รุ่งทิพย์ สุขกำเนิด
กว่า 5,000
ปีมาแล้วที่มนุษยชาติได้เรียนรู้และพัฒนาการผลิตกระดาษอย่างต่อเนื่อง
กระดาษจึงนับว่าเป็นสินค้าที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงเพราะว่าครองใจผู้ใช้มาตลอด
และมีแนวโน้มที่จะใช้งานในรูปแบบที่หลากหลายและในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ แต่เราหารู้ไม่ว่า ในความต้องการใช้นั้น
เรากลับต้องแลกมาด้วยปัญหาจากการผลิตและการใช้ที่มากขึ้น จะดีกว่ามั๊ย
หากเรามาทำความรู้จักกระดาษให้มากขึ้น เพื่อที่จะเรียนรู้การใช้งานมันอย่างคุ้มค่าและสร้างปัญหาให้น้อยลง
ถ้าไม่นับปัจจัย 4
ในการดำรงชีวิต กระดาษน่าจะจัดเป็นสิ่งประดิษฐ์ 1 ใน 5
ที่มีความสัมพันธ์กับชีวิตประจำประวันของมนุษย์เรามากที่สุด เราใช้กระดาษทั้งทางตรงและทางอ้อมมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น กระดาษชำระ หนังสือพิมพ์ กระดาษเขียน บรรจุภัณฑ์
วัสดุเพื่อการตกแต่ง กันกระแทก
กันเสียงสะท้อน หรือแม้แต่การมวนบุหรี่ และเพื่อการแลกเปลี่ยน
กระดาษที่เราใช้กันในปัจจุบันมีรูปร่างหน้าตาและวิธีการผลิตที่ต่างจากอดีตเมื่อครั้งเริ่มต้นอย่างมาก
มีการบันทึกว่าชาวอียิปต์ได้ใช้ต้นกกชนิดหนึ่งในการผลิตวัสดุสำหรับใช้เขียนเมื่อกว่า 5,000 ปีก่อนโดยเรียกมันว่า
Papyrus ซึ่งเป็นที่มาของรากศัพท์ของคำว่า Paper ที่ใช้กันในปัจจุบัน ส่วนคำว่า
“กระดาษ” ไม่ใช่คำไทย แต่สันนิษฐานว่าเป็นคำที่แปลงมาจากภาษาโปรตุเกสว่า Cartas เข้าใจว่าโปรตุเกสคงเป็นผู้นำกระดาษแบบฝรั่งเข้ามาพวกแรกในสมัยอยุธยา
คำว่ากระดาษจึงมีใช้ติดปากมาตั้งแต่สมัยนั้น1 ถ้าเป็นดั่งนั้นก็ต้องขอบคุณชาวโปรตุเกสไว้ ณ
ที่นี้
ที่ทำให้การบันทึกเรื่องราวในอดีตของไทยทำได้ง่ายขึ้นจากการที่ต้องบันทึกลงในแผ่นหินและฝาผนัง
วิธีการทำ Papyrus ก็ไม่ยุ่งยากซับซ้อนนักแค่นำต้นกกฝานจนเป็นแผ่นบางแล้วนำมาเรียงขวางสลับกันอย่างเป็นระเบียบและนำมาบทอัดจนแน่นพร้อมทั้งทำให้แห้งโดยการตากแดด
ต่อมาได้มีการพัฒนาการผลิตกระดาษขึ้นซึ่งเป็นต้นตำรับที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้
โดยนักประดิษฐ์ชาวจีนซึ่งได้นำเศษแหเก่าๆ เศษผ้าขี้ริ้ว ตลอดจนเศษพืช
นำมาต้มและทุบให้เปื่อย เมื่อนำมารวมกับน้ำก็จะเป็นเยื่อกระดาษ (Pulp) นำเยื่อกระดาษ ดังกล่าวมาเกลี่ยบนตระแกรงตามแนวนอนปล่อยให้น้ำไหลออกจากตระแกรงแล้วนำมาบทอัดให้แห้ง ซึ่งเส้นใยที่ได้จะถูกวางอย่างไม่เป็นระเบียบ
จึงมีผลทำให้กระดาษที่ได้มีความเหนียวกว่า2
ในปัจจุบันกระบวนการผลิตกระดาษได้มีความรุดหน้าไปมาก
มีการใช้เครื่องจักรและวิธีการผลิตที่ทันสมัย และผลิตกระดาษได้หลายรูปแบบ
และสีสันเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน และมีการเติมสารอื่นๆ
อีกหลายอย่าง เช่น "ผงแร่สีขาว"
เพื่อให้กระดาษเรียบขึ้น ผิวขาวสว่างขึ้น , "สารต้านการซึมน้ำ"
