บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

รอยเท้าคาร์บอน: ใครใหญ่ อยู่ยาก



เดชรัต สุขกำเนิด
          ตรุษจีนปีพ.ศ. 2555 นี้ ที่บ้านใหม่ของผมไหว้ตรุษจีนเป็นทางการเป็นครั้งแรก ผมได้รายงานเง็กเซียนฮ่องเต้ถึงพฤติกรรมของพวกเราว่า ครอบครัวเรา 5 คน (รวมพี่หน่อย) ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปประมาณ 8 ตันเมื่อปีที่ผ่านมา
          พร้อมกันนั้น ผมก็ได้สัญญาว่าปีนี้จะพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 1 ตัน พร้อมทั้งปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกสำคัญให้มากขึ้น
          พอผมนำคำรายงานและคำอธิษฐานดังกล่าว ไปโพสต์ลงในเฟซบุ๊คก็ปรากฏว่า มีเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊คให้ความสนใจกันมากทีเดียว รวมทั้งให้กำลังใจ และเพื่อนบางคนก็ไถ่ถามในภายหลังถึงวิธีคิดคำนวณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะสนใจที่จะไปลองคิดดูบ้าง

           ภาพที่ 1 รายงานเง็กเซียนฮ่องเต้ถึงการใช้ทรัพยากรของโลกในวันตุษจีนปี 2555
           ผมขอเริ่มต้นอธิบายแนวคิดก่อนนะครับ หลายคนที่สนใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนคงทราบดีว่า แนวคิดที่ผมใช้ในการคำนวณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คือ แนวคิดรอยเท้าคาร์บอน (หรือ Carbon footprint)
          คำว่า footprint หรือรอยเท้านั้นเป็นการอุปมาแบบฝรั่ง เปรียบเสมือนการที่คนเราย้ำไปในหาดทราย ก็จะปรากฏรอยเท้าทิ้งเอาไว้ หากการใช้ทรัพยากรของเราได้ทำให้ทรัพยากรของโลกร่อยหรอลงไปก็คงเปรียบเสมือนรอยเท้าที่ย่ำลงไปโดยที่ผู้อื่นก็ไม่สามารถเข้ามาย่ำซ้ำได้ (เพราะเราได้ใช้ทรัพยากรในส่วนนั้นหมดแล้ว) และเมื่อทุกคนช่วยกันย่ำ (โดยไม่ซ้ำที่กัน) ในไม่ช้าเราก็พบว่า หาดทรายนั้นก็เต็มไปด้วยรอยเท้าจนไม่มีที่ว่าง (หรือทรัพยากรที่เหลืออยู่) อีกแล้ว
          เพราะฉะนั้น ภายใต้แนวคิดนี้ ผู้ที่มีรอยเท้าใหญ่ ซึ่งก็คือ ผู้ที่ใช้ทรัพยากรมาก และหากทั้งสังคมมีรอยเท้าใหญ่ สังคมนั้นก็จะมีการใช้ทรัพยากรที่มาก จนเกินกว่าทรัพยากรที่ตนเองมี และมักจะไปนำเข้ามาจากประเทศอื่นๆ หรือสร้างหนี้ไว้ให้คนรุ่นหลังช่วยชดเชย
          รอยเท้าคาร์บอนก็พัฒนามาจากแนวคิดดังกล่าว เพียงแต่ประยุกต์ว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยไปจากการใช้พลังงานและการบริโภคต่างๆ จำเป็นต้องมีพื้นที่ป่าไม้ (ซึ่งก็คือทรัพยากร) เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกไป เพราะถ้าไม่มีพื้นที่ป่าคอยดูดซับ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกไปก็ต้องไปสะสมในชั้นบรรยากาศ จนกลายเป็นภาวะเรือนกระจกเช่นในปัจจุบัน
ดังนั้น ใครที่บริโภคและใช้พลังงานมาก ก็จะถือว่ามีรอยเท้าใหญ่ แต่คราวนี้ไม่ใช่ “ใครใหญ่ ใครอยู่” แบบการแข่งขันทางธุรกิจทั่วไป แต่กลายเป็น “ใครใหญ่ อยู่ยาก” เพราะจำเป็นจะต้องมีพื้นที่ป่าหรือพื้นที่ปลูกต้นไม้จำนวนมากขึ้น เพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ตนเองปล่อยออกมา
แต่หาก “ขาใหญ่” ผู้นั้น ไม่มีการปลูกป่าเพื่อคอยดูดซับ ขาใหญ่ผู้นั้นก็จะฝากหนี้คาร์บอนเอาไว้ให้ชนรุ่นหลังต้องรับภาระไปอีกนาน เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยในวันนี้ก็จะสะสมในชั้นบรรยากาศนานกว่า 150 ปี
เพราะฉะนั้น งานนี้ ใครใหญ่ อยู่ยากครับ
ขอย้อนกลับมาที่การคิดคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกครับ เริ่มต้นจากการจดข้อมูลการบริโภคพลังงานของครอบครัวเราครับ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไฟฟ้า การใช้น้ำมัน และก๊าซหุงต้มครับ จากนั้น เราก็จะนำมาคำนวณหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากปริมาณการใช้พลังงานของเราครับ
ตัวอย่างเช่น บ้านผมใช้ไฟฟ้าประมาณ 350 หน่วยต่อเดือน (หรือกิโลวัตต์-ชั่วโมง/เดือน) ปีหนึ่งก็ใช้ไฟฟ้าไปประมาณ 4,200 หน่วย การผลิตไฟฟ้าแต่ละหน่วยของไทยจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยเฉลี่ยประมาณ 0.5610 กก.CO2/หน่วยไฟฟ้า เพราะฉะนั้น การใช้ไฟฟ้าในบ้านของผมทั้งปี ก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 2.356 ตัน CO2/ปี
จากนั้น ก็มาถึงตัวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำคัญคือ รถยนต์ ยิ่งครอบครัวผมมีรถยนต์สองคัน คันหนึ่งกินน้ำมันน้อยหน่อย (ประมาณ 15 กม./ลิตร) อีกคันหนึ่งกินน้ำมันมากหน่อย (ประมาณ 11 กม./ลิตร) คันแรกใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 ประมาณ 90 ลิตร/เดือน คันที่สองใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 ประมาณ 120 ลิตร/เดือน รวมสองคันใช้น้ำมันไป 210 ลิตร/เดือน หรือ 2,520 ลิตร/ปี การเผาไหม้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 แต่ลิตรจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1.9706 กก.CO2/ลิตร เพราะฉะนั้น ตลอดทั้งปีการขับรถของผมและภรรยาก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไป 4.965 ตัน CO2/ปี
ต่อมา ก็เป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ก๊าซหุงต้ม (หรือ LPG) ซึ่งแต่ละปีครอบครัวผมจะใช้ก๊าซหุงต้มประมาณ 6 ถัง หรือ 90 กก./ปี ซึ่งการเผาไหม้ก๊าซหุงต้มแต่ละกิโลกรัมจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 0.7350 กก.CO2/กก.LPG เพราะฉะนั้นแต่ละปี ครอบครัวผมก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการหุงต้มในครัวเรือนไปประมาณ 66.15 กก. CO2/ปี
นอกจากนั้น ก็จะมีการใช้น้ำประปา ซึ่งการผลิตน้ำประปาแต่ละหน่วยก็จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปประมาณ 0.0264 กก. CO2/ลูกบาศก์เมตร เมื่อบ้านผมใช้น้ำประปาประมาณ 35 ลูกบาศก์เมตร/เดือน หรือ 420 ลูกบาศก์เมตร/ปี ก็จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปทั้งสิ้น 11.09 กก.CO2/ปี บวกกับการจัดการขยะแกเล็กน้อยประมาณ 102 กก. CO2/ปี
รวมเบ็ดเสร็จบ้านผมก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปทั้งสิ้น 7.503 ตัน CO2/ปี เราก็เลยประมาณกันและรายงานเง็กเซียนไปว่า ครอบครัวเราปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไป 8 ตัน ในปีที่ผ่านมา
ซึ่งหากเทียบกับการปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็คงจะต้องปลูกต้นไม้ให้ได้ประมาณ 3 ไร่ (ไร่ละ 3.02 ตัน CO2/ปี) ซึ่งครอบครัวเราก็ปลูกต้นไม้กว่า 50 ชนิดในพื้นที่หนึ่งไร่ และยังปลูกที่วังน้ำเขียวอีก 3 ไร่ และที่ชุมพรอีกกว่า 9 ไร่ เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราปล่อย รวมทั้งหมดแล้วน่าจะดูดซับได้มากกว่า 36 ตัน/ปี

