รุ่งทิพย์
สุขกำเนิด
ด้วยความเป็นคนชอบทานเห็ดโดยเฉพาะเห็ดฟาง
ฉันจึงมักหาความรู้เรื่องการปลูกเห็ดฟางอยู่เสมอ
เห็นหนังสือที่ไหนก็มักจะหยิบอ่านเป็นประจำ
แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ลงมือปฏิบัติสักที แค่คิดถึงโรงเรือน วัสดุปลูก
การหาซื้อเชื้อเห็ด การดูแล การให้น้ำ ฯลฯ
แค่นี้ ความคิดที่จะปลูกเห็ดฟางทานเองก็เป็นอันถูกพับใส่ลงไปในหนังสือแล้วใส่กระเป๋าอีกที
จนลูกสาวคนโตเรียนอยู่ชั้นป.4 เขาเลือกทำรายงานเรื่อง
“เห็ด” และตอนนำเสนอก็ต้องมีก้อนเห็ดพร้อมดอกมาโชว์ด้วย
พอเสร็จงานคุณครูจึงให้นำกลับบ้านมาเลี้ยงต่อ 3 ก้อน ด้วยความที่เราไม่มีความรู้อะไรสักอย่าง รู้แต่ว่ามันเป็น ”สิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ”
และชอบที่ชื้นๆ เราก็เลยวางมันไว้ที่ต่ำๆในห้องน้ำ เราอาบน้ำประปา เราก็รดน้ำประปาให้มันด้วย
ก็แบบว่า รดบ้างไม่รดบ้าง ด้วยกลัวว่ามันจะชื้นเกินไป เดี๋ยวเห็ดจะขึ้นราหรืออาจมีโรคแทรกซ้อนตายไปก่อน
อะไรทำนองนี้ ทุกคนในบ้านจะผลัดกันมาเฝ้าดูอาการของมัน
คอยวิพากวิจารณ์ คอยลุ้นว่าเมื่อไหร่จะออกดอกให้เราได้ชื่นใจสักที
จนกระทั่งวันหนึ่งซึ่งผ่านไปเกือบ
3 เดือนให้หลังนับจากวันที่ได้ก้อนเห็ดมา เรียกว่า “เกือบโยนทิ้งไปแล้ว” มันก็ออกดอกมาให้เราได้ลิ้มรสจนได้ค่ะ
สรุปรวมว่า เราได้มา 9 ดอกจากเชื้อเห็ด 3 ก้อน แค่นั้นจริงๆค่ะ อ้อ ! จะพูดว่า “เรา” ที่ได้ลิ้มรส ก็คงไม่ถูกต้อง เพราะคนที่ได้ทานก็มีแต่เจ้าตัวเล็กทั้งสองเท่านั้น
จะแย่งเขาได้ยังไงค่ะ ก็มันมีแค่ 9 ดอก แถมไม่ได้ออกพร้อมกันด้วย ดังนั้น เวลานำมาทำเป็นอาหารก็เลยต้องมีเทคนิคเพิ่มปริมาณค่ะ
ด้วยการแบ่งเห็ดออกเป็นเสี้ยวๆ และนำมาชุบแป้งทอด อร่อยไปตามๆกันเลยค่ะ อันที่จริงบ้านเราก็ซื้อเห็ดมาทานกันค่อนข้างบ่อย
แต่เด็กๆกลับไม่ค่อยจะทานกัน ถ้าจะสรุปว่า “ความอร่อยที่ได้เป็นผลมาจากการรอคอยหรือเป็นผลจากความภาคภูมิใจ”
ก็ถือว่าน่าจะสรุปไม่ผิดใช่ไหมคะ
แต่สำหรับฉันแล้ว
แม้เด็กจะภาคภูมิใจ แต่ฉันก็อดสงสัยไม่ได้ว่า
“ทำไมการเลี้ยงเห็ดมันช่างยากขนาดนี้” และถ้าเห็ดออกดอกน้อยขนาดนี้จริง
คนปลูกจะอยู่ได้อย่างไร ?