ทำให้กระดาษไม่เปียกน้ำได้ง่าย, เติม "แป้ง" เพิ่มความเหนียวของกระดาษ
และสารเคมีอื่นๆ อีกหลายชนิด เพื่อให้ได้กระดาษมีคุณสมบัติตามที่ต้องการ โดยส่วนประกอบหลักของกระดาษจะเป็นส่วนที่เป็นเส้นใยหรือเรียกกันว่า
"เยื่อกระดาษ" ประมาณร้อยละ 70-95
แล้วแต่ชนิดของกระดาษ
ซึ่งเยื่อกระดาษจะประกอบด้วยเยื่อ 2 ชนิด คือ
"เยื่อใยยาว" มีลักษณะหยาบ มีความแข็งแรงสูง
ทำมาจากเนื้อไม้อ่อนเมืองหนาว ได้แก่ ไม้พวกสน และสปรูซ ซึ่งต้องนำเข้าจากเมืองนอก
ส่วนเยื่อกระดาษอีกชนิดหนึ่งคือ "เยื่อใยสั้น" มีลักษณะละเอียด
ไม่แข็งแรง แต่ทำให้กระดาษแน่น เรียบ ทำมาจากไม้เนื้อแข็งเมืองร้อน เช่น
ยูคาลิปตัส กระถินเทพา เบิร์ช แอสเพน เป็นต้น 3
ในกระบวนการผลิตกระดาษนั้นมีขั้นตอนที่สำคัญอยู่ 5 ขั้นตอนใหญ่
คือ การผลิตเยื่อ (pulping) การเตรียมน้ำเยื่อ (stock
preparation) การทำแผ่นกระดาษ
(papermaking) การปรับปรุงคุณสมบัติกระดาษขณะเดินแผ่น
(web modification) และการแปรรูป
(converting) ซึ่งในแต่ละขั้นตอนก็จะมีหลายวิธีในการผลิตขึ้นกับเป้าหมายการผลิตนั้น เช่น การผลิตเยื่อ
เป็นการแยกเส้นใยออกมาจากองค์ประกอบอื่นของไม้ ทำได้ทั้งโดยวิธีเคมีและเชิงกล
เส้นใยที่ได้จะมีคุณสมบัติต่างกัน
ทั้งความยาว ความนุ่ม สี และความสมบูรณ์ของเส้นใย การฟอกเยื่อ (bleaching) เป็นการทำให้เยื่อมีสีขาวเหมาะกับการใช้กระดาษเพื่อการสื่อสารต่างๆ แบ่งเป็น
2 วิธี คือ วิธีฟอกเยื่อเพื่อขจัดลิกนินออก (removing lignin) และ
วิธีฟอกเยื่อเพื่อเปลี่ยนสีของลิกนินให้อยู่ในรูปไม่มีสี (bleaching
lignin) ขั้นตอนนี้จะมีการใช้สารเคมีเพื่อทำปฏิกิริยากับลิกนินแล้วกำจัดลิกนินออก4 สารเคมีหลักที่ใช้ คือ คลอรีน และซัลเฟอร์ เป็นต้น
จะเห็นว่าไม่ว่ากระบวนการผลิตจะพัฒนาไปเพียงใด
ในการผลิตกระดาษยังจำเป็นที่จะต้องใช้เยื่อกระดาษซึ่งได้จาก “ไม้”
เป็นองค์ประกอบหลัก จำเป็นต้องใช้
“พลังงาน” ในทุกขั้นตอนการผลิต
จำเป็นต้องใช้ “น้ำ”
อย่างมากโดยเฉพาะการผลิต 2 ขั้นแรก อีกทั้งยังจำเป็นต้องใช้สารเคมีอีกหลายชนิดในขั้นตอนต่างๆ
เช่น ฟอกขาว และขจัดลิกนิน เป็นต้น
ไม่เพียงแต่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น
ในอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อและกระดาษยังมีการปล่อยมลพิษสู่อากาศจำนวนมากจากแต่ละขั้นตอนการผลิต
ได้แก่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จากกระบวนการ
chemical recovery ในการผลิตเยื่อ
กระบวนการซัลเฟต กระบวนการโซดา กระบวนการซัลไฟล์ และอีกหลายขั้นตอน
นอกจากนี้ยังเกิดกลิ่นพวก reduced sulphur compound รวมถึงมีการปล่อยก๊าซคลอรีนหรือคลอรีนไดออกไซด์
ไฮโดรเจนซัลไฟด์ เมอร์แคปแทน และไนโตรเจนไดออกไซด์อีกด้วย รวมถึงมีมลพิษที่เกิดจากน้ำทิ้ง
และกากของเสียอีกจำนวนมาก
