลุมดินมาช่วยค่ะ จะใช้ฟางหรือหญ้าแห้งก็ได้ นอกจากจะช่วยรักษาความชื้น และลดการระเหยของน้ำแล้ว ยังช่วยลดการกระแทกของน้ำต่อดินและต้นพืชอีกด้วย เท่ากับว่าเป็นการรักษาความชื้นและหน้าดินไปในตัว อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้ดินซึ่งไม่มีปุ๋ยเคมีชนิดไหนให้ได้
4.หมั่นเดินชมสวน
อันนี้ไม่ได้หมายความว่า แค่ร้องเพลงให้ต้นไม้ฟัง หรือชื่นชมในความงามของธรรมชาติเท่านั้น แต่ต้องคอยสังเกตว่าต้นไม้ของเราอยู่ดีมีสุขหรือเปล่า มีใครมารบกวนไหม “ใคร” ในที่นี้หมายถึง โรค แมลง หนอน หอยทาก รวมถึงมือไม่ดีที่มาแอบหักกิ่งก้าน หรือลากสายยางทับ เป็นต้น จะได้หาทางแก้ไขกันตั้งแต่ต้น เพราะถ้าปล่อยไปนานๆอาจกู่ไม่กลับได้
5.หาความรู้เพิ่มเติมและทดลองความรู้ใหม่เสมอๆ
เมื่อเจอปัญหาโรคแมลง อย่าเพิ่งตกใจหันไปพึ่งพาสารเคมี จะทำให้เสียความตั้งใจเปล่าๆ ให้คิดเสียว่า “เป็นธรรมดาของสิ่งมีชีวิต” ที่ต้องการอาหารและขยายเผ่าพันธุ์ มันก็เหมือนเรา แต่เราไม่เหมือนมัน (อิๆๆ) ที่สามารถหาความรู้มาจัดการมันได้ สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่า “ความรู้คืออะไร” ซึ่งความรู้นี้อาจได้จากประสบการณ์ที่สั่งสมและเรียนรู้มาในอดีต และการทดลองใหม่ๆ
แต่ความรู้คืออะไร ที่เกิดจากจินตนาการของเราอาจไม่ได้ประสบความสำเร็จง่ายๆ และอาจไม่ทันการณ์ ดังนั้นเราต้องมีความรู้อีกแบบหนึ่งด้วยก็คือ “ความรู้อยู่ที่ไหน” เพื่อที่จะได้ย่นระยะเวลาในการทดลองลง แบบว่าเป็นความรู้ที่สามารถนำมาใช้ได้เลย ซึ่งความรู้ส่วนใหญ่นั้นมีอยู่แล้ว เพียงแต่มันกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ ทั้งหนังสือ อินเตอร์เน็ต ทีวี ปราชญ์ชาวบ้าน และแม้แต่ความรู้จากชาวบ้านผู้มีประสบการณ์คนละเล็กละน้อย ก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ที่จะสามารถเอามาประยุกต์ใช้ได้ แต่ต้องไม่ลืมว่า “โรคและแมลงยังมีพัฒนาการ แล้วเราจะนิ่งอยู่ได้อย่างไร” เราเองก็ต้องมีการค้น ต้องคว้า ต้องทดลอง/ทดสอบความรู้ใหม่ๆเสมอจริงไหมคะ ไม่งั้นก้าวไม่ทันโรคแมลงไม่รู้ด้วย
ถึงตรงนี้ มือใหม่คงมีกำลังใจขึ้นมาบ้าง ว่ามันไม่ยากอย่างที่เคยคิด “ขอเพียงจัดสรรเวลา และสร้างความคุ้นชิน” รวมถึงศึกษาเทคนิคจากแหล่งต่างๆ และนำมาทดลองปรับใช้ คราวนี้รับรอง โรคและแมลงคงไม่ใจไม้ไส้ระกำ กระทำการจนเกินงาม จนไม่เหลือให้คนปลูกได้กิน แต่ถ้ามันทำได้ถึงปานนั้น ก็ถือว่าชดใช้กรรมหรือทำบุญทำทาน ถ้าหมดกรรมเมื่อไหร่คงได้ทานผักอินทรีย์แสนอร่อยฝีมือตัวเองเข้าสักวันหนึ่ง ซึ่งคงไม่นานเกินรอหรอกค่ะ
รายชื่อผักผลไม้ในบ้านต้นคิดทิพย์ธรรม
ประเภท
|
ผลผลิตในบ้านต้นคิดทิพย์ธรรม
|
ผักกินใบ
กินดอก กินผล
(30 ชนิด) |
ถั่วงอก, เห็ดกระด้าง, เห็ดภูฏาน,
เห็ดนางฟ้า เห็ดเป๋าฮื้อ, ผักโขม, ตำลึง, บวบ,มะเขือเทศ, มะเขือลาย,
มะเขือขื่น, มะเขือเปาะ, ฟักเขียว, ถั่วฝักยาว, ถั่วพู,
หน่อไม้, ผักหวานบ้าน, โสน, ขจร, กระเจี๊ยบเขียว,
ขี้เหล็ก, แตงกวา, ดอกแคขาว,
ชะอม, ผักกาดหอม, เตยหอม,
กระเจี๊ยบแดง, ใบหูเสือ, ผักแพว, อัญชัน
|
เครื่องแกง/เครื่องเคียง
(19 ชนิด) |
มะนาว, ส้มจี๊ด, ขิง, ข่า, ตะไคร้, ใบกระเพรา, โหระพา,
แมงลัก, ใบมะขาม, ใบชะมวง,
กระวาน, มะกรูด, ผักชีฝรั่ง,
สาระแหน่, ขึ้นฉ่าย, ใบชะพลู,
เร่ว, กระชาย, กาบหอยแครง
|
ผลไม้/พืชหัว
(ทานแล้ว 13 ชนิด) |
มะยม, ฝรั่ง, เสาวรส, กล้วย,
มะเฟือง, มะขามเทศ, หม่อน,
เชอรี่, มันเทศ, มันห้านาที,
เผือก, ตาล, มะละกอ
|
ผลไม้
(รอทาน 9 ชนิด) |
มะพร้าว, ทับทิม, ส้มโอ, ขนุน,
ชมพู่, ชมพู่มะเหมี่ยว, มะม่วง, ลิ้นจี่, เงาะ
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น