ปีถัดมา
ฉันได้มีโอกาสไปฟาร์มเห็ดแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี
ด้วยความตื่นตาตื่นใจกับจำนวนก้อนเห็ดมากมายที่เขาเขี่ยเชื้อไว้เพื่อรอส่ง และความมีอัธยาศัยไมตรีของพนักงานที่พาเดินชมจนทั่ว
ระหว่างเดินไป ฉันก็ขอความรู้ไปเรื่อยๆ จนสุดท้าย “ก็ยังไม่มั่นใจหรอกค่ะ”
ว่าตัวเองจะปลูกเห็ดรอด แต่ก็ลองดูค่ะ
ถ้าไม่เริ่มก็คงไม่รู้ว่าจะรอดหรือเปล่า
ฉันจึงกัดฟันควักสตางค์ซื้อเชื้อเห็ดมา
40 ก้อน เป็นพวกนางฟ้าภูฐาน และเป๋าฮื้อ พร้อมเชือกแขวน โดยหวังว่าจะได้ทานเห็ดฝีมือตัวเองกะเขาบ้าง
เมื่อได้ก้อนเห็ดมา
ปัญหาก็เกิด เพราะไม่รู้ว่าจะนำเจ้าก้อนเชื้อนี้ไปแขวนที่ตรงไหนดี สอดส่องสายตาไปมา
ก็พบซุ้มไม้ที่ตั้งใจทำไว้ให้ฟักเขียวเลื้อย
แต่ตอนนี้ฟักเขียวยังไม่โต ขออาศัยทำโรงเห็ดไปพลางๆก่อนก็แล้วกัน แต่ซุ้มที่ว่ายังมีแค่เสา 4 ต้นกะคานบนเท่านั้น ครั้นจะหาจากมามุงก็ทำไม่เป็น แค่ปลูกพอหนุกหนาน จะจ้างใครมาทำก็คงไม่คุ้ม นึกไปนึกมา
เอาแบบง่ายๆก็แล้วกัน ฉันจึงลงทุนซื้อแสลนมาทำผนังและหลังคา ผูกง่ายๆด้วยลวดพออยู่
จากนั้นก็เอาเสื่อเก่าๆ หรือไวนิลที่ไม่ใช้แล้วมาผูกกันเฉพาะด้านที่แดดส่องตรงๆเพื่อลดความร้อน
ก็จะเอาอะไรมากมายกับสาวๆสองคนหล่ะคะ
ได้แค่นี้ก็โอเคแล้ว เล่นเอาหอบเหมือนกัน
ภาพที่ 1 กระติ๊บมุดโรงเรีอนเห็ด
สำหรับก้อนเห็ดที่ซื้อมา
เชื้อยังเดินไม่เต็มถุงจึงต้องรออยู่หลายวัน
เมื่อเชื้อเดินเต็มจะสังเกตว่ามีสีขาวของเชื้อกระจายทั่วก้อน จากนั้นก็ถึงเวลาเปิดปากถุงกันแล้ว
ตอนไปซื้อก้อนเชื้อ
ฉันจะพาเด็กๆไปด้วย เขาเองก็ได้รับความรู้มาบ้างแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาลงมือจริง ไม่รอช้าน้องแดนคว้าช้อนแสตนเลสสั้น เช็ดปลายด้ามด้วยแอลกอฮอล์ พี่หน่อยเอาจุกออก น้องแดนแคะปากถุงก้อนเชื้อ เอาข้าวฟ่างและสำลีที่อุดปากออก
จากนั้นนำไปขึ้นคาน เอ้ย เสียบไว้ในเชือกที่แขวนไว้กับคาน รดน้ำ เป็นอันเรียบร้อย
ภาพที่ 2 น้องแดนเปิดปากถุงเห็ด
ไม่นานเกินรอค่ะ
หลังจากแขวนประมาณ 1 สัปดาห์ คราวนี้เห็ดแย่งกันออกดอกใหญ่เลย มีให้ได้เก็บทุกวัน โอ
มันยากจะอธิบายจริงๆ ว่าเห็ดสด มันสุดยอดยังไง ทั้งกรอบ ทั้งเด้ง
ผิดกับที่เราซื้อมาจากตลาด เพราะมันช้ำจากการขนส่งและทับๆกันมา เมนูเด็ดๆ ทั้งหลายถูกงัดขึ้นมา
ไม่ว่าจะเป็นต้มยำ ต้มข่า ชุบแป้งทอด แกงเลียง ยำเห็ด ผัดผักรวมเห็ด กระเพราะเห็ด
