บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ข้าวอะไรเอ๋ย ปลูกแล้วฉลาด กินแล้วยิ่งฉลาด



รุ่งทิพย์  สุขกำเนิด

ในยุคสมัยนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย จะหันไปทางไหนก็เห็นสิ่งของต่างๆที่ล้วนต้องใช้พลังงานในการผลิตหรือการใช้งานทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น แอร์ รถยนต์ มือถือ แก้วน้ำ หรือแม้แต่ดินสอและไม้จิ้มฟัน
การใช้พลังงานที่มากขึ้นได้สร้างผลกระทบกับโลกของเรามากมาย คำถามยอดฮิตของยุคก็คือแล้วเราจะมีส่วนลดการใช้พลังงานลงได้อย่างไร และคำตอบคุ้นหูก็คือปิดไฟ ใช้คาร์พูล หรือประหยัดด้วยวิธีต่างๆแต่เรื่องแบบนี้แก้กันยากเพราะเป็นนิสัยไปเสียแล้วต้องค่อยๆดัดกันไป ทั้งไม้อ่อนไม้แก่    แต่เอ..จะมีทางอื่นที่ทำง่ายและได้ผลมากกว่านี้อีกไหมหนอ
จนสัปดาห์ก่อนได้มาสะดุดกับงานวิจัยของคุณจิรากรณ์(1) เข้าพอดี  งานชิ้นนี้เป็นการวิเคราะห์พลังงานที่ใช้ในการปลูกข้าวของชาวนาไทยด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม (ใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติและแรงงานสัตว์) เทียบกับการปลูกด้วยวิธีการสมัยใหม่่(2) (ใช้เครื่องจักรกล ปุ๋ย สารเคมี) ลองอ่านๆดูแล้วคำนวณต่อนิดหน่อยและลองปั้นเป็นกราฟดู

