เดชรัต
สุขกำเนิด (พ่อต้น)
จะว่าไปก็เป็นเรื่องแปลกที่เราพ่อแม่มักจะไขว่คว้าหาการศึกษาทางเลือกบ้าง
โรงเรียนทางเลือกบ้าง แต่เรากลับไม่ค่อยได้ย้อนคิดว่า
การศึกษาที่เรามุ่งหวังและมุ่งสร้างให้ลูกของเรา คืออะไรกันแน่
เป็นไปได้ว่า เพราะเราอาจจะมุ่งไปที่การ
“เลือก” มากเกินไป เหมือนที่เราคุ้นเคยกับการเลือกสมาร์ทโฟน เลือกบ้านจัดสรร
เลือกหุ้นตัวที่มีอนาคต เลือกร้านอาหารอร่อย และเลือกโรงเรียนที่เราเชื่อถือ
แต่ก็เป็นไปได้ว่า
ในชีวิตของเรา เราอาจมีอีกหลายๆ เรื่อง ที่เรามิอาจเลือกทุกอย่างได้ทั้งหมด เพราะบางกรณี
อาจไม่มีใครเสนอ “ตัวเลือก” หรือ “ทางเลือก” ที่ตรงกับใจเรา เพราะผู้ประกอบการที่เสนอผลิตภัณฑ์/บริการเหล่านั้นอาจจะยังไม่ทราบว่าเราต้องการอะไร
หรืออาจเป็นไปได้ว่า
เราเองก็อาจจะยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่า ตัวเราเองต้องการอะไรกันแน่
ดังนั้น
หลายเรื่องในชีวิต จึงมิอาจตั้งอยู่บนฐานของการเลือก
ที่พวกเราชนชั้นกลางและผู้บริโภคที่มีอำนาจซื้อคุ้นเคย แต่เป็นเรื่องที่เราจะต้อง
“ลงมือ” สร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาด้วยมือของเราเอง โดยใช้ “ใจ” ของเราเป็นไฟนำทาง
การศึกษาของลูกเรา
น่าจะเป็นหนึ่งในเรื่องเหล่านั้น ที่ต้องใช้ “ใจ” และ “มือ” ของเราประกอบมันขึ้นมา
มิใช่แค่ไป “เลือก” หาสินค้าที่มีคุณภาพจากชั้นวางเช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ
ผมยอมรับว่า
ตัวผมเองก็ไม่เคยขบคิดกับเรื่องเหล่านี้มาก่อน
เพราะเชื่อว่าตัวเองได้เลือกโรงเรียนที่ดีให้กับลูกแล้ว
และแม้บางครั้งที่เราอาจหงุดหงิดกับโรงเรียนที่เราเลือก
คำถามที่วนเวียนอยู่ในหัวของผมก็มักจะเป็น “แล้วเราจะเลือกโรงเรียนไหนให้ลูกเราดี
หรือเราไม่มีทางเลือกแล้วก็ต้องอยู่ในโรงเรียนนี้ต่อไป”
ทุกอย่างเป็นเรื่องการเลือก
แม้ว่าหลายครั้งเราจะไม่ค่อยมีทางเลือกก็ตาม
น้องกระติ๊บตอน ป.1 ไปทัศนศึกษากับพี่ปริญญาโท ที่สวนกล้วยไม้ อ.สามพราน (พย.2549) |
จะว่าไปก็เพราะน้องน้ำนั้นแหละที่ทำให้ผมได้คิด
ผมจำไม่ได้ว่า
นานเท่าไรแล้วที่ชีวิตของผมจะตื่นขึ้นมา แล้วไม่มีกำหนดการกำกับไว้ในสมุดแพลนเนอร์
แต่ก็เพราะน้ำท่วมนี้แหละที่ทำให้งานต่างๆ ถูกยกเลิกออกไป ทุกเช้าในช่วงนั้น จึงมีแต่เสียงลูกทั้งสองคนที่บอกว่า
วันนี้อยากเรียนรู้เรื่องอะไร อยากจะไปที่ไหน อยากให้พ่อสอนอะไรบ้าง
เราพ่อ แม่
ลูกจึงได้ไปเที่ยวและเรียนรู้ร่วมกันมากมาย ทั้งพื้นที่ประวัติศาสตร์ ตำราเรียน
แบบฝึกหัด และชีวิตผู้คน
ผมจึงเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า
ลูกของเราอาจไม่ได้ต้องการเฉพาะ “การศึกษา” หรือ “โรงเรียน” ที่เลือกให้ แต่
“ตัวเรา” ต่างหากที่เป็น “การศึกษาทางเลือก” ที่ลูกต้องการ ซึ่งเราก็อาจหลงลืมและไม่ค่อยให้เวลากับลูกอย่างที่เขาอยากจะให้เป็น