มลพิษที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังไม่รวมเสียง ฝุ่น ของเสียที่ไม่เป็นอันตราย และมลพิษทางอ้อมที่เกิดจากการผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตกระดาษ
เช่น มลพิษจากการผลิตไฟฟ้าป้อนโรงงานกระดาษ เป็นต้น
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้ประมาณการว่า ในการผลิตกระดาษ 1 ตัน ใช้ต้นไม้ 17 ต้น .ใช้ไฟฟ้า 4,100
kw/hr และยังใช้น้ำอีก 31,500
ลิตร ( เทียบเท่าน้ำถังใหญ่ ที่นิยมใช้ตามบ้านในกรุงเทพ ฯ 31
ถังครึ่ง)
คาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมา
การผลิตกระแสไฟฟ้า
1 kw/hr จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
0.7 กก.ดังนั้นผลิตกระดาษ 1 ตัน ปล่อยก๊าซนี้ถึง 2.87 ตัน
แต่ประเทศไทยมีความต้องการกระดาษทุกชนิดรวมกันประมาณ 3.25
ล้านตันต่อปี เท่ากับต้องมีการปล่อยก๊าซประมาณ 9.33 ล้านตันต่อปีทีเดียว
ตัวดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่หายไป
การผลิตกระดาษ 3.25 ล้านตัน ต้องใช้ต้นไม้ทั้งหมด 55.25
ล้านต้น โดยต้นไม้ 1 ต้นจะช่วยเฉลี่ยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง
ปีละ 15 กิโลกรัม เท่ากับว่าในแต่ละปี
ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงถึง 828.75 ล้าน กก.
หากไม่มีการปลูกต้นไม้ทดแทน
|
อย่างไรก็ดี
ผู้ผลิตกระดาษสามารถที่จะลดการใช้ทรัพยากรและมลพิษลงด้วยการใช้เยื่อที่ได้จากเศษกระดาษที่ใช้แล้วมารีไซเคิล ซึ่งเยื่อประเภทนี้
นอกจากจะเป็นการลดการตัดต้นไม้ลงแล้ว ยังลดการใช้พลังงานจากการบดเยื่อและลดการใช้น้ำลงอีกด้วย ปัจจุบันโรงงานผลิตกระดาษมีความต้องการเศษกระดาษปีละ 2.5 ล้านตัน แต่สามารถหาเศษกระดาษภายในประเทศมาป้อนได้ไม่ถึงร้อยละ
50 ที่เหลือต้องนำเข้าเศษกระดาษจากต่างประเทศ ปีละกว่า 1
ล้านตัน4 ทั้งๆที่มีขยะกระดาษภายในประเทศเหลือเฟือ ดังนั้น
เราผู้ใช้กระดาษควรจะต้องช่วยกันแยกและส่งกระดาษกลับเข้าไปสู่กระบวนการรีไซเคิลด้วย
รู้หรือไม่ ......ว่าในการผลิตกระดาษจากเยื่อรีไซเคิล 1 ตัน จะช่วย...
1.ลดการตัดต้นไม้ 17 ต้น
2.ลดการใช้น้ำในการปลูก 26.5 ลูกบาศก์เมตร 3.ลดการใช้พลังงาน ร้อยละ 50 4.ลดการใช้น้ำในการผลิต ร้อยละ 35 |
ไม่ใช่จะมีแต่ผู้ผลิตกระดาษที่เป็นผู้สร้างมลพิษ
พวกเราผู้ใช้ก็เป็นอีกแหล่งที่ก่อมลพิษจากกระดาษเช่นกัน พบว่าในกองขยะทั่วไป
หากไม่นับขยะอินทรีย์แล้ว กระดาษถือเป็นขยะประเภทที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ที่มีสัดส่วนมากที่สุด
หรือมีปริมาณถึง 19% (ที่เหลือเป็นพวกพลาสติก 13% แก้ว 8% โลหะ 5%) หากคิดปริมาณขยะกระดาษทั้งประเทศจะมีจำนวนถึง 2.47 ล้านตัน/ปีทีเดียว ทั้งนี้ยังไม่มีตัวเลขว่าในบรรดาขยะกระดาษทั้งหมด
มีการใช้อย่างคุ้มค่าจริงๆ กี่เปอร์เซนต์
ดังนั้น
จะดีกว่ามั๊ยถ้าเราจะหันมาใส่ใจกับการใช้กระดาษกันสักนิด แนวทางการใช้ให้คุ้มค่าก็ไม่ยากอะไร
