บทความนี้ถูกเขียนครั้งแรกในปี
๒๕๔๘ เป็นบทความหนึ่งในหนังสือ “เรียนรู้โลก ห่างไกลโรค” ที่จัดพิมพ์โดย
สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติในขณะนั้น หรือสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติในขณะนี้
และในโอกาสที่
“เดนมาร์ก” ขึ้นแท่นประเทศอันดับหนึ่งของโลก ที่ได้ชื่อว่า
“ประเทศที่มีความสุขมากที่สุด” อีกครั้ง ข้าพเจ้าจึงขอถือโอกาสนี้นำบทความที่ถ่ายทอดจากประสบการณ์เมื่อครั้งที่เคยอยู่ที่เดนมาร์กในระยะเวลาหนึ่ง
แต่ก็เป็นระยะเวลาที่มีความสุขมากจริงๆ กลับมาให้เพื่อนได้อ่านกันอีกครั้ง
ธรรมชาติแบบนี้หาได้ทั่วไปในเดนมาร์ก |
ส่องความสุขชาวเดนมาร์ก:
มองลอดรัฐสวัสดิการเห็นสังคมนิยมโดยวัฒนธรรม
มองลอดรัฐสวัสดิการเห็นสังคมนิยมโดยวัฒนธรรม
รุ่งทิพย์ สุขกำเนิด
ขึ้นชื่อว่า
“ความสุข”
ใครๆก็อยากมี คุณเป็นอีกคนหนึ่งใช่ไหมที่กำลังไล่ล่าหาความสุขอยู่? ถ้าใช่ลองมาติดตามค้นหาความสุขของชาวเดนมาร์ก ประเทศซึ่งได้ขึ้นชื่อว่า “มีความสุขที่สุดในโลก” กันเถอะ
“แผนที่โลกแห่งความสุข หรือ World Map of Happiness” เป็นงานวิจัยชิ้นสำคัญของนายเอเดรียน
ไวท์ (Adrian White) นักจิตวิทยาสังคมวิเคราะห์ จากมหาวิทยาเลสเตอร์
(University of Leicester) ประเทศอังกฤษ โดยเขาได้หาความสัมพันธ์ระหว่างความมั่งคั่ง
สุขภาพ และการศึกษา กับตัวแปรด้านความสุข (ความพึงพอใจในชีวิต)
หนึ่งในข้อสรุปที่ได้พบว่าตัวแปรด้านสุขภาพนั้นมีความสัมพันธ์สูงกับตัวแปรความสุข
รองลงมาคือความมั่งคั่ง และการศึกษา ตามลำดับ[I]
หรือกล่าวได้ว่าความพึงพอใจในชีวิตหรือการมีความสุขของคนทั่วไปนั้นมาจากการมีสุขภาพดี
มากกว่าความร่ำรวยและการมีการศึกษาสูงเสียอีก และนั่นเป็นที่มาของการจัดอันดับความสุขของประเทศต่างๆในโลกรวมถึงประเทศเดนมาร์ก
เมื่อประมาณต้นปี ๒๕๔๙ และมาปีนี้ ปี ๒๕๕๖ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United
Nations General Assembly) ได้ตอกย้ำจากผลการจัดอันดับให้
“เดนมาร์ก” เป็นประเทศที่มีประชากรที่มีความสุขที่สุขในโลกอีกครั้งหนึ่ง[๑]
ในขณะที่ประเทศไทยติดอันดับที่ ๓๖ จาก ๑๕๖ ประเทศทั่วโลก[II]
ความสุขที่รัฐมอบให้
ปี
ค.ศ.๑๘๘๓ เยอรมนีเป็นประเทศแรกในโลกที่รัฐเริ่มนำแนวคิดด้านประกันสังคมมาใช้ ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นในการผลักดันให้รัฐบาลประเทศต่างๆในยุโรป
รวมถึงประเทศแถบสแกนดิเนเวีย อย่างเดนมาร์ก ต้องจัดการประกันสังคมที่มีคุณภาพสูงขึ้นเข้าไว้ในวาระทางการเมืองด้วย
จากแรงผลักดันทางการเมืองภายนอกประเทศดังกล่าวข้างต้น
ประกอบกับความไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนของระบบสวัสดิการสุขภาพแบบเดิม
ในการกำจัดความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ และสงครามในแถบยุโรป
ทำให้เกิดแรงกดดันเพื่อการแก้ไขปัญหาขึ้นในประเทศเดนมาร์กในหลายด้าน อาทิ การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
และการปฏิรูปด้านการเมือง ในช่วงทศวรรษที่
๑๙๖๐-๘๐
ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
ประกอบกับการค้นพบแหล่งน้ำมันดิบในช่วงเวลาดังกล่าว
ทำให้เศรษฐกิจในประเทศเดนมาร์กมีการขยายตัวสูงขึ้นและมีการว่างงานต่ำ ในขณะที่การปฏิรูปทางการเมืองทำให้เดนมาร์กมีรัฐบาลแบบผสมพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย
เป็นพรรคการเมืองสำคัญในขณะนั้น
ซึ่งทั้งสองเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการปฏิรูปและดำรงอยู่ของระบบสวัสดิการสังคมใหม่ในช่วงเวลาต่อมา[III]
ในปี
๑๙๔๕ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นรัฐบาลของประเทศเดนมาร์กในขณะนั้น ได้มีการเสนอเรื่องการจัดสวัสดิการสังคมใหม่ แต่เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศขณะนั้นไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการปฏิรูปนโยบาย
จนในช่วงกลางทศวรรษที่ ๑๙๕๐ จึงได้มีนโยบายด้านสวัสดิการสังคมซึ่งครอบคลุมเรื่องบำนาญ
(ปี ๑๙๕๖) ค่าชดเชยการเจ็บป่วย (ปี ๑๙๖๐) ประกันทุพลภาพ (ปี๑๙๖๕)
และผลประโยชน์จากการตกงาน ในพระราชบัญญัติสังคมใหม่ (a new social statue)
และในระหว่างปี ๑๙๗๑-๗๓ ได้มีการปฏิรูปการจ่ายค่ารักษาพยาบาล
และนำเสนอกฎหมายเรื่องการประกันสุขภาพ พร้อมกับยกเลิกกองทุนช่วยเหลือเรื่องการเจ็บป่วย
(the contributory sickness funds) และเสนอให้ใช้กองทุนภาษีประกันสุขภาพแห่งชาติแทน
(tax-funded national health insurance) ซึ่งการปฏิรูปทางสังคมและสุขภาพทั้งหมดถูกทำขึ้นภายใต้กฎหมายว่าด้วยความช่วยเหลือทางสังคม
(Social Assistance Act) ในปี ๑๙๗๔[IV]
เดนมาร์ก
(รวมถึงสวีเดนและนอร์เวย์) ได้เลือกใช้การจัดสวัสดิการในรูปแบบ “สวัสดิการสแกนดิเนเวีย”
หรือ “Scandinavian Welfare Model”[๒]
โดยรัฐจะมีบทบาทในการบริหารจัดการและจัดสรรงบประมาณของระบบความมั่นคงปลอดภัยของสังคม
บริการสุขภาพ และการศึกษา ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายมากกว่าประเทศอื่นๆในยุโรป ด้วยเหตุผลดังกล่าว
ระบบสวัสดิการในเดนมาร์กจึงถูกดำเนินการคู่ไปกับระบบภาษีที่สูง นอกจากนี้รูปแบบการจัดการองค์กรแบบสแกนดิเนเวียน
ยังถูกทำให้ง่ายและรวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆในยุโรป
หัวใจหลักของ