ผมย้อนคิดไปถึงวันเวลาที่พวกเราได้เคยจัดกิจกรรมเรียนรู้โลกกว้างร่วมกันตั้งแต่
ป.2 จนถึง ป.5 นั่นคือ ส่วนหนึ่งของการศึกษาที่พวกเราพ่อแม่ลงมือสร้างขึ้นมาด้วยใจของเราเอง
แล้วพวกเรายังจดจำรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ น้ำตา (ในบางครั้ง) และคำถามของลูกๆเราได้หรือไม่
สำหรับผมแล้ว มันเป็นกิจกรรมที่มีความสุขและความประทับใจไม่รู้ลืม
เรียนรู้วิถีชีวิตชาวสวนและการทำน้ำตาลปี๊บที่สมุทรสงคราม |
ทำกระทงที่สวนศิลป์บ้านดิน |
แต่ผมก็ไม่เข้าใจว่า
ทำไมผมจึงปล่อยให้สิ่งที่เรียกว่า “งาน” มาช่วงชิงเวลาของผมไปจนหมด กิจกรรมดีๆ
เช่นนี้จึงเงียบหายไปกับภาระอันหนักอึ้งของผม แม่ทิพย์ และพ่อแม่พวกเราทุกคน
จนกระทั่งพ่อยมและแม่ตุ๊ก พร้อมกับหลายๆ ท่านช่วยกันรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในเดือนสุดท้ายของชั้น
6 นี้ (ขอขอบคุณพ่อยมและแม่ตุ๊กมากๆ ครับ)
สนุกสุดเหวี่ยงก่อนจากกันตอน ป.6 แก่งกระจาน (เม.ย.2555) |
มาถึงตรงนี้
ผมเลยนึกถึงโพสต์อันหนึ่งในกลุ่มเพลิน เขาบอกว่า
“หากเราตายจากไปในวันพรุ่งนี้
อีกไม่กี่วันนายจ้างก็หาคนใหม่มาทำแทนได้
แต่ครอบครัวที่อยู่ข้างหลังอาจเศร้าโศกไปชั่วชีวิต
ลองคิดดูว่า คุ้มกันมั้ยหากเราจะทุ่มเทกับงานมากกว่าครอบครัว”
ลองคิดดูว่า คุ้มกันมั้ยหากเราจะทุ่มเทกับงานมากกว่าครอบครัว”
นี่เป็นโจทย์สำคัญที่พระไพศาล
วิศาโล เคยบอกไว้นานแล้วว่า คนเรามักให้ความสำคัญกับ
“งานที่เร่งด่วน” (มิฉะนั้น นายจ้างหรือลูกค้าอาจหันไปหาคนอื่นๆ โดยที่ไม่ต้องรอให้เราตาย) มากกว่า “งานที่สำคัญ” (เช่น การศึกษาของลูกเรา) อยู่เสมอ
“งานที่เร่งด่วน” (มิฉะนั้น นายจ้างหรือลูกค้าอาจหันไปหาคนอื่นๆ โดยที่ไม่ต้องรอให้เราตาย) มากกว่า “งานที่สำคัญ” (เช่น การศึกษาของลูกเรา) อยู่เสมอ
ผมเองก็มักตกอยู่ในบ่วงของงานเร่งด่วน
และหลงลืมงานสำคัญ โดยเฉพาะหลงลืมการเรียนรู้ของลูกเรา ไปอย่างน่าเสียดาย (จริงๆ
แล้ว ต้องเรียกว่า “น่าเสียใจ” มากกว่า) จนกระทั่ง
น้องน้ำมาเบรคงานเร่งด่วนทั้งหมด ผมจึงได้มีโอกาสทำงานที่สำคัญ แล้วผมก็พบว่า
การทำงานที่สำคัญนั้นเป็นงานที่มีความสุข โดยเฉพาะสำหรับลูกๆ ของเราเอง
ผมจึงตระหนักรู้ว่า
การศึกษาทางเลือกของผมนั้นคืออะไร คำตอบคือ “การศึกษาที่ผมจะเลือกลงมือเอง” ทั้งนี้
ผมมิได้หมายความว่า ผมจะไม่พาลูกไปโรงเรียน หรือ ผมสอนหนังสือได้ดีกว่าโรงเรียน
แต่หมายความว่า นอกเหนือจากโรงเรียนและอื่นๆ ที่เราเลือกให้ลูกแล้ว ผมก็พร้อมแล้วที่จะลงมือเอง
ในระหว่างน้ำท่วมนั้น
ผมพบว่า วิชาวิทยาศาสตร์เป็นจุดอ่อนสำคัญสำหรับกระติ๊บลูกสาวคนโตของผม (และของเด็กเพลินชั้น
6 หลายๆคน) ประกอบกับเขาก็ชอบเรียนวิทยาศาสตร์แบบที่ผมคุยให้ฟังซะด้วย พอน้ำลด