โอ้ พระเจ้าช่วย! การจะผลิตข้าวเปลือกให้ได้ 1 กก.ด้วยวิธีการทันสมัยในปัจจุบันนั้นได้ใช้พลังงานมากกว่าวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมถึง  8 เท่า และที่แย่กว่านั้น การผลิตด้วยวิธีการสมัยใหม่ต้องใส่พลังงานลงไปมากถึง  11,715 กิโลแคลอรีเพื่อให้ได้ข้าวมา 4,000 กิโลแคลอรี (1 กก.) เรียกได้ว่า ขาดทุนโดยไม่รู้ตัวจริงๆ
หากลองมาเจาะดูที่วิธีการผลิตสมัยใหม่ จะพบว่าพลังงานที่ต้องใช้มากมายนั้นมาจากการเพิ่มขึ้นของปัจจัยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก เช่น ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรู และเครื่องจักรกลการเกษตรกับน้ำมันที่ใช้เติมเพื่อให้เครืองจักรทำงาน และอีกส่วนมาจากพลังงานที่ได้จากธรรมชาติในที่นี้คือ การหมักฟาง ในขณะที่การผลิตแบบดั้งเดิมซึ่งใช้ปุ๋ยธรรมชาติจากมูลสัตว์และการพัดพามาของน้ำในฤดูฝน ซึ่งส่วนนี้ได้หายไปหลังมีการสร้างเขื่อนและการเลิกใช้วัวควายในการไถนา
ถ้าลองตัดปัจจัยธรรมชาติของการผลิตแบบสมัยใหม่ออกไป หรือเทียบได้กับการเผาฟางและตอซังข้าวที่อยู่ในนา เท่ากับว่าเราได้ทิ้งพลังงานที่ธรรมชาติมีให้ไปเปล่าๆ ดังนั้นการจะผลิตข้าวให้ได้ 1 กก.เท่าเดิมก็ต้องเติมปัจจัยการผลิตจากภาคอุตสาหกรรมหรือปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นอีก เท่ากับว่าในกระบวนการผลิตข้าวนั้น  จะยิ่งขาดทุนยับเยินเข้าไปอีก
คราวนี้ลองมาตัดข้อมูลพลังงานพลังงานที่ใช้ในการผลิตข้าวที่มาจากภาคอุตสาหกรรมบางอย่าง คือ ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชออกไป โดยให้อย่างอื่นเหมือนเดิม ซึ่งเปรียบได้กับการทำนาอินทรีย์ที่มีการหมักฟางผสมผสานกับวิธีการผลิตที่ใช้เครื่องจักรทันสมัย พบว่าสามารถลดพลังงานที่ต้องใส่เข้าไปได้ถึง 50 % ทีเดียว 
จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่า  วิธีการผลิตแบบดั้งเดิมที่ใช้วัวควาย และอาศัยปุ๋ยจากธรรมชาติที่มากับน้ำหลาก เป็นวิธีการผลิตที่ได้กำไรมากที่สุด เมื่อมองในมุมของพลังงานที่ใส่เข้าไปเมื่อเทียบกับพลังงานที่ผลิตได้ออกมาในรูปของข้าว  แต่สิ่งเหล่านี้คงไม่สามารถกลับคืนมาได้อีกแล้ว ด้วยความที่เรามีเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งกั้นขวางตะกอนปุ๋ยธรรมชาติให้ตกอยู่หน้าเขื่อน และค่าแรงทั้งวัวควายและคนก็มีราคาสูงขึ้น  การหันมาใช้เครื่องจักรการเกษตรเพื่อช่วยในการผลิตแทนก็ถือว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่า 
อย่างไรก็ดี การเผาฟาง แล้วไปซื้อปุ๋ยและสารเคมีมาใช้ ถือว่าเป็นการทำให้ประเทศชาติสูญเสียแบบ 4 เด้ง คือ เด้งที่ 1 เผาฟางเท่ากับการเผาเงินทองหรือปุ๋ยจากธรรมชาติ ที่ได้มาฟรีๆ  เด้งที่ 2 คือต้องเสียเงินไปซื้อปุ๋ย ยา  เด้งที่ 3 การผลิตแบบใช้ปุ๋ยยาเต็มที่เหมือนในปัจจุบัน เมื่อเทียบเป็นพลังงานที่ใช้ไปกับที่ผลิตได้ถือว่าขาดทุน และเด้งที่ 4 การเผาฟาง การผลิตปุ๋ย และสารเคมี ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเนื่องจากต้องใช้พลังงานที่หายากขึ้นเรื่อยๆและปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก

เมื่อหันกลับไปอยู่ในสภาพการผลิตแบบดั้งเดิมไม่่ได้ การผลิตแบบผสมผสานคือการใช้เครื่องจักรช่วยผ่อนแรงบวกกับวิธีการผลิตแบบอินทรีย์ (หมักฟาง) หรือกสิกรรมธรรมชาติ ย่อมมีความคุ้มค่ามากกว่าการผลิตแบบสมัยใหม่ เพราะมีความคุ้มค่าทางพลังงาน ลดภาวะโลกร้อน และยังมีความปลอดภัยกับทั้งตัวผู้ผลิตเองและผู้บริโภคอีกด้วย
ในวงการเกษตรได้มีการพิสูจน์แล้วว่าพันธุ์ข้าวสมัยใหม่ที่ถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมักจะถูกคัดเลือกจากคุณสมบัติเฉพาะกิจ เช่น หนีน้ำ  ต้านทานโรคใบไหม้ ฯลฯ  แต่ที่สำคัญต้องให้ผลผลิตสูง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กับการตอบสนองต่อปุ๋ยและสารเคมี   ถ้าผนวกกับคุณสมบัติอีกข้อหนึ่งด้วยแล้วคือ ความต้องการของตลาด จึงทำให้ความหลากหลายทางสายพันธุ์ข้าวที่ยังคงเหลืออยู่ในท้องตลาดลดลง และพันธุ์ข้าวจำนวนมากต้องสูญหายไปจากการผลิตของเกษตรกร ด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจ  สำหรับพันธุ์ข้าวที่ตอบสนองต่อกระบวนการผลิตแบบอินทรีย์นั้นเกษตรกรผู้สนใจจะต้องปรับปรุงและคัดเลือกพันธุ์กันเอาเอง  
เป็นที่น่ายินดีว่า ความก้าวหน้าทางความรู้ของเกี่ยวกับกระบวนการผลิตแบบอินทรีย์ได้พัฒนาและเผยแพร่ไปมาก  จึงมีผู้หันมาทำนาอินทรีย์กันมากขึ้น(แต่ก็ยังไม่มากพอ)  และมีความพยายามที่จะรื้อฟื้นนำพันธุ์ข้าวดั้งเดิมที่เคยโด่งดังในอดีตให้กลับคืนมา  แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะประสบความสำเร็จได้ เพราะพันธุ์ข้าวแต่ละชนิดก็เหมาะกับสภาพพื้นที่แต่ละแบบไม่เหมือนกัน  เช่น ข้าวพันธุ์สังข์หยดจะให้ผลผลิตดีและเหมาะสมที่จะปลูกที่ภาคใต้ แถวจังหวัดพัทลุง  ข้าวหอมมะลิปลูกได้ผลดีก็ต้องแถวอิสานเหนือ  แต่เกษตรกรก็สามารถที่จะนำพันธุ์ข้าวไปลองปลูกแล้วคัดเลือกพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ตนเองเพื่อใช้ขยายพันธุ์ต่อไปได้  แต่ก็ต้องใช้เวลาในการทำให้สายพันธุ์มีความนิ่งหรือเรียกว่าเป็นสายพันธุ์แท้ ถึง 7 รอบการผลิต  ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่นอกจากจะไม่มีความรู้ในการคัดเลือกพันธุ์แล้ว  ยังไม่มีทุนหนาพอที่จะลองเสี่ยงกับการคัดพันธุ์ใหม่  และที่สำคัญเมื่อผลิตได้มากๆแล้ว ไม่รู้จะไปขายให้ใครอีก  สุดท้ายก็ต้องส่งโรงสีไปปนกับข้าวเคมีอยู่ดี น่าเสียดายจริงๆ
จากการสืบค้นข้อมูลเรื่องพันธุ์ข้าว ทำให้ทราบว่าจริงๆแล้ว สิ่งที่เราเรียกว่า “ข้าว” นั้น มีความแตกต่างกันมากทีเดียว  ความแตกต่างของ  “พันธุ์”  ซึ่งส่งผลให้เนื้อสัมผัส (แข็ง-นุ่ม) และกลิ่นที่ต่างกัน  พันธุ์ยังส่งผลต่ออายุการปลูกและช่วงเวลาที่ปลูกด้วย เช่น ข้าวหอมมะลิเป็นข้าวหนักแบบไวแสง คือต้องใช้เวลาปลูกนานประมาณ 6 เดือน และจะออกดอกในช่วงฤดูหนาว ดังนั้น หากปีไหนภาคอิสานมีฝนล่าช้า  ปีนั้นผลผลิตข้าวก็จะไม่ดี  เนื่องจากต้นข้าวยังไม่เติบโตเพียงพอก็ถึงเวลาที่ต้องออกดอกเสียแล้ว (นาภาคอิสานส่วนใหญ่มีเฉพาะนาน้ำฝนหรือนาปีเท่านั้น) 
ส่วนข้าวพันธุ์ กข.ต่างๆที่คิดค้นโดยนักวิชาการเกษตรและเป็นที่นิยมปลูกของเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะภาคกลาง จะเป็นข้าวที่ไม่ไวแสง  คือ พอปลูกครบอายุก็จะออกดอกติดเมล็ดพร้อมเก็บเกี่ยว โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ขอเพียงมีน้ำ ก็สามารถเพาะปลูกในรอบต่อไปได้เลยทันที  ดังนั้นในพื้นที่ชลประทานภาคกลางจึงนิยมปลูกข้าวพันธุ์ กข.แบบไม่ไวแสง เพราะสามารถปลูกได้ปีละ 2-3 ครั้ง แม้ราคาต่อเกวียนจะถูกกว่าแต่เมื่อเทียบรายได้ต่อปีแล้วถือว่ามีรายได้สูงกว่ากันมาก


