แม้พวกเราทุกคนจะชอบกินหมู ไม่ว่าจะเป็นหมูปิ้ง หมูทอด หมูอบ หมูแดง
หรืออีกสารพัดหมู แต่น้องหมูกลับถูกรังเกียจ ถูกห้ามเลี้ยงในเขตเทศบาล เขตชุมชน
ด้วยเพราะอึน้องหมูของเรานี่แหละ หึ่งสุดๆไปเลย แถมยังนำเอาเหล่ากองทัพแมลงวันซึ่งเป็นต้นเหตุของสารพัดโรคมาอยู่ด้วย
พอนึกถึงหนอนในบ่ออึหมูแล้ว สยึ๋มกึ๋ย !!
แต่วันนี้เรามีทีเด็ดจากเกษตรกรหัวก้าวหน้ามาฝากค่ะ ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเนินไทร สระแก้ว เขาสอนให้เลี้ยงหมูหลุม
ซึ่งแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นได้ชะงัดนัก แถมน้องหมูก็แข็งแรงโดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
ผิวนวลขาวอมชมพูโดยปราศจากสารเร่งเนื้อแดง
แม้หมูจะโตได้ที่จนขายไปแล้ว แต่
“ขี้” ยังอยู่ ตัวนี้แหละสำคัญเลยค่ะ ถ้าตักขายก็ได้เงินแบบสี่หลัก แต่ที่นี่นำมาเพิ่มมูลค่าด้วยการทำ “ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพหมูหลุมสูตรเร่งดอก”
กลิ่นก็ไม่เหม็น แถมยังช่วยให้ข้าวในนา
และพืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับเติบโต ออกดอกกันยกใหญ่
อีกทั้งยังใช้ได้กับต้นไม้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น สนามหญ้า กล้วยไม้ หรือแม้แต่บัว
จนตอนนี้กลายเป็นขวัญใจของเหล่าแม่บ้านพ่อบ้านที่ได้ลองใช้กันทั่วหน้า อยากรู้ไหมว่า ครูเล็ก ครูคำ ผู้คิดค้นปุ๋ยฯหมูหลุมสูตรเร่งดอก
เขาใส่อะไรลงไป ถ้าอยากรู้ ตามมาดูกัน
ส่วนผสมปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพหมูหลุมสูตรเร่งดอก
ก่อนจะทำปุ๋ยก็ต้องเตรียมส่วนผสมกันให้พร้อมก่อนนะจ๊ะ
มี 5 อย่างตามนี้เลย
1.เริ่มจากการเลี้ยงหมูแบบหมูหลุม โดยใส่แกลบ ฟาง น้ำหมักและน้ำส้มควันไม้ ปล่อยให้หมูคลุกเคล้า
ประมาณ 3-4 เดือน จากนั้นนำมูลหมูหลุมที่ได้มาตากให้แห้ง
2.ในช่วงเวลาเดียวกันก็เสาะหาดินจอมปลวก หรือจะผลิตดินที่อุดมไปอินทรีย์วัตถุเองด้วยการหมักเศษใบไม้
ฟาง และดิน จนเปื่อยกลายเป็นดิน
3.และพร้อมๆกันอีกนั่นแหละ ก็เริ่มทำน้ำหมักชีวภาพ 3 แบบ คือ น้ำหมักยอดผัก น้ำหมักเศษอาหาร
และน้ำหมักผลไม้
ซึ่งแต่ละตัวก็มีทีเด็ดต่างกัน คือ ตัวแรกจะช่วยเร่งการเติบโต ตัวถัดมาจะบำรุงต้นให้แข็งแรง และอีกตัวจะสร้างฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นตาดอก
4.ระหว่างรอก็เตรียมรำ หรือปูนขาว
หรือขี้เถ้าไว้ด้วย
5.อันนี้ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าคือ น้ำขี้หมู
หมูหลุม หุ่นดี อารมณ์ดี แข็งแรงดี ที่สำคัญไม่ต้องทนเหม็นอุนจิของตัวเอง |
3 เดือนต่อมา เมื่อส่วนผสมพร้อม ก็ลงมือทำกันเลย
เริ่มจาก นำส่วนผสมของข้อ 1 และ 2 มาคลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่เครื่องปั้นเม็ด