น้ำพริกเห็ด สารพัดเห็ด เมื่อออกมากๆ ทานไม่ทันก็ต้องแบ่งญาติ แบ่งเพื่อน
ใครได้รับไปจะออกปากชื่นชมกันทุกคนว่า “สด อย่างที่ไม่เคยทานมาก่อน”
ฉันลองเก็บสถิติในการปลูกครั้งแรกของเราก็พบว่าเห็ดภูฐาน
20 ก้อนซึ่งลงทุนซื้อมาในราคา 8 บาท (ราคาขึ้นกับชนิดของเห็ดและสถานที่ขาย) สามารถให้ผลผลิตได้ถึง 5.2 กก. ซึ่งตลาดต่างจังหวัดขายประมาณ กก.ละ 80 บาท (ราคาขึ้นกับสถานที่ขาย) โอ้โห กำไรเหนาะๆ 200 บาท
ไม่รวมค่าความอิ่มเอมใจ
บางคนอาจเถียงว่า
คิดเข้าข้างตัวเองมากไปหรือเปล่า เพราะยังไม่ได้คิดค่าค่ารถ ค่าโรงเรือน
ค่าสายห้อย และค่าเสียเวลาในการรดน้ำเลย
อันนี้ขออธิบายดังนี้ค่ะ สมมติว่าก้อนเชื้อเห็ดออกดอกทุกวัน
น่าจะออกดอกนานประมาณ 40 วัน ดังนั้น ค่ารถซื้อก้อนเชื้อเห็ด(1 ครั้ง)
ขอหักลบกับค่ารถที่ไปซื้อกับข้าว (40 ครั้งที่เฉลี่ยกับการซื้อกับข้าวอื่นๆ) ส่วนค่าโรงเรือนอันนี้อาจจะนับไม่ได้ทีเดียว
เพราะโรงเรือนที่ฉันสร้างขึ้นมานั้นใช้งานได้หลายปี(ตอนนี้ใช้มา 2 ปีแล้ว)
แถมยังใช้ประโยชน์อย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ปลูกฟักเขียว บวบ และผักปลัง
และบางครั้งก็ใช้เป็นแหล่งอนุบาลกล้าไม้ที่เพิ่งลงถุงใหม่ๆ สำหรับค่าสายห้อยก็ใช้มา
2 ปีแล้วเช่นกัน และยังใช้ต่อไปได้อีก หากสายห้อยอันเก่าเสีย
คราวต่อไปเราก็จะไม่ยอมเสียแพง โดยสามารถประยุกต์เอาวัสดุเหลือใช้มาทำเองได้ ส่วนค่าเสียเวลารดน้ำอันนี้ขอเทียบกับค่าเสียแรงในการเดินซื้อและหิ้วถุงเห็ดจากตลาดกลับบ้านก็แล้วกันนะคะ
ภาพที่ 3 น้องแดนช่วยแขวนเห็ด
ดูเหมือนง่ายใช่ไหมคะ
แต่ถ้าไม่รู้เทคนิคก็อาจเป็นเรื่องที่ยากอยู่เหมือนกัน
เหมือนครั้งแรกที่เคยลองเลี้ยง ซึ่งแทบจะได้ผลผลิตเอาซะเลย เทคนิคเล็กๆน้อยๆที่ได้จากประสบการณ์
2 ปี ในตาราง น่าจะช่วยมือใหม่ได้บ้าง อย่างน้อยก็น่าจะช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตและช่วยยืดอายุก้อนเชื้อได้
ลองทำตามดูนะคะ
ภาพที่ 4 กระติ๊บหน้าบานเป็นจานเห็ด
เห็ดจัดเป็นราชั้นสูงกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีวิวัฒนาการสูงว่าราอื่นๆมีวงจรชีวิตที่ซับซ้อนกว่าเชื้อราทั่วไป
เริ่มจากสปอร์ซึ่งเป็นอวัยวะหรือส่วนที่สร้างเซลขยายพันธุ์
เพื่อตกไปในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมจะงอกเป็นใย และกลุ่มใยรา (Mycelium) เจริญพัฒนาเป็นกลุ่มก้อนเกิดเป็นดอกเห็ดอยู่เหนือพื้นดินบนต้นไม้