โดยประมาณ
ข้าวหอมมะลิ
ข้าว กข.
ราคาที่ความชื้น 14% (บาท/เกวียน)**
15,000
8,500-10,000
จำนวนรอบการผลิตต่อปี
1
2
ผลผลิตต่อไร่ต่อรอบการผลิต (เกวียน)
0.3-0.5
1
รายๆได้ต่อไร่ต่อปี (ยังไม่ได้หักต้นทุน)
4,500-7,500
17,000-20,000

** ปกติชาวนาจะขายข้าวหลังเก็บเกี่ยวทันทีที่หน้านา ซึ่งข้าวยังมีความชื้นสูงอยู่ที่ประมาณ 25% ทำให้ราคาที่ได้รับต่ำลงไปอีก

นอกจากนี้สิ่งที่คนทั่วไปยังไม่ค่อยทราบก็คือ พันธุ์ข้าวยังส่งผลถึงองค์ประกอบในเมล็ดซึ่งจะส่งผลถึงคุณค่าทางอาหารที่มีให้อีกด้วย  เมล็ดข้าวสารที่ขายในท้องตลาด นอกจากจะประกอบไปด้วยเนื้อข้าว จมูกข้าว และรำข้าวซึ่งมีมากน้อยต่างกันไปตามการขัดสีให้เป็นข้าวสาร และข้าวกล้องแล้ว ในข้าวแต่ละพันธุ์ยังมีคุณค่าทางโภชนาการที่ต่างกัน เช่น ข้าวพันธุ์หน่วยเขือ ซึ่งเป็นข้าวพื้นบ้านของจังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่าเป็นข้าวที่มีธาตุเหล็ก(3)  ทองแดง(4)  และวิตามินอี(5) สูงมาก (ดูตาราง)  และเป็นที่โชคดีที่ข้าวพันธุ์หอมมะลิและและหอมมะลิแดง ซึ่งยังหาได้ไม่ยากในท้องตลาดก็มีสารอาหารข้างต้นไม่แพ้กันเท่าไหร่ แถมยังมีคุณสมบัติที่เหมาะกับการส่งเสริมให้ผู้บริโภคที่อยู่ในภาวะปกติ  ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 รับประทาน (ข้าวกล้องหอมมะลิแดง) เนื่องจากเมื่อรับประทานข้าวชนิดนี้เข้าไปแล้ว ร่างกายจะมีปริมาณน้ำตาลกลูโคสเพิ่มสูงขึ้นช้ากว่าข้าวเจ้าทั่วไป

จากข้อมูลเรื่องข้าวที่มีอยู่  ที่บ้านเราจึงเลือกทานข้าวพื้นเมือง เช่น ข้าวหอมมะลิแดง  หอมมะลิ ข้าวสังข์หยด และข้าวพื้นเมืองอื่นๆถ้ามีโอกาส โดยเฉพาะที่เป็นข้าวกล้อง(แม้เด็กๆจะไม่ชอบเท่าไรในตอนแรก แต่ทานไปเรื่อยๆก็จะเคยชิน)  และถ้าข้าวนั้นมาจากระบวนการผลิตแบบอินทรีย์จะยิ่งให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะได้ช่วยรักษาพันธุ์ข้าวดีๆ มีคุณภาพไม่ให้สูญหายไปแล้ว  ยังได้ช่วยชาวนาที่ดีให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยประเทศชาติประหยัดเงินตราไม่ต้องซื้อปุ๋ยซื้อยาจากต่างประเทศ  ช่วยรักษาโลกนี้ให้มีมลพิษน้อยลง  และน่าจะได้ช่วยให้อะไรๆหลายอย่างให้ยังคงอยู่คู่กับแหลมทองของไทยไปอีกนาน  นอกจากการเลือกทานข้าวอินทรีย์แล้ว  ที่บ้านเรายังสนับสนุนผู้ผลิตด้วยการแนะนำและแบ่งปันข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวดีทานอร่อยที่ได้จากพื้นที่ที่ทำงานเพื่อส่งเสริมการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ (จ.สระแก้ว)ให้กับเพื่อนๆที่สนใจด้วย
ถึงตรงนี้คงเห็นคำตอบแล้วใช่ไหมคะว่า  ข้าวอะไรเอ๋ย ปลูกแล้วฉลาด ขนาดปลูกยังฉลาดเลย แล้วถ้ากินหล่ะ จะยิ่งฉลาดเข้าไปใหญ่  แล้วคุณหล่ะ กินข้าวอินทรีย์พื้นเมืองแล้วหรือยัง !