จากนั้นใส่น้ำหมักที่เตรียมไว้ในข้อ 3 และน้ำขี้หมูในข้อ 5 ลงไปพอหมาด (ใส่มือบีบดูจะไม่แตกจากกัน) ตามลงไปด้วยรำหรือปูนขาว หรือขี้เถ้าเพื่อช่วยสร้างความแกร่งให้เม็ดปุ๋ย เมื่อได้เม็ดปุ๋ยแล้วให้นำมาผึ่งในร่ม
พอแห้งแล้วนำไปใช้ได้เลย ระหว่างรอ เราจะเห็นเส้นใยขาวๆฟูๆที่เม็ดปุ๋ย ไม่ต้องตกใจค่ะ
เพราะเป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ที่แอคทีฟและเตรียมพร้อมที่จะย่อยสลายเศษใบไม้ต่างๆ
และพร้อมที่จะปลดปล่อยธาตุอาหารแก่พืช นั่นเอง
ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพหมูหลุมปั้นเม็ดที่อยู่ระหว่างการตากให้แห้ง จะมีจุลินทรีย์เป็นเส้นใยสีขาวเดินทั่ว |
นอกจากธาตุอาหารที่ได้จากมูลหมูหมักผสมดินที่มีอินทรีย์วัตถุแล้ว
ยังได้น้ำขี้หมูและน้ำหมัก ซึ่งจะเป็นตัวผสานส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน
โดยน้ำขี้หมูจะอุดมไปด้วยธาตุไนโตรเจนซึ่งจะเป็นตัวสร้างการเติบโตของลำต้นและใบแก่พืช
ส่วนน้ำหมักทั้ง 3 แบบจะเพิ่มธาตุอาหารหลักและรองสารพัด
รวมถึงฮอร์โมนจากธรรมชาติเพื่อกระตุ้นการเติบโตและสร้างตาดอก โดยอาศัยจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในน้ำหมักเป็นตัวช่วยย่อยอินทรีย์วัตถุในปุ๋ยมูลหมูของเราแล้วค่อยๆ
ปลดปล่อยสารอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้พืชนำไปใช้ได้สะดวกขึ้น ทำให้ต้นพืชเติบโตแบบแข็งแรง
เมื่อต้นไม้แข็งแรง ก็พร้อมจะแตกยอดอ่อน และตาดอก โดยไม่ทำให้ต้นไม้เสื่อมโทรม
ภูมิปัญญาของชุมชนข้างต้น
ส่วนหนึ่งสามารถอธิบายได้โดยใช้ ข้อมูลจาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ 18 ที่รวบรวมโดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ระบุว่า “โดยปกติธาตุไนโตรเจนจะมีอยู่ในอากาศในรูปของก๊าซไนโตรเจนเป็นจำนวนมาก
แต่ไนโตรเจนในอากาศในรูปของก๊าซนั้น พืชนำเอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้
ยกเว้นพืชตระกูลถั่วเท่านั้นที่มีระบบรากพิเศษสามารถแปรรูปก๊าซไนโตรเจนจากอากาศ
เอามาใช้ประโยชน์ได้
ธาตุไนโตรเจนที่พืชทั่ว ๆ ไปดึงดูดขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้นั้น
จะต้องอยู่ในรูปของอนุมูลของประกอบ เช่น แอมโมเนียมไอออน (NH4+)
และไนเทรตไอออน (No3-) ซึ่งธาตุไนโตรเจนในดินที่อยู่ในรูปเหล่านี้จะมาจากการสลายตัวของสารอินทรียวัตถุในดิน
โดยจุลินทรีย์ในดินจะเป็นผู้ปลดปล่อยให้ หรือต้องได้มาจากการที่เราใส่ปุ๋ยเคมีลงไปในดิน”* ดังนั้น
ถ้าเทียบกันง่ายๆที่การได้รับธาตุไนโตรเจนของพืชแล้วหล่ะก้อ การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีจุลินทรีย์