“Scandinavian Welfare Model”
คือ ผลประโยชน์ทั้งหลายจะต้องนำสู่พลเมืองเพื่อบรรลุสภาวะที่เหมาะสมโดยใช้หลักความเท่าเทียมกัน
และปราศจากการแบ่งแยกสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม
โดยระบบจะครอบคลุมถึงทุกคนและผลประโยชน์ทั้งหลายจะต้องถูกจัดสรรให้แบบรายบุคคล
เช่น สิทธิของผลประโยชน์ของหญิงที่แต่งงานแล้วต้องแยกจากสิทธิประโยชน์ของสามี
เป็นต้น
ระบบสวัสดิการของประเทศเดนมาร์กนั้น
ครอบคลุมบริการฟรีด้านสุขภาพและการศึกษาสำหรับพลเมืองทุกคน และผลประโยชน์เพิ่มเติมที่ครอบคลุมเรื่องการดูแลเด็กที่ถูกทอดทิ้ง
การเจ็บป่วย และเบี้ยบำนาญ
กรณีผ่านข้อตกลงว่าด้วยการสะสมเงินของนายจ้างและลูกจ้างในตลาดแรงงานของประเทศสแกนดิเนเวียด้วย [V]
องค์กรชุมชน
สร้างเสริมความสุข
ขณะที่ภาครัฐได้จัดสวัสดิการสังคมในภาพรวม ในส่วนของภาคประชาชนเองก็ได้มีการสะสมทุนทางสังคมขึ้นอย่างเข้มแข็งและกว้างขวางในสังคมเดนมาร์กมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่
๑๘๘๐
โดยเดนมาร์กถูกวิเคราะห์ว่ามีโครงสร้างทุนทางสังคม (social capital) ที่เข้มแข็ง ทั้งนี้เนื่องมาจาก
แต่เดิมนั้นประเทศเดนมาร์กเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีลักษณะเป็นฟาร์มเดี่ยว ที่ประชากรยึดมั่นในขนบธรรมเนียมอย่างเคร่งครัด
แต่ก็มีการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็งของประชาชนในชนบท โดยเฉพาะกลุ่มชาวนา
และเกษตรกรในรูปสหกรณ์
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นการสะสมทุนทางสังคมและการเคลื่อนไหวของชนชั้นชาวนาซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันอำนาจการบังคับควบคุมจากทุนนิยม
จุดเริ่มของการรวมกลุ่มของเกษตรกร
เนื่องมาจากการเป็นเกษตรกรรายเดี่ยวที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง
ทั้งจากการถูกกดราคาสินค้าเกษตร และในอีกด้านหนึ่งก็ต้องซื้อวัสดุทางการเกษตรในราคาแพง
ดังนั้น การรวมกลุ่มในลักษณะสหกรณ์การเกษตรเท่ากับเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองในการซื้อและขายสินค้า
เมื่อการเคลื่อนไหวในการต่อรองสำเร็จ
จึงก่อให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ต่างๆเพิ่มขึ้นตามมา เช่น ในปี ๑๘๘๒ มีการตั้งสหกรณ์ผลิตภัณฑ์นมและสหกรณ์การเกษตรด้านอื่นๆ
ในปี
๑๘๘๓ มีการตั้งสหพันธ์ผู้ซื้อหญ้าแห้ง ปี ๑๘๘๗ ตั้งสหกรณ์โรงฆ่าสัตว์ และมีการตั้งสหกรณ์ธนาคารซึ่งมีสาขาในเมืองต่างในปี
๑๙๑๔ ซึ่งในความรู้สึกของชาวเดนมาร์กแล้ว การจัดตั้งสหกรณ์นั้นเป็นเหมือนองค์กรธรรมดาที่เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของประชาชนในชนบทของเดนมาร์ก[๓]
การเคลื่อนไหวของกลุ่มสหกรณ์ในเดนมาร์กจัดว่ามีความคึกคักและกว้างขวางมากที่สุดในบรรดาประเทศแถบสแกนดิเนเวียด้วยกัน
ซึ่งการเคลื่อนไหวของขบวนการชาวนานี้ยังเชื่อมโยงไปถึงการทำงานของพรรคเกษตรกร
(farmer’s
party) และการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมของชนบท (rural cultural
movement) ในเดนมาร์ก เช่น การเคลื่อนไหวของชุมชนและโบสถ์ที่ชุมชนเป็นผู้จัดการและรัฐสนับสนุนงบประมาณบางส่วน
และการเคลื่อนไหวของวิทยาลัยชุมชนที่ชุมชนหรือองค์กรภาคประชาสังคมเป็นเจ้าของและรัฐให้การสนับสนุนส่วนหนึ่ง
อีกด้วย
เป็นที่ชัดเจนว่าการเคลื่อนไหวของชาวนา(เกษตรกร)เป็นพลังจากเบื้องล่าง
จากสังคมชนบทของกลุ่มคนที่มี “จิตใจสาธารณะ” หรือ “Public-spirited”
โดยมีลักษณะเป็นงานอาสาสมัคร เป็นคนกันเองที่รู้จักกัน
สามารถพูดคุยแบบจับเข่าคุยกันได้
มีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน
มีปฏิสัมพันธ์ในระดับใหญ่ขึ้น
ข้ามกลุ่มและเชื่อมโยงในลักษณะเครือข่ายสมาคมสหกรณ์ มีความไว้วางใจในตัวแทนซึ่งเป็นกรรมการ
เหล่านี้ประกอบกันจนเห็นถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ทั้งความเป็น “เกษตรกรรมเท่าๆกับความเป็นวัฒนธรรมสมาคม” ซึ่งส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและมาตรฐานการศึกษาของประชาชนในชนบทที่สูงกว่าปกติ
และเกิดการพัฒนาทางการศึกษาเฉพาะทางในอาชีพของเขาที่ลึกและเป็นประโยชน์กับองค์กรของเขาโดยองค์กรของเขาเอง[VI]และความไว้เนื้อเชื่อใจได้นี้ได้นำมาซึ่งความปลอดภัยในสังคม
“สังคมนิยม” ความหมายที่แตกต่าง ความสุขที่แตกต่าง
จากที่เล่ามาแล้วข้างต้น
เราคงจะพอเห็นเค้าลางว่าที่มาของความสุขหรือความพึงพอใจในชีวิตของชาวเดนมาร์กที่ถูกจัดไว้เป็นอันดับต้นโดยมหาวิทยาลัยเลสเตอร์และสหประชาชาตินั้นน่าจะมีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง
การได้รับสวัสดิการสังคมที่ดีซึ่งจัดให้โดยรัฐ
และการสร้างระบบธุรกิจในรูปสหกรณ์ที่สามารถป้องกันการเอาเปรียบจากทุนนิยมอื่น
(และแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม) จนสานต่อไปถึงความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นในสังคม
ซึ่งทั้งสองสิ่งข้างต้นนั้นตรงกับหลักปรัชญาของ “สังคมนิยม” ที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างประเทศเดนมาร์ก
โดยปรัชญาคำว่า
“สังคมนิยม” มีความหมายว่าเป็นสังคมที่นิยมความเท่าเทียม