คุณค่าทางโภชนาการของข้าวกล้องพื้นบ้านเปรียบเทียบกับข้าวกล้องทั่วไป(6)
(วิเคราะห์โดยสถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดล)
ชื่อพันธุ์
คุณค่าทางโภชนาการ (หน่วย :มิลลิกรัม/100 กรัม)
เหล็ก
ทองแดง
เบต้าแคโรทีน
ลูทีน
วิตามินอี
ค่าเฉลี่ยข้าวทั่วไป
0.42
0.1
ไม่พบ
ไม่พบ
0.03
หน่วยเขือ - นครศรีธรรมราช
1.22
0.5
0.0052
0.0144
0.7873
ก่ำเปลือกดำ - ยโสธร
0.95
0.08
0.0118
0.2401
0.1946
หอมมะลิแดง - ยโสธร
1.2
0.43
0.003
0.0091
0.3366
หอมมะลิ - ทุ่งกุลาร้องไห้
1.02
ไม่พบ
0.0031
0.0095
0.3766
เล้าแตก - กาฬสินธุ์
0.91
0.06
0.0049
0.0085
0.3092
หอมทุ่ง* - อุบลราชธานี
0.26
0.38
ไม่พบ
ไม่พบ
0.0118
ป้องแอ๊ว* - มหาสารคาม
0.24
ไม่พบ
ไม่พบ
ไม่พบ
0.0089
ช่อขิง - สงขลา
0.8
ไม่พบ
0.0041
0.0103
0.1788
มันเป็ด* - อุบล
0.2
ไม่พบ
ไม่พบ
0.0045
0.026
ปกาอำปึล* - สุรินทร์
0.46
ไม่พบ
ไม่พบ
0.0036
0.0226
หมายเหตุ: *ข้าวขัดขาว
อ้างอิง
(1)          Jiragon Gajaseni , 1994 “Energy analysis of wetland rice systems in Thailand”
(2)          ข้อมูลการผลิตข้าวปี 2515และ 2534/35 บางชัน มีนบุรี  กทม.(ใช้ในการทำข้อมูลเปรียบเทียบกับงานวิจัยที่อ้างอิงในข้อ (1))
(3)          ธาตุเหล็ก เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการสร้างเม็ดเลือดแดง  ซึ่งมีผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย และการเจริญเติบโต องค์การอนามัยโลกพบว่าประชากรโลกทั้งในประเทศที่พัฒนาและกำลังพัฒนามีสถิติการเกิดโรคโลหิตจางมากกว่า 4 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 66 ของประชากรชาวโลกทั้งหมด สำหรับประเทศไทยจากการรายงานของกระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีการขาดธาตุเหล็กในกลุ่มเด็กวัยเรียนและหญิงวัยเจริญพันธุ์ร้อยละ 25.2 และ 22.3 ตามลำดับ
(4)          ทองแดง (copper) เป็นสารอาหารที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง เนื่องจากเป็นส่วนประกอบในเอนไซม์หลายตัวในร่างกาย เช่น การสร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย การกำจัดอนุมูลอิสระ การสร้างความยืดหยุ่น ของผิวหนัง (Collagen และ Elastin) การขาดทองแดงก่อให้เกิดภาวะซีดจากโลหิตจาง เม็ดเลือดขาวมีมากเม็ดเลือดแดงลดลง โคลเลสเตอรอลในเลือดสูงและการเต้นของหัวใจผิดปกติ
(5)          วิตามินอีเป็นสารแอนติออกซิแดนท์ ช่วยไขกระดูกในการสร้างเลือด ช่วยขยายเส้นเลือด ต้านการแข็งตัวของเลือด ลดความสามารถในการจับตัวเป็นลิ่มเลือด และลดอัตราเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือด สมอง หัวใจ บำรุงตับ ช่วยระบบสืบพันธุ์ เซลล์ประสาท และกล้ามเนื้อให้ทำงานได้ตามปกติ ช่วยให้ผิวพรรณสดใส ลดริ้วรอย และช่วยสมานแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกให้หายเร็วขึ้น เป็นต้น
(6)          มหัศจรรย์ พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน "คุณค่าทางโภชนาการของสายพันธุ์ข้าวท้องถิ่น" โดยแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร   http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=889