ภาพที่ 2 สวนวังน้ำเขียวของเรา ปลูกป่ามา 16 ปีแล้ว ตั้งแต่ตอนแต่งงานใหม่ๆ ตอนนี้ต้นไม้เริ่มใหญ่แล้ว ต่อไปหลายต้นคงใช้เป็นสินสอดหรือของขวัญวันแต่งงานให้ลูกได้


อย่างไรก็ดี ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 8 ตัน/ปีนี้ ยังไม่รวมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการผลิตอาหารที่ซื้อเข้ามาบริโภค และการเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งบ้านเรายังมิได้เก็บข้อมูลรายละเอียดเพียงพอที่จะมาคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้
ถ้าประมาณการณ์จากข้อมูลโดยเฉลี่ยของคนไทยที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการบริโภคอาหารประมาณ 867.52 กก.CO2/ปี ครอบครัวเรา 5 คนก็จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการบริโภคอาหารไป 4.337 ตัน CO2/ปี
แต่เนื่องจากที่บ้านของเราปลูกผักไว้กินเองหลายชนิด โดยไม่ใช่ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นต้นเหตุหลักในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งข้าวที่เราบริโภคเราก็ซื้อข้าวหอมที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี เพราะฉะนั้น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการบริโภคอาหารจึงน่าจะลดลงไปมาก ซึ่งในปีหน้าเราจะลองมาคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการบริโภคอาหารกันดูอีกครั้งหนึ่ง
จากข้อมูลทั้งหมด จะเห็นได้ว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราปล่อยส่วนใหญ่ หรือประมาณ 2 ใน 3 (หรือร้อยละ 66) จะมาจากการใช้รถยนต์ ส่วนอีกประมาณร้อยละ 31 จะมาจากการใช้ไฟฟ้า เพราะฉะนั้น ในปีนี้เราจะควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสองส่วนนี้ให้เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะการใช้รถยนต์ที่ผมตั้งใจว่าจะลดการใช้น้ำมันลงให้ได้ร้อยละ 20 เพราะน้ำมันก็แพงขึ้นมากพอดีเหมือนกัน
เกมนี้จึงไม่ใช่เกมใครใหญ่ใครอยู่ แต่เกมเพื่อโลกใบนี้จึงต้องเน้นรอยเท้าให้เล็กลง เพื่อรักษาโลกของเราไว้ให้ชนรุ่นหลัง ครอบครัวเราจะทำได้ดีมากน้อยเพียงใด มาติดตามกันในวันตรุษจีนปีหน้านะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น