หรือตรงกับภาษาอังกฤษว่า Egalitarian คือการให้คุณค่ากับความเท่าเทียมกันมากกว่าการให้คุณค่ากับความโดดเด่นหรือความร่ำรวยของบุคคลบางคนในสังคม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสังคมที่นิยมความเท่าเทียมมักจะทนไม่ได้ที่จะเห็นคนไร้ที่อยู่อาศัย
ไร้การศึกษา หรือต้องทนทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยหรือทุพลภาพ
เนื่องจากไม่มีเงินไปจ่ายค่ารักษาพยาบาล
ซึ่งตรงข้ามกับบางสังคมที่นิยมความเท่าเทียมเช่นกัน แต่คนทั่วไปกลับให้คุณค่ากับบุคคลที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจจนร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี
ในขณะที่ละเลยที่จะให้ความสนใจกับคนที่ยากจน ไร้ที่อยู่อาศัย
โดยคิดว่าเป็นกรรมเก่า
หรือการที่คนในสังคมส่วนใหญ่ให้คุณค่ากับคนที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกทางวิชาการแต่ไม่สนใจกับการมีคนไม่รู้หนังสือในสังคมของตน
เป็นต้น
คนไทยทั่วไปมักตีความว่า
สังคมนิยมจะต้องดำเนินการโดยรัฐ ในรูปแบบของการยึดเอาทรัพยากรการผลิตจากคนต่างๆในสังคมมาดำเนินการสร้างผลผลิตแล้วแบ่งปันผลประโยชน์ออกไปอย่างเท่าเทียมกัน
(ดังตัวอย่างประเทศคอมมิวนิสต์)
เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการครอบครองทรัพยากรการผลิต
อย่างไรก็ดีในสังคมเดนมาร์กและอีกหลายประเทศในยุโรปกลับตีความต่างออกไป
รัฐบาลเดนมาร์กไม่สนใจเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของการครอบครองทรัพยากรการผลิตมากเท่ากับการแบ่งปันและกระจายผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นให้เท่าเทียมและทั่วถึง
รัฐจะปล่อยให้การทำธุรกิจเป็นไปโดยเสรีหรือเป็นแบบทุนนิยมเต็มรูป และใช้วิธีการจัดเก็บภาษีในระดับสูงแตกต่างกันแทน
และนำมาจัดเป็นสวัสดิการทางสังคมอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงดังที่กล่าวไปแล้ว
แม้รัฐบาลเดนมาร์กจะไม่ควบคุมเรื่องการทำธุรกิจ
แต่ก็มีมาตรการควบคุมเรื่องผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็ควบคุมราคาที่ดินไม่ให้สูงเกินไปเพื่อที่ทุกคนจะสามารถมีโอกาสได้เป็นเจ้าของที่ดินได้
(ซึ่งต่างจากประเทศไทย)
และรัฐก็สามารถนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ต่างๆเพื่อสร้างสวัสดิการให้แก่สังคมได้ด้วย
คำว่าสังคมนิยมยังถูกนำมาใช้ในการจัดการธุรกิจ
โดยมากมักอยู่ในรูปแบบของการทำสหกรณ์ต่างๆ ดังที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น
เนเธอร์แลนด์ และประเทศเดนมาร์ก
นอกจากนี้ปรัชญาของสังคมนิยมยังถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเป็นแนวปฏิบัติของคนในสังคม
หรือเรียกว่าเป็น “สังคมนิยมโดยวัฒนธรรม” ซึ่งจะพบเห็นได้เมื่อวิเคราะห์เจาะลึกในรายละเอียดของการวางระเบียบในสังคมหรือแม้แต่การปฏิบัติต่อกันของชาวเดนมาร์กเอง ตัวอย่างเช่น
การนำไปใช้ในเรื่องของการสร้าง community
home town การจัดระบบการศึกษาในระดับต้น การจัดกิจกรรมกลุ่ม
การจัดตั้งระบบการบริหารกิจการไฟฟ้าขนาดย่อม และการให้บริการทางการแพทย์ ฯลฯ ซึ่งเป็นที่มาของความสุขหรือความพึงพอใจในชีวิตที่เติมเต็มในส่วนที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
สังคมเดนมาร์ก
สังคมนิยมโดยวัฒนธรรม
การเจาะลึกความคิด
วิถีปฏิบัติ และปฏิสัมพันธ์ของสังคมชาวเดนมาร์กที่นิยมความเท่าเทียม
และเน้นความสุขจากการอยู่ร่วมกันในครั้งนี้ จะอาศัยประสบการณ์ของข้าพเจ้าที่ได้ไปใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในประเทศเดนมาร์กพร้อมกับครอบครัว จนได้มีโอกาสรู้จักสนิทสนมกับเพื่อนชาวเดนมาร์กมากขึ้นกว่าเมื่อครั้งในอดีตที่เป็นเพื่อนร่วมงานในช่วงเวลาสั้นๆ
และการได้มีเพื่อนใหม่เพิ่มขึ้น และประสบการณ์ตรงจากการรับบริการสวัสดิการสังคมที่ภาครัฐจัดให้
เช่น โรงพยาบาล การผ่าตัด โรงเรียนอนุบาล ฯลฯ
ซึ่งจะสะท้อนความสุขที่เกิดจากความเป็นสังคมนิยมโดยวัฒนธรรม
ในสังคมของพวกเขาเองและยังเผื่อแผ่แก่เพื่อนร่วมสังคมชาติอื่นๆในประเทศเดนมาร์กด้วย
ดังที่จะได้กล่าวถึงในตัวอย่างต่อไปนี้
community
home town : ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ (ร่วมกัน) ครอบครัวเดนมาร์กนั้นเป็นแบบครอบครัวเดี่ยวที่มีสมาชิกในบ้านเฉพาะพ่อแม่ลูกเท่านั้น
และเมื่อลูกโตพอ พวกเขาจะแยกไปมีบ้านใหม่ของตนเองไม่ว่าจะมีครอบครัวหรือไม่ก็ตาม เราจึงพบว่าในเดนมาร์กนั้นมีบ้านเช่ามากมาย
และการอยู่บ้านเช่าจนแก่เฒ่าก็เป็นเรื่องปกติในสังคมนี้
และเมื่อสูงอายุก็จะสามารถรับสวัสดิการการเข้าอยู่ในบ้านพักคนชรา
ที่จัดไว้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งเป็นสวัสดิการสังคมของชาวเดนมาร์ก อย่างไรก็ดี ชาวเดนมาร์กไม่น้อยที่มีบ้านเป็นของตนเองและในบรรดาคนที่มีบ้านเป็นของตนเองจำนวนไม่น้อยที่จัดการระบบภายในหมู่บ้านที่ตนเองอาศัยเป็นแบบ
community
home town
โดยหลักการของ
community
home town ก็คือการรวมกลุ่มของผู้อยู่อาศัยที่มีแนวคิดเหมือนกันในเรื่องการจัดการในหมู่บ้านของตน
โดยเริ่มต้นที่ผู้ต้องการซื้อที่ดินปลูกบ้านและมีความคิดเดียวกันจะต้องมาพูดคุยกัน
ถึงลักษณะของหมู่บ้านในฝัน ในขั้นตอนของการคุยกันนั้น
ก็จะมีการชักชวนและเลือกสมาชิกในหมู่บ้านไปพร้อมๆกัน
จนเมื่อความคิดตกผลึกว่าหมู่บ้านในฝันเป็นอย่างไร และมีวิธีจัดการอย่างไร ใครจะเป็นสมาชิกบ้าง