ขอบคุณภาพจาก
(4)          ทุ่งแสงตะวัน
(5)          วิชาการดอทคอม

เมื่อเพลี้ยเจอกับพริก



                                                                       รุ่งทิพย์ สุขกำเนิด

                ตอนเย็นๆฉันมักออกชมนกชมไม้ในสวน ระหว่างให้น้ำต้นไม้ สายตาก็สอดส่องว่าต้นไม้อยู่ดีมีสุขหรือเปล่า ฤดูร้อนปีนี้แดดแรงมาก แม้จะมีฝนทยอยตกมาเดือนละครั้งแต่ก็สู้ไม่ไหว สังเกตได้จากไม้เล็กๆ และพวกผักต่างๆ ตอนเช้าจะดูสดใสมาก พอตกบ่ายใบลู่คอตกกันเป็นแถว ก็ต้องให้น้ำกันทุกวัน ไม่งั้นอาจเจองอน ไม่มีใบมีลูกให้กินไม่รู้ด้วย
                แม้จะให้น้ำอย่างดี แต่สังเกตได้ว่า ต้นไม้หลายชนิดกลับมีอาการดูแคระแกรน ใบเหลืองร่วงมากยังไงไม่รู้ พอไปเจาะดูใกล้ๆ จ๊าก!!! จับได้คาหนังคาเขาเลย เพลี้ยงแป้ง เพลี้ยอ่อนรุมดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ใต้ใบและแถวยอดอ่อนเพี๊ยบเลย โดยเฉพาะต้นฝรั่ง พุทธ เชอรี่ จานเครือ มะเขือเทศ แล้วยังส้มจี๊ดอีก สังเกตว่าเจอเพลี้ยที่ต้นไหนจะมีมดแดงตัวซีดๆหรือไม่ก็มดดำด้วยเสมอ ไปเปิดตำราเขาบอกว่า ขณะที่เพลี้ยดูดน้ำเลี้ยงจากต้นไม้ของเรา มดพวกนี้ก็จะดูดน้ำหวานที่ออกมาจากบั้นท้ายของเพลี้ยอีกทีด้วยการใช้หนวดตบก้นเบาๆ  โดยเจ้ามดจะตอบแทนบุญคุณด้วยการขับไล่ศัตรูของเพลี้ย และยิ่งถ้าอากาศหนาว มดจะตบรางวัลด้วยการแบกเพลี้ยเข้าไปนอนด้วยในรังเพื่อไปรับไออุ่นจากมันด้วย