หรือที่ปัจจุบันเขาเรียกกันว่า “ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ” ก็จะยิ่งช่วยทำให้พืชได้ประโยชน์จากการใส่ปุ๋ยมากกว่าการใส่ปุ๋ยอินทรีย์แบบเพียวๆ และได้ประโยชน์มากกว่าการใส่ปุ๋ยเคมีถ้าเทียบในรูปของประโยชน์อื่นๆที่ปุ๋ยเคมีไม่มีและต้นทุนที่ต่างกัน
ด้วยเหตุผลที่ว่า การใส่ปุ๋ยเคมีที่มีไนโตรเจนนั้น
ธาตุไนโตรเจนในปุ๋ยที่ใส่จะมีการสูญหายไปประมาณครึ่งหนึ่งเนื่องจากการชะล้างอย่างรวดเร็ว
หรือไม่ก็จะถูกแปรเปลี่ยนโดยจุลินทรีย์ในดินทำให้อยู่ในรูปที่พืชไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
ทำให้พืชไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร** หรือพูดง่ายๆว่า ซื้อของมาเต็มราคา
แต่ได้ประโยชน์แค่ครึ่งเดียว
สิ่งที่เราต้องเข้าใจมากไปกว่าการใส่ปุ๋ยก็คือ สภาพของดินที่เหมาะแก่การปลูกพืช
ดินที่ดีจะต้องประกอบไปด้วย ดินและธาตุอาหารในดิน น้ำ และอากาศ ดินที่ปลูกพืชมานานโดยขาดการบำรุงจะเป็นดินที่จืดชืดจนพืชขาดสารอาหารในการเติบโต
ส่วนดินที่ไม่มีการพรวนนานๆเข้า ดินจะแน่นเพราะขาดช่องว่างให้อากาศได้แทรกตัวลงไป
เวลารดน้ำก็จะยิ่งสูญเสียหน้าดินเพราะน้ำไม่ซึมลงไปถึงราก แต่จะชะล้างหน้าดินแทน ดังนั้น
วิธีการดูแลต้นพืชที่ดี จึงควรบำรุงหรือเลี้ยงดินให้อุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ดินไปเลี้ยงพืชอีกต่อหนึ่ง
นั่นหมายความว่า
นอกจากจะต้องเพิ่มธาตุอาหารแล้ว จึงควรมีการพรวนดินเพิ่มช่องว่างในดิน และถ้าดินของเราอุดมสมบูรณ์ก็อย่าตกใจที่จะพบกับไส้เดือน
กิ้งกือ ซึ่งจะมาช่วยเราอีกทางหนึ่งในการดูแลต้นไม้
ด้วยหลักการข้างต้น ดังนั้นวิธีใช้ปุ๋ยหมูหลุมที่ถูกต้อง
จึงควรมีการพรวนดินและใส่โดยคลุกเคล้าไปกับดิน และหากดินเดิมมีอินทรีย์วัตถุในดินด้วยจะยิ่งดี
เพราะจุลินทรีย์ในเม็ดปุ๋ยนอกจากจะค่อยๆปลดปล่อยธาตุอาหารที่มีในเม็ดปุ๋ยแล้ว
ยังช่วยสร้างอาหารใหม่เพิ่มขึ้นจากอินทรีย์วัตถุที่มันกำลังจะย่อยต่อไป
หากเป็นไม้กระถาง
ยิ่งมีอาหารจำกัดในการเติบโต
ถ้าดินเก่าดินแก่ ไม่เคยดูแลมานาน ก็ควรเปลี่ยนดินใหม่
โดยคลุกปุ๋ยหมูหลุมไปพร้อมกับการเปลี่ยนดิน จะยิ่งเห็นความงามเร็วขึ้น
ท้ายนี้ฝากข้อคิดดีๆไว้ใช้ในสวน “หากลงทุน ลงแรงอย่างดีและชาญฉลาดในวันนี้ ก็จะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตที่ดีในอนาคตอันใกล้”
ครูคำ กำลังสาธิตวิธีการคลุกและปั้นเม็ดปุ๋ยโดยใช้เครื่องมือก่อสร้างที่ประยุกต์ขึ้นเอง |
ขอบคุณข้อมูลจาก
ครูเล็ก ครูคำ
ศูนย์กสิกรรมกธรรมชาติบ้านเนินไทร จ.สระแก้ว
**สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวhttp://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=18&chap=8&page=t18-8-infodetail06.html