เมื่อนั้นถึงจะเริ่มลงหลักสร้างหมู่บ้านกัน
ตัวอย่าง
community
home town
หนึ่งมีหลักการว่าในหมู่บ้านของเขาจะต้องมีสนามเด็กเล่นที่ทุกบ้านเข้าถึงได้เมื่อมองออกจากประตูหน้าบ้าน
และต้องมีพื้นที่สวนส่วนรวมที่ทุกคนสามารถปลูกพืชสวนครัวไว้กินได้และมีห้องสาธารณะที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
โดยห้องสาธารณะนี้ได้จัดแบ่งเป็นห้องซักล้าง ทำให้ทุกบ้านในหมู่บ้านลดค่าใช้จ่ายเรื่องเครื่องซักผ้า
และมีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีห้องของเล่นสำหรับเด็ก
ห้องเก็บของรวมเช่น จักรยาน ห้องกีฬา
และที่สำคัญคือมีห้องอาหารที่ใช้ทานอาหารร่วมกันสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง โดยผลัดเวรกันหรืออาสามาทำอาหารตามแต่ตกลงกัน
ซึ่งประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย และยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอยู่เสมอๆ
นอกจากนี้บางหมู่บ้านยังมีการจัดทำระบบการผลิตไฟฟ้ารวมจากพลังงานแสงอาทิตย์
ในขณะที่บางหมู่บ้านมีระบบเก็บขยะชีวมวลของหมู่บ้านเพื่อขายต่อไปยังโรงงานผลิตพลังงานจากชีวมวล
เป็นต้น
อนุบาลในฝัน
สร้างสรรค์จินตนาการ สานเครือข่ายครอบครัว การจัดระบบการศึกษาในระดับต้นก็เป็นสังคมนิยมโดยวัฒนธรรมอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ การจัดการศึกษาขั้นต้นในเดนมาร์กนั้นได้รับการสนับสนุนส่วนใหญ่จากรัฐและมีการเก็บค่าเล่าเรียนบางส่วนจากผู้ปกครองที่มีรายได้เพียงพอในการจ่าย
ซึ่งใช้หลักการปฏิบัติเดียวกับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเดนมาร์กเพราะถือว่าการศึกษาเป็นสิทธิพื้นฐานของคน
(และยังเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวที่เกิดจากเด็กและผู้ปกครองของเด็กที่ไม่ได้เข้ารับการศึกษาอีกด้วย) พ่อแม่ชาวเดนมาร์กนิยมส่งลูกไปเข้ารับการศึกษาตั้งแต่อายุได้
๑ ปี โดยไปอยู่ในสถานที่รับเลี้ยงเด็ก (nursery) ใกล้บ้าน
เพื่อให้เด็กสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้อย่างรวดเร็ว และเข้าสมาคมกับเพื่อน
และเมื่อเด็กอายุครบ ๓ ขวบเต็ม ไม่ว่าเมื่อไรก็ตาม (ไม่ใช่เมื่อโรงเรียนเปิดเทอมในเดือนพฤษภาคม)
เขาจะมีสิทธิเข้าโรงเรียนอนุบาลใกล้บ้าน เรียกโดยทั่วไปว่า bornhaven (อ่านว่า บอร์นเฮว) หรือข้าพเจ้าเรียกว่า บอร์นเฮเวน
ซึ่งแปลว่าสวรรค์ของเด็กๆ
ที่โรงเรียนอนุบาล
เด็กๆจะมีห้องประจำเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันในบางเวลา และพวกเขามีอิสระที่จะไปเล่นได้ทุกที่
ทุกห้องในโรงเรียนที่ได้รับอนุญาต เด็กจะมาเรียนรู้การช่วยเหลือตนเอง
สร้างทักษะการอยู่ร่วมกัน การช่วยเหลือกัน
และสร้างจินตนาการจากของเล่นมากมาย
เราจะพบของเล่นที่ดูเหมือนผาดโผนเพื่อให้เด็กได้ปีนป่ายสูงเกือบ ๓ เมตร
(แต่กลับมีความปลอดภัยสูงกว่าของเล่นเตี้ยๆ ในบ้านเราหลายเท่า)
รถยนต์ที่ขับโดยใช้เท้าปั่น และเครื่องมือช่างที่ทำมาในขนาดเด็กแต่มีความแข็งแรงเกือบเท่าของจริง
กองทรายและของเล่นอื่นๆในสนาม และเด็กๆจะได้รับอนุญาตให้มอมแมมได้เต็มที่โดยไม่มีใครดุเมื่อถึงเวลาลงสนาม
และพวกเขาจะต้องออกเล่นในสนามทุกวันไม่ว่าจะมีหิมะหรือฝนตกก็ตาม
(เพื่อฝึกความอดทนและสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย) เป็นต้น
เมื่อเด็กๆอายุ
๕ ปี
พวกเขาจะเปลี่ยนไปอยู่ห้องเด็กโตในอนุบาลเดียวกันเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ระบบการศึกษาในระดับประถมศึกษา
เช่น ฝึกรับประทานอาหารให้เร็วขึ้น แต่งตัวเองในเวลาที่กำหนด
ฝึกตอบคำถามและตั้งคำถาม
ฝึกฟังเรื่องราวที่ยาวขึ้นและปะติดปะต่อเรื่องแบบข้ามวันได้ เป็นต้น อย่างไรก็ดีที่ระดับอนุบาลนี้จะไม่มีการเรียนแบบให้ท่องจำแม้กระทั่ง A B C ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าเด็กวัย
๕-๖ ขวบที่เดนมาร์กบางคนยังเขียนชื่อตนเองไม่ถูก
หรืออย่างมากก็เขียนชื่อตนเองและอ่านชื่อเพื่อนในห้องได้ด้วยความคุ้นเคยเท่านั้น และเมื่ออายุ ๖ ขวบเต็ม เด็กจึงจะมีสิทธิที่จะเข้าเรียนในระดับเตรียมประถมศึกษาอีก
๑ ปี ก่อนจะเลื่อนไปอยู่ชั้นประถมศึกษา
ทุกสัปดาห์เด็กๆในห้องเดียวกันจะได้ทำอาหารทานกันเองในหมู่ของพวกเขาแทนการเตรียมมาจากบ้าน
และทุกเดือนจะมีการพบปะนั่งคุยอย่างเป็นกันเองระหว่างพ่อแม่และคุณครูในเรื่องต่างๆซึ่งเป็นหัวข้อทั่วๆไป
ทำให้เกิดสมาคมของพ่อแม่และคุณครูขึ้น
และยังมีการจัดพบปะปู่ย่าปีละหนึ่งครั้งอีกด้วย นอกจากนี้ในเทศกาลสำคัญๆโรงเรียนก็จะจัดกิจกรรมใหญ่นอกสถานที่ให้พ่อแม่
เด็กๆ และคุณครูได้สนุกสนานร่วมกัน เป็นต้น
ผู้ปกครองหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่จำเป็นที่ลูกของพวกเขาจะต้องรีบไปเข้าโรงเรียนชั้นประถมหรอก
ความสุข ความพร้อม และจินตนาการเป็นสิ่งที่สำคัญกว่ามาก”
เสื้อผ้าที่เยอะประสบการณ์พร้อมสำหรับลุยทุกสภาวะ กับชิงช้าในสนามเด็กเล่นในโรงเรียนอนุบาลที่แกว่งได้สูงมากๆ |
กิจกรรมกลุ่ม
: เสริมทักษะ สร้างเพื่อนใหม่ แก้ไขปัญหาสังคม อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นเรื่องของการจัดกิจกรรมกลุ่ม ชาวเดนมาร์กแต่ละคนนิยมมีกลุ่มหรือสังกัดสมาคมต่างๆที่ตนสนใจ
เช่น ดนตรี กีฬา วาดภาพ ทำอาหาร เต้นรำ ร้องเพลง ฯลฯ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีการทำกิจกรรมในเดนมาร์กนั้นมีมากมายหลายวิธี