                                                                  
                                               เพลี้ยแป้งที่มักพบบริเวณหลังใบและตาของพืช
               

              อาการไม่ปกติของพืชก็คงไม่ต่างจากคน ถ้าเจ็บป่วยก็คงต้องรักษา แต่ฉันก็อดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วเราจะรักษากันอย่างไร ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมชาติ แน่นอนว่าเราก็ต้องใช้สารเคมีฉีดพ่นเพื่อรักษาอาการอยู่ร่ำไป ไม่ได้ไปแก้กันที่ต้นตอเสียที
ท่านผู้รู้ได้สรุปไว้ในตำราว่าความเสียหายที่เกิดจากโรคและแมลงศัตรูพืชขึ้นกับ 3 ปัจจัยสำคัญ คือ ความอ่อนแอของพืชต่อการเกิดโรค/แมลง  ความรุนแรงของเชื้อโรค/แมลง  และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเกิดโรค/การระบาดของแมลง  เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ความเป็นกรดและด่างของดิน ฯลฯ  ในกรณีที่พืชอ่อนแอต่อโรคมาก เชื้อโรคมีความรุนแรงมากและสภาพแวดล้อมเหมาะสม ความเสียหายจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง
                เห็นจะจริงอย่างที่ว่า เพราะช่วงนี้สภาพอากาศร้อนมากมายผิดปกติ ซึ่งเหมาะกับการระบาดของเพลี้ย โดยเฉพาะเพลี้ยแป้ง แถมต้นพืชก็ดูไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไร เพราะต้องต่อสู้กับแสงแดดอันร้อนระอุ  ประกอบกับพืชสมัยใหม่มักถูกคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดูดีกินอร่อยในสายตามนุษย์อย่างเรา (เหล่าแมลงทั้งหลายก็คิดไม่แตกต่างกัน-ก็เพราะแมลงก็มีสมองนะจ๊ะจะบอกให้)  แต่พืชสมัยใหม่เหล่านี้ก็มักจะมีความอ่อนแอต่อโรคและแมลงด้วย  แถมยังถูกฝึกแกมเอาใจจากร้านขายต้นไม้ให้โซ้ยปุ๋ย โซ้ยยาเป็นอาจิน ทำให้ต้นอวบอ้วน แต่กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ทำมาหากินเองไม่ค่อยเป็น (คล้ายๆ สวยแต่ไม่เก่งแถมยังอ่อนแอซะอีก)  แต่เมื่อมาอยู่บ้านฉันซึ่งทำให้คุณหนู(ต้นไม้)ทั้งหลายต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะปุ๋ยเคมีก็ไม่ใส่ ยาก็ไม่ฉีด  และยิ่งมาผสมผสานกับความไม่สมบูรณ์ของดินที่บ้านซึ่งอยู่ในช่วงปรับสภาพด้วยแล้ว ไม่อยากจะเล่าเลยว่า ทั้งเพลี้ย ทั้งแมลงรุมกันขนาดไหน  ที่บ้านฉันเพิ่งลงฝรั่งกิมจูไปกว่า 20 ต้น ซึ่งเพื่อนๆแถวสามพรานก็เตือนแล้วว่า “ปลูกยากหน่อยนะ ถ้าไม่ฉีดยาก็ไม่ได้กินแน่”
แม้จะถูกรุมทึ้งอย่างไร  ฉันก็ไม่ยอมถอยแน่ เพราะอุตสาห์เสียแรงไปเอาต้นไม้ เสียแรงขุดดินอันแข็งโป๊กไปแล้ว แถมยังยืนรดน้ำขาแข็งทุกวัน  จะปล่อยให้เหล่าเพลี้ยมาย่ำยีความตั้งใจให้พังลงง่ายๆได้ไง  คิดแล้วเจ็บใจ เราอุตสาห์ทะนุถนอมต้นไม้ของเรา จะกินก็ไม่ว่า กินไปทำลายไปอย่างนี้ต้องเจอดี หึ !!