ผมเลยเปิดตัวรายการ “สู้เพื่อลูก” เพื่อติววิทยาศาสตร์ให้กับลูกของพวกเรา
ทุกเช้าวันอาทิตย์ ในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ รวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง
“สู้เพื่อลูก วิชาวิทยาศาสตร์ ช่วงชั้น 2”
( ม.ค.2555) |
ปรากฏว่า
นอกจากกระติ๊บแล้ว ยังมีเด็กอีกหลายคนที่มาร่วมเป็นประจำ ผมว่า เป็นช่วงเวลาที่สนุกดีนะครับ
ผมยังจำได้ “เธน” จะต้องเตรียมคำถามมาจากบ้านล่วงหน้าทุกครั้ง ส่วน “ข้าว” จะมีคำถามแปลกๆที่น่าสนใจ
มาถามเสมอ “ตั้ม” มาเป็นประจำทุกครั้ง พร้อมทั้งยังถามผมว่า ทำไมไม่จัดอีก “มีมี่”
อยู่ป.4 แต่อยากมาร่วมฟังกับ “พี่มินท์” “น้องแดน” ลูกชายคนเล็กของผมอยู่แค่ ป.1
แต่ก็อยากจะฟังด้วย และมักถามคำถามตลกๆ ให้พี่ๆ ได้สนุกและมีความสุขกันอยู่เสมอ
สำหรับผม
มันช่างเป็นเช้าวันอาทิตย์ที่สดใส หลายครั้งก็มีคุณแม่หลายท่านมารอลูกๆ และตั้งวงคุยกันด้วย
ทำให้บรรยากาศยิ่งคึกครื้นมากขึ้น ถึงตอนนี้ ผมแน่ใจแล้วว่า การลงมือด้วยตนเองคือ
การศึกษาที่ผมจะเลือกทำ เพื่อเพิ่มเติมลงไปในพื้นที่ชีวิตการเรียนรู้ของลูก
อย่างไรก็ดี ผมยังไม่ลืมที่จะต้องหลอกตัวเองให้เห็นว่า
งานนี้เป็นงานเร่งด่วน ด้วยการจดลงในสมุดนัด สมุดที่บัญชาชีวิตของผม
วิธีการนี้ผมเรียนรู้มาจากแดนไท เวลาผมรับปากจะพาแดนไปเที่ยวสถานเสาวภา
พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ หรือที่ไหนก็ตาม แดนไทจะย้ำเสมอว่า “พ่อ จดวันเที่ยวไว้ในสมุดของพ่อแล้วหรือยัง”
ในช่วงนั้น หากใครเชิญให้ไปบรรยายวันอาทิตย์ ผมก็จะตอบว่า “ผมติดสอน”
แล้วผมก็จะรักษาเวลานั้นไว้ เพื่อทำงานสำคัญสำหรับชีวิตของผมและชีวิตของลูก
ผมคิดว่าพวกเราพ่อแม่คงจะต้องตั้งหลักกันอย่างจริงจัง
ว่าเราจะลงมือเรียนรู้ไปพร้อมๆกับลูกรักอย่างไรดี
ผมคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องเป็นสุดยอดในวิชานั้น
เพียงแต่เรานั่งลงและเรียนรู้พูดคุยไปพร้อมๆ กัน
อ่านหนังสือหรือทำการบ้านเพิ่มเติม ที่สำคัญคือ ทำจิตใจให้สนุก ย้ำกับตัวเราเองเสมอว่า
เรากำลังทำงานสำคัญสำหรับชีวิตเราและชีวิตลูก
บางครั้งเราอาจจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ
แต่การเรียนรู้ร่วมกันก็ยังสร้างความสุขให้กับลูกอยู่ดี เช่น
ผมมักนั่งอ่านวิชาประวัติศาสตร์ไปพร้อมกับกระติ๊บก่อนนอน
เพราะกระติ๊บชอบวิชาประวัติศาสตร์มาก ถึงจะไม่มีวิชานี้ในการสอบเข้าม.1
แต่เราก็ต้องเรียนด้วย ลูกถึงจะมีความสุขในการเตรียมสอบ วิชาภาษาอังกฤษ
ทั้งพ่อและแม่ไม่ค่อยถนัดทั้งคู่ ก็เลยใช้วิธีนั่งดูวิดีโอ คริสเดลิเวอรี่ด้วยกัน
สนุกกันทั้งบ้าน ส่วนวิชาภาษาไทย คุณลูกล้ำหน้าคุณพ่อคุณแม่ไปไกลแล้ว
โดยเฉพาะการแต่งกาพย์กลอน ก็ให้ลูกสอนเราบ้างก็ได้ครับ