ทั้งการจัดการจากรัฐ (เทศบาลท้องถิ่น) โดยตรง เช่น
การจัดลานสเก็ตน้ำแข็งในช่วงฤดูหนาว
หรือการจัดกันเองโดยประชาชนแล้วขอการสนับสนุนบางส่วนจากรัฐ เช่น
กิจกรรมกลุ่มพ่อแม่และเด็ก
ในเดนมาร์กเราจะพบสถานที่สำหรับทำกิจกรรมกลุ่มที่เรียกว่า huset (แปลว่า
บ้าน) กระจายอยู่ทั่วไป
และเราสามารถเข้าไปร่วมกิจกรรมเหล่านั้นได้โดยจ่ายค่าบริการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยในช่วงกลางปีจะมีโฆษณาปฏิทินกิจกรรมส่งมาเชิญชวนทางไปรษณีย์ถึงบ้าน
ในช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่ที่เดนมาร์กพร้อมกับครอบครัวที่ประกอบด้วยข้าพเจ้า
สามี และลูกสาววัย ๓ ปี ครั้งนั้นได้มีโอกาสพาลูกสาวไปร่วมกิจกรรมดนตรี-เต้นรำของเด็ก
(ชาวเดนมาร์กจะเรียกว่า
music) โดยมีผู้นำกิจกรรมและเล่นดนตรีเป็นศิลปินท้องถิ่น ไม่มีค่ายสังกัด
เด็กที่เข้าไปร่วมมีอายุระหว่าง ๘ เดือน ถึง ๔ ปี
เด็กๆจะรู้สึกสนุกสนานและมีส่วนร่วมทั้งๆที่บางคนยังเล็กมาก แต่ไม่มีใครรำคาญความเป็นเด็กที่เล็กเกินไป
และไม่มีใครรังเกียจความแตกต่างในสีผิวและต่างภาษาของเรา
หลายครั้งหลายครอบครัวที่พ่อแม่พาลูกมาคนเดียวยังช่วยดูแลแม่ที่พาลูกมาสองคนอีกด้วย เราได้เห็นความสัมพันธ์ของพ่อ แม่
และลูกผ่านกิจกรรมเหล่านั้นพร้อมทั้งรอยยิ้มและเสียงหัวเราะตลอด ๔๕
นาทีของทุกสัปดาห์ แม้จะเป็นกิจกรรมที่เกือบจะซ้ำเดิมแต่เด็กๆ ก็รอคอยมัน
ถึงฟังภาษาเดนมาร์กไม่ออก แต่สีหน้าก็บอกว่าชอบกิจกรรมนี้มาก |
ในช่วงที่ลูกสาวอายุ
๕ ปี เราก็ได้มีโอกาสกลับไปอยู่เดนมาร์กอีกครั้ง
ครั้งนี้ข้าพเจ้าได้พาลูกสาวไปร่วมกิจกรรมการเต้นฮิบฮอบ กับคุณครูซึ่งเป็นวัยรุ่นอายุเพียง
๑๗ ปี นั่นแสดงให้เห็นถึงการยอมรับความสามารถมากกว่าความอาวุโส คุณครูจะเปิดสอนถึง ๔ ช่วงชั้น(อายุ)
ในช่วงชั้นที่อายุมากที่สุดมีนักเรียนเพียง ๒ คน
แต่ก็ยังเปิดสอนเพราะถือว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกันที่จะได้รับความรู้นี้ เมื่อเรียนไปได้ครึ่งทางและจบคอร์สก็จะมีกิจกรรมการแสดงของเด็กๆ
เพื่อสร้างความมั่นใจแก่เด็กๆว่าพวกเขาทำได้ (แม้ว่าจะเป็นการทำได้ตามอายุก็ตาม)
แต่เด็กๆก็สนุกและเต็มใจในการแสดงนั้น และไม่ได้รู้สึกว่าถูกบังคับในการเรียนเพื่อการเอาจริงเอาจังกับการทำให้ได้เช่นเดียวกับการเรียนกิจกรรมเสริมพิเศษในบ้านเรา แต่จุดมุ่งหมายอยู่ที่เป็นการเสริมทักษะ การได้มีเพื่อนใหม่และสร้างความบันเทิงมากกว่า
การไปอยู่เดนมาร์กในช่วงปีที่
๒ ข้าพเจ้ามีลูกชายวัยขวบเศษไปด้วยอีกหนึ่งคน
เราไม่ได้ส่งเขาเข้าเนอสเซอรี
เนื่องจากมีความคิดว่าอาจจะเกิดความยุ่งยากในการปรับตัวด้านภาษาของเขา
กับภาษาเดนมาร์กซึ่งไม่เคยได้ยินมาก่อน กลุ่มอาสาสมัครกิจกรรมชาวเดนมาร์กในพื้นที่(ซึ่งมีชาวต่างชาติแอฟริกันรวมอยู่ด้วย)
ได้รับทราบข้อมูลว่าเรามิได้ส่งลูกเข้าเนอสเซอรีมาจากคอมมูน(เทศบาล) จึงมีจดหมายมาแนะนำตัวและมาพูดคุยกับเราที่บ้าน โดยเล่าถึงจุดประสงค์หนึ่งในการตั้งกลุ่มกิจกรรมนี้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสังคมที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างชาวต่างชาติกับชาวเดนมาร์ก
และถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้มีปัญหานี้ในการส่งลูกเข้าเนอสเซอรี พวกเขาก็ยินดีและเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม
โดยไม่จำกัดว่าจะร่วมกับกลุ่มของเขาหรือกลุ่มกิจกรรมอื่นก็ได้ และเขาพร้อมจะอำนวยความสะดวกในการติดต่อกลุ่มอื่นให้หากเราต้องการ
นั่นทำให้เราสัมผัสได้ถึงความห่วงใย
และความไม่โดดเดี่ยวในสังคมนี้จริงๆ
เครือข่ายพ่อ-แม่-ลูกบุญธรรม
เมื่อไปสถานที่ท่องเที่ยว
เราจะพบเห็นครอบครัวเดนมาร์กที่มีลูกสีผิวต่างไปจากพ่อแม่
เพราะครอบครัวชาวเดนมาร์กที่ไม่มีลูกเองมักจะรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม
การไปเดนมาร์กครั้งนั้นข้าพเจ้าได้รู้จักสนิทสนมกับครอบครัวชาวเดนมาร์กครอบครัวหนึ่ง
เขารับเลี้ยงเด็กหญิงชาวจีนสองคนไว้เป็นบุตรบุญธรรม ตั้งแต่อายุได้ประมาณหนึ่งขวบ
เป็นที่น่าสนใจในแนวคิดที่เขาใช้ในการเลี้ยงลูกมากว่า
เขาได้ให้ความเอาใจใส่เลี้ยงดูเด็กทั้งสองเป็นอย่างดีราวกับเป็นลูกแท้ๆ
ในมาตรฐานครอบครัวชาวเดนมาร์กทั่วไป
พาไปเที่ยว ทำกิจกรรมเสริม จัดวันเกิด ฯลฯ
เด็กทั้งสองได้รับการยอมรับจากญาติพี่น้องของพ่อแม่บุญธรรมเหมือนลูกหลานแท้ๆคนหนึ่ง ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นไปด้วยความอบอุ่น
เขาจะบอกกับเด็กทั้งสองเสมอว่า ลูกๆมาจากประทศจีน
(และเขาก็จะให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศจีน) จงภูมิใจที่เป็นคนจีน
เช่นเดียวกับภูมิใจที่ได้เป็นชาวเดนมาร์ก
และทุกปีครอบครัวชาวเดนมาร์กที่รับบุตรบุญธรรมชาวจีนรุ่นเดียวกันนี้
จะมาพบปะสังสรรค์กัน และกลายเป็นสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นอีกแบบหนึ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นและมอบให้กับคนในสังคมเดียวกันแต่ต่างเชื้อชาติต่างผิวพรรณ
ระหว่างเด็กๆชาวจีนและครอบครัวชาวเดนมาร์กด้วยกัน
บริการทางการแพทย์โปร่งใส
บริการแบบไม่เลือกปฏิบัติ บริการทางการแพทย์ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการกล่าวถึงความเป็นสังคมนิยมโดยวัฒนธรรมและมีวิถีที่แตกต่างจากประเทศไทยอย่างมาก