ว่าแล้ว ปฏิบัติการล้างเผ่าพันธุ์เพลี้ยก็เกิดขึ้น (แต่ก่อนอื่นคงจำกันได้ว่า กติกาบ้านนี้ ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอัตรายต่อคนเด็ดขาดนะจ๊ะ) เคยอ่านเจอว่า มดจะไม่ชอบของเปรี้ยว  ส่วนเจ้าเพลี้ยน่าจะไม่ชอบของเผ็ด ประมวลเสร็จสรรพ การทดลองจึงเกิดขึ้น 
ในเบื้องต้นฉันผสมพริกกับน้ำส้มสายชู ผสมน้ำกะว่าเผ็ดๆ (ปานกลาง)  เปรี้ยวๆ (อ่อนๆ)  ผู้อ่านอาจสงสัยว่าพริกอะไร พริกอะไรก็ได้ค่ะ พริกขี้นก ขี้หนู พริกกะเหรี่ยง พริกแห้งตำ พริกป่นที่ให้มากับก๋วยเตี๋ยว พริกมาม่าก็ยังได้ หรือจะใช้พริกแกงเผ็ดแกงส้มได้ทั้งนั้น ขอให้เผ็ด  แช่น้ำให้ความเผ็ดมันละลายออกมา จากนั้นกรองเอาแต่น้ำ ที่ต้องกรองเพราะถ้าไม่กรองเวลาเอาไปฉีดจะทำให้ฉีดไม่ออก ไม่ใช่เพราะอาถรรพ์ของเจ้าเพลี้ยหรอกนะคะ  แต่เพราะหัวฉีดมันจะตัน
สำหรับน้ำส้ม ถ้าใช้น้ำส้มสายชูเทียมก็จะถูกกว่าสายชูกลั่น หาซื้อได้ในร้านของชำและซุปเปอร์มาร์เกต  หรือจะใช้น้ำส้มสายชูที่ได้มาจากร้านก๋วยเตี๋ยวก็ได้ค่ะ สะสมไว้ใช้ ทิ้งไปก็เป็นขยะเน่าเหม็นเปล่าๆ เอามาสะสมในขวดน้ำไว้ก่อน พอได้มากแล้วก็เอามาใช้  แต่ถ้าคิดว่าไหนๆจะฉีดแล้วต้องได้ประโยชน์  ก็นี่เลยค่ะ “น้ำส้มควันไม้” สามารถใช้แทนน้ำส้มสายชูได้เลยเพราะนอกจากจะไล่เพลี้ยแล้ว ยังกันเชื้อรา ไล่แมลง ไล่หนอน และมีธาตุอาหารสำหรับพืชอีกด้วย
อย่าลืมว่า คนดีไม่อยากจะทำร้ายชีวิตใคร ดังนั้นต้องฉีดกันถี่หน่อย ทุก 3-5 วัน สูตรนี้ใช้ได้ผลดีพอสมควรทีเดียวค่ะ แต่ถ้าไม่ทันใจก็ใช้มือบี้ไปด้วยจะช่วยได้เยอะเลยค่ะ อ้อ อย่าลืมใส่ถุงมือเวลาฉีดพ่นด้วยนะคะ เพราะขนาดทั้งมด ทั้งเพลี้ยยังแสบตาแสบตัวจนหนีจุกตูด แล้วมือคนฉีดจะเหลือเหรอ ไม่เชื่อลองดู!
นอกจากการใช้สารไล่แมลงแล้ว การสร้างความแข็งแรงให้พืชด้วยการเพิ่มธาตุอาหารในดินทั้งธาตุอาหารหลักและรอง ก็จะช่วยให้พืชมีความต้านทานต่อโรคและแมลงได้ดีอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งธาตุอาหารรองนั้นหาไม่ได้ในปุ๋ยเคมีนะคะ  ขี้หมูขี้ไก่ นี่แหละของแท้ รวมถึงต้องทำดินให้มีความร่วนซุยด้วยการเติมปุ๋ยอินทรีย์จะซากพืชซากสัตว์ จะทำให้น้ำซึมลงสู่รากได้ง่ายและลึก และอากาศร้อนๆอย่างนี้ควรคลุมโคนพืชด้วยฟางหรือหญ้าแห้งเพื่อลดการระเหยของน้ำจากดิน  และลดการกระแทกของน้ำที่ใช้รด นอกจากนี้ควรปลูกพืชบางอย่างโดยเฉพาะพืชที่มีสีสรร เช่น ดาวเรือง ดาวกระจาย เพื่อช่วยล่อแมลงไม่ให้มาสนใจพืชหลักของเรา เท่านี้ก็ทำให้มีอาหารเหลือรอดมาให้ถึงมือผู้ปลูกได้อิ่มใจอิ่มท้องกันบ้าง

                       
             ผักสวนครัวที่แย่งจากเพลี้ยในเช้าวันหนึ่งหลังน้ำท่วม (25/2/2555)


อ้างอิง
3.   ภาพเพลี้ยจาก http://www.gotoknow.org/blogs/posts/355630