ผมอยากย้ำว่า สำหรับเราแล้ว
“ลูกไม่ได้ต้องการสุดยอดครูหรือติวเตอร์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน”
สิ่งเหล่านั้นหาได้ไม่ยากที่โรงเรียน โรงเรียนกวดวิชา อินเตอร์เน็ต หรือจานดาวเทียม
แต่บางครั้ง ลูกต้องการ “เรา” พ่อแม่ที่อาจจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็มิอาจหาใครทดแทนหรือดาวน์โหลดได้จากที่ไหน
คุณยุทธการ
มากพันธุ์ อดีตผู้จัดการของคำแสดรีสอร์ทเคยบอกผมว่า หลายครั้งคนเรามักจะหา “ความสุขแบบวิถีอ้อม”
นั่นคือ การมุ่งทำงาน เพื่อให้ได้เงิน แล้วนำเงินไปซื้อสิ่งต่างๆ
ที่เราเชื่อว่าจะนำมาซึ่งความสุขของเรา สุดท้ายไม่แน่ใจว่าเรายังเหลือเวลา
และเหลือใจสำหรับความสุขนั้นมากน้อยเพียงใด คุณยุทธการแนะว่า
เราน่าจะแบ่งเวลาของเรา มาหา “ความสุขวิถีตรง” กันบ้าง นั่นคือ
การลงมือสร้างความสุขที่เราต้องการขึ้นมา ด้วยมือและใจของเราเอง
โดยไม่ต้องอาศัยเงินเป็นสื่อกลางเสียทุกครั้งไป
ผมคิดว่าข้อแนะนำของคุณยุทธการนั้นใช้ได้กับการศึกษาของลูกเราเช่นกัน
แทนที่เราจะมุ่งหาเงินมาสำหรับการศึกษาที่เรา “เลือกสรร”
ให้กับลูกของเราอย่างดีที่สุด เราอาจจะแบ่งเวลาของเรามาสร้าง “ปฏิบัติการเรียนรู้”
ด้วยมือและใจของเราเอง ใครจะรู้ว่าเราอาจจะได้การเรียนรู้และความสุขมากกว่าการเลือกสรรที่เราเคยชินอยู่ก็ได้
จากนี้ต่อไป
ทุกเช้าวันอาทิตย์ที่บ้านของเราจะเปิดเป็นพื้นที่การเรียนรู้สำหรับลูกๆ พ่อแม่
ของเพลินชั้น 6 ในปีนี้ ทุกครอบครัว นอกจากวิชาวิทยาศาสตร์และสังคมศึกษาที่ผมจะสอนแล้ว
ผมอยากเชิญพ่อยมมาสอนคณิตศาสตร์ แม่น้องมาสอนภาษาอังกฤษ แม่กิ้มจะมาสอนเพศศึกษา แม่เจี๊ยบมาสอนทำคูเดอพาจ
เสียดายที่แม่ตู๋คงมาสอนประวัติศาสตร์ไม่ได้แล้ว เพราะย้ายไปอยู่เชียงใหม่ ใครสะดวกสัปดาห์ไหนก็มา
ไม่สะดวกก็ไม่เป็นไร หรือไม่มีที่ไปก็แวะมานั่งเรียนรู้ร่วมกัน บางครั้ง เราอาจย้ายไปเรียนทำขนมที่บ้านแม่พิม
เรียนศิลปะบ้านพ่ออ๊อด หรือไปเที่ยวนอกสถานที่กันก็ได้ ขอให้เราเรียนร่วมกันก็พอ
ขอขอบคุณคุณพ่อ
คุณแม่ และคุณลูกทุกท่าน
สำหรับการอยู่ร่วมกันในชุมชนแห่งการเรียนรู้ตลอดหลายขวบปีที่ผ่านมา จากนี้ต่อไป ไม่ว่าพวกเราจะแยกย้ายกันไปอยู่โรงเรียนใด
เราก็ยังเป็นครอบครัวเดียวกันอยู่เสมอ เมื่อลูกของเราเติบใหญ่และก้าวไปสู่โลกที่กว้างไกลและเอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้
ผมคิดว่า ไม่มีทางเลือกใดที่จะดีไปกว่าการเรียนรู้ที่อยู่บนโลกใบนี้ให้ดีที่สุด
ไปพร้อมๆ กับลูกรักของพวกเรา
นี่คือ
การศึกษาทางที่ผมเลือก ทางที่พ่อแม่จะร่วมสร้างการเรียนรู้ ด้วยมือและใจของพวกเรา
เรียนรู้โดยตรงกับลูกรักไปพร้อมๆกับการเรียนรู้ในโรงเรียนและสื่ออื่นๆ
และผมอยากชวนให้ทุกท่านมาลงมือเรียนรู้ร่วมกัน
Learn with Love.