สวัสดิการด้านรักษาพยาบาลนั้นครอบคลุมทุกคนที่เป็นพลเมืองของเดนมาร์ก รวมถึงชาวต่างชาติที่ถือบัตรเทียบเท่าพลเมือง
หรือ resident
permit ด้วย
ในการรักษาพยาบาลระดับต้นจะใช้วิธีแพทย์ประจำหรือ
family
doctor ในการดูแลและส่งต่อ ส่วนการรักษาขั้นกลางถึงขึ้นสูง เช่น
กรณีคลอดบุตร ผ่าตัด เอกซเรย์ จะเกิดขึ้นที่โรงพยาบาล
ซึ่งเป็นหน้าที่ของแพทย์และบุคคลากรเฉพาะทาง อย่างไรก็ดีในการักษาพยาบาลทั้งสาทระดับนั้นจะไม่ต่างกัน
ในแง่ของการให้เวลาและความกระจ่างแก่คนไข้
ประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าได้พบกับตนเองคือการดูแลสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ไปจนถึงเข้ารับการผ่าตัดคลอดบุตร เนื่องจากการตั้งครรภ์ครั้งนี้ได้นำมาซึ่งประสบการณ์ที่ไม่อาจลืม
เริ่มตั้งแต่การตรวจพบการตั้งครรภ์พร้อมกับมีเลือดออกเนื่องจากเป็นเนื้องอกระยะเริ่มต้น ปัญหาเรื่องเม็ดเลือดแดงมีปริมาณต่ำเกินไปในระหว่างการตั้งครรภ์ซึ่งจะมีผลกระทบต่อทารกได้ การตกเลือดในสัปดาห์ที่ ๓๔ ระหว่างเดินเล่นที่สนามจนต้องเข้าโรงพยาบาลแบบฉุกเฉิน การเข้าผ่าตัดคลอดก่อนกำหนด และภาวะตัวเหลืองของลูก
ครั้งนั้นทั้งหมอประจำครอบครัว
หมอเฉพาะทาง และพยาบาลได้ดูแลข้าพเจ้าเป็นอย่างดี
ราวกับเป็นเพื่อนคนหนึ่งทีเดียว
พวกเขาได้ให้เวลาในการตรวจสอบอย่างละเอียดจนพบสาเหตุของปรากฏการณ์แต่ละครั้ง
อธิบายถึงแนวทางการปฏิบัติในระหว่างการตั้งครรภ์ บอกถึงข้อดีข้อเสียของการคลอดโดยธรรมชาติและการผ่าตัดคลอด
แม้ข้าพเจ้าจะมีจดหมายจากคุณหมอที่เมืองไทยว่าไม่สามารถคลอดเองได้
คุณหมอที่เดนมาร์กก็ยังพยายามให้ความหวังว่าเราอาจจะสามารถทำได้ จนตรวจพบแน่ชัดว่าไม่สามารถนั่นแหละจึงยอมจำนน
ในช่วงสัปดาห์ใกล้คลอด
คุณหมอที่เดนมาร์กจะนัดตรวจครั้งสุดท้าย
และได้มีการอธิบายรายละเอียดขั้นตอนต่างๆที่จะเกิดแก่ผู้เข้ารับบริการ เป็นต้นว่า
หากคลอดโดยธรรมชาติจะเป็นอย่างไร
หากต้องผ่าตัดอาจพบปัญหาอะไรบ้าง
ยาที่ใช้มีอะไรบ้าง จะเกิดผลข้างเคียงอย่างไร
มีทางเลือกอย่างอื่นหรือไม่
ใครสามารถเข้ามาในห้องผ่าตัดได้บ้าง
เมื่อลูกคลอดออกมาแล้วแม่และเด็กจะไปอยู่ที่ไหน ได้รับการดูแลอย่างไร ฯลฯ
และให้ผู้ใช้บริการซักถามจนเข้าใจอย่างดี รวมถึงพาดูสถานที่ด้วย กรณีชาวต่างชาติที่ไม่สามารถเข้าใจภาษาเดนมาร์กทางโรงพยาบาลจะหาล่ามให้ด้วย
ซึ่งความชัดเจนดังกล่าวถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้รับบริการซึ่งทำให้ผู้รับบริการคลายความกังวนในระดับหนึ่ง และถือเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่ต้องให้ความกระจ่าง
อย่างไรก็ดี
สิ่งที่บริการทางการแพทย์ของเดนมาร์กไม่สนใจคือ ระบบหมอประจำ
(ในกรณีของการเข้ารักษาในโรงพยาบาล) เพราะถือว่าแพทย์ทุกคนมีความสามารถเท่าเทียมกันและเป็นหน้าที่ที่แพทย์ทุกคนต้องให้บริการแบบไม่เลือกบริการ
ซึ่งเป็นคำตอบที่ได้รับเมื่อข้าพเจ้ามีคำถามไปว่าคุณหมอจะเป็นผู้ทำคลอดให้ข้าพเจ้าใช่ไหม
? และนี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของสังคมนิยมโดยวัฒนธรรมในองค์กร
เด็ก คนชรา คนพิการ
บุคคลพิเศษในสังคม นอกจากเรื่องการรักษาพยาบาลแล้ว
ขอเล่าไปถึงเรื่องเด็ก คนพิการและคนชราในเดนมาร์ก บุคคล ๓
ประเภทนี้เรียกได้ว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการดูแลอย่างดีมาก
ในสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งจัดรถเข็นนั่งคนชราและรถเข็นเด็กไว้บริการฟรี และยังลดราคาค่าเข้าชมสถานที่ด้วย
ครอบครัวที่มีเด็กจะได้รับเงินพิเศษจากรัฐประมาณเดือนละ ๗,๐๐๐ บาทต่อเด็ก ๑ คน
พ่อแม่ก็จะได้สิทธิในการลาเลี้ยงดูบุตรได้คนละ ๑ ปี หรือเลือกสิทธิได้ในเงื่อนไขที่กำหนด
โดยไม่เลือกว่าจะเป็นเด็กที่เป็นเชื้อชาติหรือสัญชาติเดนมาร์กหรือไม่ก็ตาม
ชาวเดนมาร์กจะละเอียดอ่อนมากกับความรู้สึกถึงความเป็นบุคคลคนหนึ่งที่เทียบเท่าคนทั่วไปของคนพิการ
เขาจะพยายามจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกมาให้คนพิการเพื่อทำให้เขาช่วยเหลือตนเองได้เสมือนเป็นสมาชิกปกติทั่วไปในสังคม
เช่นรถมอเตอร์บังคับมือสำหรับคนที่ไม่สามารถเดินได้ รถมอเตอร์บังคับด้วยปากสำหรับคนที่ไม่สามารถเดินและใช้มือได้ การออกแบบรถโดยสารประจำทางที่เอนลงได้เมื่อจอดช่วยให้เด็ก
คนชรา และแม่ที่ใช้รถเข็นเด็กขึ้นลงได้สะดวก
และยังสามารถปรับบันไดให้เป็นทางลาดสำหรับคนพิการรถนั่งเพื่อให้เดินทางคนเดียวได้ด้วย
ครั้งหนึ่งขณะที่ข้าพเจ้านั่งรถโดยสารสายหนึ่งในเมืองอัลบอร์ก (Aalborg )
มีคนชรานั่งคอยอยู่ที่ป้ายรถแต่คนขับจอดเลยป้ายไปนิดหน่อย
คนขับไม่ได้ถอยรถกลับไปรับ
แต่ลงไปจูงผู้โดยสารนั้นขึ้นมาส่งถึงที่นั่งอย่างปลอดภัยแล้วจึงออกเดินทางต่อ
พลังชุมชนเจ้าของพลังงานของประเทศ
อีกตัวอย่างหนึ่งของสังคมนิยมโดยวัฒนธรรมในรูปองค์กรที่ไม่เป็นทางการ เป็นเรื่องของการจัดตั้งระบบการบริหารกิจการไฟฟ้าขนาดย่อม
โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของเดนมาร์กเป็นโรงไฟฟ้าขนาดย่อมที่ใช้พลังงานลมและพลังงานจากชีวมวล
เนื่องจากการที่เดนมาร์กมีความพร้อมของทรัพยากรลมและเป็นประเทศเกษตรกรรม
โรงไฟฟ้าขนาดย่อมเหล่านี้มีผู้บริโภคเป็นผู้ถือหุ้น
และบริหารโดยกรรมการที่เลือกขึ้นมาจากพวกเขาเอง