แค่ใช้กระดาษให้ครบทั้ง 2 หน้า แต่หากจะใช้ให้ได้ 3 หน้า 4 หน้า หรือมากกว่านั้นจะยิ่งดีเข้าไปใหญ่
บางคนอาจสงสัยว่า เอ๊ะ กระดาษเท่าที่เห็นก็มีแค่ 2 หน้านี่นา แล้วหน้าที่ 3 และ 4
มาจากไหน ลองพลิกดูดีๆสิค่ะ มันมีจริงๆ
คุณยายร้าน
K2N ซึ่งเป็นร้านขายเครื่องเขียน
จะใช้เวลาว่างแปรรูปหนังสือพิมพ์
โดยเฉพาะส่วนที่เป็นกระดาษมันซึ่งขายไม่ค่อยได้ราคา ให้เป็นถุงใส่ของให้ลูกค้า
ซึ่งนอกจากจะแข็งแรงแล้ว ยังประหยัดสตางค์ด้วย ซึ่งเป็นการใช้กระดาษหน้าที่ 3
อย่างคุ้มค่าจริงๆ
คุณยายร้าน K2N กับถุงจากกระดาษหน้าที่ 3 ทำเอง นอกจากจะทำให้เกิดการใช้กระดาษอย่างคุ้มค่าแล้วและยังเป็นการบริหารสมองและกล้ามเนื้อมือด้วย |
สำหรับคนที่ใช้กระดาษ 2 หน้าแล้ว
2 แต่ไม่รู้จะใช้หน้าที่ 3 อย่างไรดี ขอแนะนำให้ส่งไปให้คนพิการทางสายตา
ซึ่งเขาไม่จำเป็นต้องใช้กระดาษสีขาวที่ยังไม่ได้เขียน ขอแค่กระดาษใช้แล้ว 2
หน้าที่ไม่ยับและไม่มีแมกซ์เท่านั้น5 แค่นี้กระดาษหน้าที่ 3
ของคุณก็จะได้ใช้ประโยชน์และได้บุญอีกด้วย
น้องแดนก็ชอบใช้กระดาษหน้าที่ 3 เพื่อการประดิษฐ์ค่ะ เขาประดิษฐ์ของเล่นมากมาย ตัดกระดาษเป็นลวดลายต่างๆ
รวมถึงพับจรวดมากกว่า 50 แบบตามจินตนาการ เป็นการเพิ่มทักษะทางมือและเพิ่มการใช้สมองทั้ง 2 ซีก
สำหรับพี่กระติ๊บก็เป็นนักประดิษฐ์งานศิลปะเช่นกัน
เขาจะใช้กระดาษหน้าที่ 3 ของน้อง ไปทำงานศิลปะอีกทีหนึ่ง ดังนั้นกระดาษบ้านเราจึงใช้ได้ถึง 4 หน้าเลยทีเดียว
แล้วคุณหล่ะคะ ลองใช้กระดาษหน้าที่ 3 และ 4 ทำอะไรกันบ้าง ถ้ามีไอเดียดีๆก็อย่าลืมนำมาแบ่งปันกัน แต่ถ้าคุณคิดไม่ออกหล่ะก็ แค่ส่งกระดาษไปรีไซเคิลที่ร้านขายของเก่า หรือลองเข้าร่วมโครงการกระดาษเพื่อต้นไม้ ก็จะเป็นประโยชน์ทวีคูณทีเดียว (ดูรายละเอียดใน www.paper4trees.org)
แล้วคุณหล่ะคะ ลองใช้กระดาษหน้าที่ 3 และ 4 ทำอะไรกันบ้าง ถ้ามีไอเดียดีๆก็อย่าลืมนำมาแบ่งปันกัน แต่ถ้าคุณคิดไม่ออกหล่ะก็ แค่ส่งกระดาษไปรีไซเคิลที่ร้านขายของเก่า หรือลองเข้าร่วมโครงการกระดาษเพื่อต้นไม้ ก็จะเป็นประโยชน์ทวีคูณทีเดียว (ดูรายละเอียดใน www.paper4trees.org)
ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการใช้กระดาษอย่างคุ้มค่า
* “โครงการกระดาษเพื่อต้นไม้” ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.paper4trees.org/
* มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ถ.ราชวิถี กรุงเทพฯ โทร 0-2354-8365-8
* วงษ์พาณิชย์ http://www.wongpanit.com/wpnnew/
|
5. มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย
420 ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทรศัพท์ 0-2354-8365-8 , 0-2354-8370-1 โทรสาร 0-2354-8369
420 ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทรศัพท์ 0-2354-8365-8 , 0-2354-8370-1 โทรสาร 0-2354-8369