ขอนไม้ ซากพืช มูลสัตว์ ฯลฯ เมื่อดอกเห็ดเจริญจะสร้างสปอร์ซึ่งจะปลิวไปงอกเป็นใยรา
และเป็นดอกเห็ดได้อีก หมุนเวียนเช่นนี้เรื่อยไป น้องแดนไทจึงสรุปแบบเด็กว่า “เห็ดคือจู๋ของรา”
องค์ประกอบคุณภาพ
|
เทคนิค
|
1.หาก้อนเชื้อที่แข็งแรง
|
1.ควรเลือกก้อนเชื้อที่มีเชื้อเดินเต็มถุงจากที่ฟาร์ม
2.เราไม่สามารถบอกได้ว่าเชื้อถุงไหนแข็งแรงหรือไม่แข็งแรง
แต่ต้องทดลองเลือกฟาร์มแล้วเปรียบเทียบผลผลิตที่ได้
หรือเปรียบเทียบก้อนเชื้อที่เสียหายดู
3.ฟาร์มที่ผลิตก้อนเชื้อดีมีคุณภาพจะขายราคาสูงคืออยู่ที่ก้อนละประมาณ
8 บาท (ขึ้นกับชนิดของเห็ด) ส่วนฟาร์มที่ก้อนเชื้อเดินเพียงนิดเดียวจะขายอยู่ที่ก้อนละ
4 บาท แต่ต้องมาบ่มเองนานกว่า 1 เดือน เท่าที่ทราบก้อนเชื้อจะเสียหายประมาณ
30-40 % ของที่ซื้อมา
|
2.มีเห็ดให้ทานได้นานและหลากหลาย
|
1.หากต้องการให้มีเห็ดทานได้นานๆต้องเลือกก้อนเชื้อที่เดินไม่เท่ากัน
เพื่อให้เห็ดทยอยออก หากเลือกก้อนเชื้อที่เดินในถุงเท่าๆกันมันก็จะดอกพร้อมๆกัน
จนกินไม่ทันทีเดียว
2.เลือกเห็ดหลายประเภท
จะได้มีเห็ดอร่อยๆหลายแบบไว้ทาน
แต่ตรงนี้ต้องลองถามเจ้าของฟาร์มดู
เพราะเห็ดแต่ละชนิดก็ชอบสภาพในโรงเห็ดไม่เหมือนกัน
|
3. พันธุ์ที่เลี้ยงง่าย ศัตรูน้อย
|
ขอแนะนำ นางรม นางฟ้า ภูฐาน เห็ดกระด้าง เป๋าฮื้อ
|
4.สภาพโรงเห็ดที่ดี
|
1.สะอาด
ไม่มีหนู แมลงสาป แมลงหวี่ มด ปลวก เข้ามารบกวน
2.ความชื้นเพียงพอ
ไม่แห้งหรือเปียกแฉะเกินไป หากแฉะเกินไปจะมีราอื่นมารบกวน
3.อากาศถ่ายเทสะดวก
|
5.น้ำใช้ที่เหมาะสม
|
ควรใช้น้ำสะอาดที่สภาพเป็นกลาง ถ้าเป็นน้ำฝนที่รองไว้จะดีมาก แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้น้ำประปา ต้องพักทิ้งไว้
3-4 วัน (เห็ดไม่ชอบคลอรีน)
|
6.วิธีการเก็บดอกเห็ด
|
1.ควรดึงถึงโคน
ไม่ควรใช้วิธีตัดหรือหัก
เพราะจะทำให้ส่วนโคนที่เหลือค้างอยู่เน่าและเป็นต้นกำเนิด ราและแมลงหวี่
2.ดอกเห็ดที่บานมากเกินไปจะขอบดอกมักจะแห้ง
และดูไม่น่าทาน แต่ถ้าเล็กเกินไปก็จะไม่ได้น้ำหนัก
|
7.วิธีการเก็บรักษาดอกเห็ด
|
ดอกเห็ดที่เก็บแล้ว ไม่ต้องล้าง
ให้ใช้มีดแต่งให้สะอาด จากนั้นใส่ถุงพลาสติก โดยไม่ใสเห็ดมากเกินไป รัดปากให้ถุงพองลม ใส่ตู้เย็นช่องธรรมดา
สามารถเก็บได้นานประมาณ 2 อาทิตย์ในสภาพสดใหม่
|