และเนื่องจากโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ในหมู่บ้านซึ่งใกล้กับที่อยู่อาศัย
ดังนั้นเขาจะเลือกใช้เทคโนโลยีที่ง่ายในการดูแลและต้องเป็นเทคโนโลยีที่สะอาดและไม่สร้างปัญหาให้กับชุมชน
(ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ตรงข้ามกับบ้านเราโดยสิ้นเชิง)
ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดย่อมเหล่านี้คิดเป็นร้อยละ ๖๐
ของกำลังการผลิตทั้งหมดในประเทศเดนมาร์ก
และมีประชาชนชาวเดนมาร์กเป็นผู้ถือหุ้นถึงร้อยละ ๘๐ ของประชากร
น้ำ :
สิทธิมนุษยชน
การพัฒนาด้านเกษตรอินทรีย์
และการรักษาทรัพยากรน้ำ
ในเดนมาร์ก
เมื่อคุณเดินเข้าไปรับประทานอาหารในร้าน คุณสามารถขอน้ำเปล่าได้โดยไม่ต้องจ่ายเงิน
เพราะสำหรับประเทศเดนมาร์กแล้ว
น้ำได้รับการตีความว่าเป็นของที่จำเป็นสำหรับชีวิตและถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ควรจะได้รับ
เมื่อเป็นดังนั้น
รัฐบาลเดนมาร์กจึงต้องจัดหาน้ำที่มีทั้งคุณภาพและปริมาณเพียงพอกับความต้องการแก่ประชาชน
แต่เนื่องจากประเทศเดนมาร์กเป็นประเทศเล็กๆที่ล้อมรอบไปด้วยทะเล ทำให้ปริมาณน้ำผิวดินไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้น
น้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจึงมาจากน้ำใต้ดิน
ในอดีตน้ำใต้ดินของเดนมาร์กมีปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีการเกษตรและน้ำใช้จากครัวเรือนทั้งจากการซึมลงใต้ดินโดยตรง
และการไหลสู่แม่น้ำและซึมสู่ระบบน้ำใต้ดินอีกต่อหนึ่ง รัฐบาลเดนมาร์กและประชาชนจึงได้ร่วมมือกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เริ่มจากการลดเลิกใช้สารเคมีการเกษตรจนเป็นที่มาของการทำเกษตรอินทรีย์และการขายสินค้าอินทรีย์ซึ่งขยายตัวอย่างมากในเดนมาร์ก
พร้อมกับการวางระเบียบการปลูกสร้างบ้านโดยต้องไม่สร้างในแนวทางน้ำที่จะซึมลงสู่น้ำใต้ดิน เป็นต้น
เราคงนึกไม่ถึงใช่ไหมว่า แค่การคำนึงถึงความเท่าเทียมในการมีน้ำกินน้ำใช้ที่มีคุณภาพดีและเพียงพอ
จะเป็นที่มาของการแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับน้ำอีกมากมาย เช่น
น้ำสะอาดมีไม่เพียงพอจนต้องมีการผันน้ำ น้ำเน่า ฯลฯ และยังสามารถรักษาสิ่งแวดล้อมที่มากไปกว่าการรักษาทรัพยากรน้ำได้อีกด้วย
เช่น เรื่องสารพิษตกค้างในดิน ในอาหารและในสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เป็นต้น และนี่ก็เป็นผลพวงอันดีของความคิดแบบสังคมนิยมโดยวัฒนธรรมอีกอันหนึ่ง
นอกจากตัวอย่างที่กล่าวมาในข้างต้นแล้ว
ความเป็นสังคมนิยมโดยวัฒนธรรมยังมีให้พบเห็นในการปฏิบัติระหว่างกัน เช่น
ในการเล่นกีฬา ผู้ชนะจะต้องเป็นผู้ออกจากเกมการแข่งขัน
เพื่อให้ผู้อื่นที่เล่นเก่งน้อยกว่าได้มีโอกาสเล่นเพิ่มขึ้น, การจัดการสอบในระดับมหาวิทยาลัยซึ่งใช้วิธีเก็บคะแนนจากการทำรายงานกลุ่มบวกกับการสอบวัดผลความเข้าใจในเนื้อหาวิชาการทั้งในระดับกลุ่มและรายบุคคล(สอบปากเปล่า) เพื่อให้มีการคิดวิเคราะห์อย่างลึกและประยุกต์ใช้ในสิ่งที่เรียนมา
ขณะเดียวกันก็สร้างความสามัคคีในการทำงานและช่วยเหลือเกื้อกูลกันในเรื่องของความรู้ความเข้าใจ
ซึ่งเป็นการยกระดับความรู้ความเข้าใจในรายบุคคลให้ชัดเจนยิ่งขึ้น มากไปกว่านั้นในเรื่องการออกแบบอุปกรณ์การทำงานเพื่อให้ร่างกายไม่สูญเสียประสิทธิภาพการทำงาน
เช่น โต๊ะทำงานที่สามารถปรับระดับให้นั่งและยืนทำงานได้ในบางช่วงเวลา การให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ประชาชนในเรื่องงานที่ทำอยู่
(เช่น ทำอย่างไรให้พนักงานไม่มีปัญหาเรื่องโรคจากการทำงาน) และการทำเครื่องนับเหรียญสำหรับคนขับรถโดยสาร
ซึ่งสามตัวอย่างนี้เป็นการทำงานที่คิดถึงผู้อื่นมากกว่าแค่การจ่ายเงินเดือน หรือในกรณีของการเลือกตั้ง กฎหมายเดนมาร์กได้ให้สิทธิแก่ชาวต่างชาติที่ไม่ใช่สัญชาติเดนมาร์กแต่อาศัยอยู่ในประเทศเดนมาร์กอย่างน้อย
๓ ปีในการเลือกตั้งเพราะถือว่าผลการเลือกตั้งย่อมกระทบแก่เขาทั้งทางบวกและทางลบ เป็นต้น
จะเห็นว่าการยึดถือหรือการเป็นสังคมนิยมโดยวัฒนธรรมของชาวเดนมาร์กนั้นได้นำมาซึ่งความสุขหรือความพึงพอใจในชีวิตไม่น้อยไปกว่าการจัดสวัสดิการสังคมโดยรัฐเลย
จะเห็นว่าความสุขของชาวเดนมาร์กที่มหาวิทยาลัยเลสเตอร์และสหประชาชาติจัดให้ในอันดับหนึ่งของโลกนั้น
มิได้มาจากการมีสุขภาพดีที่มาจากความพอใจในชีวิตต่อการมีสวัสดิการที่ครอบคลุมแค่ด้านสุขภาพ
และการศึกษา ที่รัฐจัดให้แต่เพียงอย่างเดียว
หากแต่มีองค์ประกอบในทางสังคมด้านอื่นๆที่สร้างความสุข ความมั่นคง และความปลอดภัยที่แทรกอยู่ในวัฒนธรรม
แนวความคิดและวิถีชีวิตคนเดนมาร์กอย่างละเอียดอ่อนและกลมกลืนด้วยหรือเป็นสังคมนิยมโดยวัฒนธรรมโดยแท้
บทพิสูจน์สังคมแห่งความสุข
เมื่อกระแสทุนนิยมมาเคาะประตูบ้าน
ปัจจุบันแม้ว่าสวัสดิการสังคมโดยรัฐจะยังดำเนินอยู่
แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป แนวคิดของคนรุ่นใหม่ก็เปลี่ยนไปตามกระแสทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ที่ครอบคลุมและเข้าถึงทุกที่แบบไร้ขอบเขตบนโลกใบนี้มากขึ้น กระแสทุนนิยมแบบเสรีได้สร้างความมั่งคั่งให้กับบุคคลบางคนจนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก
ไม่เว้นแม้ในสังคมไทย และแม้ว่าชาวเดนมาร์กเต็มใจยอมจ่ายภาษีในอัตราสูงมากเพื่อสวัสดิการสังคมที่คุ้มครองตั้งแต่เกิดจนตาย
เพราะยังฝังใจกับช่วงเวลายากลำบากก่อนมีระบบประกันสังคม
แต่คนรุ่นใหม่อาจจะไม่คุ้นเคยกับความกลัวเรื่องความไม่มั่นคงในชีวิตและเริ่มมีความรู้สึกทางลบในการดำรงไว้ซึ่งรัฐสวัสดิการในเดนมาร์ก
ระบบสหกรณ์บางประเภทก็เผชิญกับคำถามในลักษณะเดียวกัน
ดังเช่นสหกรณ์ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดย่อมซึ่งขายไฟฟ้าและความร้อนให้กับผู้บริโภคในชุมชนที่ผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก
หรือกล่าวได้ว่าเป็นสหกรณ์ของผู้ใช้ ซึ่งสหกรณ์นี้เข้าข่ายธุรกิจแบบผูกขาด
(แต่ชาวเดนมาร์กเองก็เต็มใจ) สหกรณ์ลักษณะนี้จะต้องเผชิญกับภาวะกดดันจากรัฐบาลซึ่งมีแนวคิดแบบเสรีนิยมในประเทศเองซึ่งถูกกดดันมาอีกทอดหนึ่งจากการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนในสหภาพยุโรป
เพื่อให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่และกลุ่มทุนข้ามชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ หากต้องมีการเปิดเสรีอย่างจริงจัง คุณลองคิดดูซิว่าความสุขของชาวเดนมาร์กถึงร้อยละ
๘๐ ของประเทศที่มีส่วนเป็นเจ้าของธุรกิจสหกรณ์โรงไฟฟ้าขนาดย่อมนี้จะคงอยู่ต่อไปหรือไม่
อย่างไรก็ตาม
ภาวะกดดันดังกล่าวก็ได้นำมาซึ่งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเช่นกัน การเปิดเสรีฯได้กระตุ้นให้ภาคประชาชนซึ่งมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของและนักวิชาการต่างๆ
หันมาวิจัยและทดลองทั้งด้านบริหารจัดการและด้านเทคนิคเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สหกรณ์ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดย่อมเหล่านี้จะต้านทานกระแสทุนนิยมแบบเสรีได้อีกนานขนาดไหน
และจะปรับตัวไปในรูปแบบใด จะกระทบกับความสุขของชาวเดนมาร์กหรือไม่
คงต้องติดตามกันต่อไป
สำหรับองค์ประกอบทางสังคมอื่นๆที่สอดแทรกอยู่ในวัฒนธรรมซึ่งเติมเต็มความสุขในชีวิตก็ถูกท้าทายเช่นกัน ชาวเดนมาร์กหลายคนเริ่มมีความคิดที่เปลี่ยนไปตามกระแสโลกาภิวัตน์
หลายคนเร่งส่งลูกเข้าโรงเรียนชั้นประถมเร็วขึ้น ๑-๒ ปี ตามกระแสชาวเอเชีย
หลายคนเริ่มไม่เห็นด้วยกับการให้สวัสดิการสังคมแก่ชาวต่างชาติเทียบเท่าชาวเดนมาร์ก
เพราะคิดว่านั่นคือสิ่งที่พวกเขาลงทุนจ่ายไป
โดยไม่ได้คิดถึงปัญหาสังคมที่จะตามมา
หลายคนปลุกระดมความคิดเรื่องเหยียดผิว
และแสดงออกถึงความไม่ยินดีในการให้และขายบริการแก่ชาวต่างชาติ (ต่างสีผิว) เป็นต้น
เมื่อความสุขความพอใจในชีวิตของชาวเดนมาร์กทั้งจากสวัสดิการโดยรัฐ
จากองค์กรที่พวกเขาสร้าง
และจากความเป็นสังคมนิยมโดยวัฒนธรรมกำลังถูกท้าทายทั้งจากภายนอกและจากความคิดของพวกเขาเอง
ชาวเดนมาร์กจะหวั่นไหวหรือไม่ และจะหาทางออกอย่างไร
ประเทศเดนมาร์กจะคงความเป็นประเทศที่ประชาชนมีความสุขที่สุดในโลกได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ควรจับตาดูกันต่อไป
[๑] UN
เรียกการศึกษานี้ว่า World Happiness โดยมีมาตรวัดสำคัญ ๖
ประการคือ รายได้ประชาชาติต่อหัว ,
อายุขัยหรือจำนวนปีที่คาดหวังที่จะมีชีวิตอยู่อย่างสุขภาพดี ,
การมีบุคคลที่สามารถพึ่งพิงกันได้ , การมีอิสระในการเลือกวิถีดำเนินชีวิต ,
ชีวิตที่ดำเนินไปปราศจากภาวะการทุจริตฉ้อโกง
และความเอื้ออารีต่อกันของประชากรภายในประเทศ
[๒]บางครั้งถูกเรียกว่า
Nordic model หรือ Social Democratic model หรือ
Institutional model
[๓] หลักสำคัญของระบบสหกรณ์ในเดนมาร์ก
๖ ประการคือ ๑)การเป็นสมาชิกเป็นไปโดยเปิดกว้างและสมัครใจ ๒)ใช้หลักประชาธิปไตยในการออกเสียงคือ
๑ คน ๑ เสียง ๓)มีการจำกัดการถือหุ้น ๔)มีการแบ่งปันกำไรส่วนเกิน
(surplus) อย่างเท่าเทียมโดยตั้งอยู่บนฐานของการทำธุรกิจร่วมกับสหกรณ์
๕)ผลประโยชน์ส่วนหนึ่งจะต้องจัดสรรไว้เพื่อการศึกษา ๖)สหกรณ์ต้องประสานระหว่างสหกรณ์ด้วยกัน
[I]Ardrian White, ๒๐๐๖. The World Map of Happiness. The University of Leicester . (http://www.le.ac.uk/pc/aw๕๗/world/sample.html
ค้นข้อมูลวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔9)
[III]จงจิต
อรรถยุกติ (บรรณาธิการ), ๒๕๔๕ ต่างโลกกว้าง สแกนดิเนเวีย เดนมาร์ก นอร์เวย์
สวีเดน ฟินแลนด์ บริษัทสำนักพิมพ์หน้าต่างสู่โลกกว้าง จำกัด,
กรุงเทพฯ.
[IV]Lorenz Rerup and
Niels Finn Christiansen, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์. Denmark-History-The
Developing Welfare State. Udenrigsministeriet –Royal Danish Ministry of
Foreign Affairs (http://www.um.dk/publikationer/um/English/Denmark/kap๖/๖-๑๗.asp ค้นข้อมูลวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๙).
[V] Niel Ploug ,Gyldendal Leksikon,ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์. Scandinavian Welfare Model. (http://www.denmark.dk/portal/page?_pageid=๓๗๔,๕๑๘๘๔๐&_dad_schema=PORTAL&p_pageurl=http%๓. ค้นข้อมูลวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๙).
[VI] Gunnar Lind Haase
Svendsen and Gert Tinggaard Svendsen, ๒๐๐๔. The
Creation and Destruction of Social Capital : Entrepreneurship, Co-operative
Movements and Institutions. Edward Elgar Publishing Limited, UK .